ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล สังคมสื่อสารมวลชนอยู่กันแบบญาติ แม้การแข่งขันทางธุรกิจจะดุเดือด ตอนที่สุณิศาเข้าทำงานเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ยังเป็นสื่อที่ “รุ่ง” มาก ๆ ในทางธุรกิจ แต่โทรทัศน์ก็กำลัง “พุ่ง” ตามขึ้นมาติด ๆ และต่อมาอีกไม่กี่ปีโทรทัศน์ก็ครองเวทีของสื่อเหนือกว่าหนังสือพิมพ์ ด้วยประสิทธิภาพในทางธุรกิจที่โทรทัศน์ทำได้ดีกว่า ทั้งในการโฆษณา การเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ และการสร้างความบันเทิงเริงรมย์ รวมถึงที่โทรทัศน์ได้เจาะตลาดล่าง ที่หมายถึงคนยากคนจนและคนในต่างจังหวัดด้วย “ละคร” ที่มีรสชาติหลากหลาย จนหนังสือพิมพ์ต้องเอาบทละครมาลงล่วงหน้าให้ผู้คนได้ติดตามอ่าน กลายเป็นการแข่งขันระหว่าง 2 สื่อที่ “ไล่บี้” กันอย่างดุเดือด แต่ที่สุดหนังสือพิมพ์ก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แม้ว่าในปัจจุบันนี้ “สื่อใหม่” ในระบบดิจิทัลและการสื่อสารไร้สาย ได้กลายมาเป็นสื่อหลักแทนที่สื่อทั้งสองไปเรียบร้อย แต่สื่อทั้งสองนี้ก็ยังไม่ยอมแพ้ โดยได้ปรับตัวนำเอาสื่อสมัยใหม่เหล่านั้นมาใช้ในการเผยแพร่ร่วมด้วย ซึ่งก็ต้องแข่งขันกัน “เจาะใจ” ผู้เสพสื่อ ที่มีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น ผมถามปัญหาเรื่องนี้กับสุณิศาในวันหนึ่งที่เธอแวะมาคุยกับผมที่มหาวิทยาลัย ตอนนั้นเป็นช่วงกลางปี 2551 ผมเพิ่งพ้นตำแหน่งจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้มีเพื่อนรุ่นพี่มาชวนไปทำรายการประจำเป็นผู้วิเคราะห์ข่าวทางโทรทัศน์ดาวเทียมช่องหนึ่ง เผอิญสุณิศาก็ได้ชมรายการนี้อยู่บ้าง เลยถามผมขึ้นก่อนว่า ผมรู้ไหมว่าใครเป็น “นายทุน” ของทีวีช่องดังกล่าว ผมตอบว่าพอรู้อยู่บ้าง ผมจึงถามกลับว่าถามเรื่องนายทุนทำไม สุณิศาบอกว่ามันเกี่ยวกับความอยู่รอดของสื่อช่องนั้น ๆ เพราะสื่อโทรทัศน์มีการแข่งขันกันสูงมาก ยิ่งพอมีสื่อดาวเทียมก็ยิ่งแข่งขันกันอย่างดุเดือด ใครมีสายป่านยาว หรือ “ทุนหนา” ก็จะยิ่งอยู่ได้นาน แต่นั่นแหละทุนที่มีก็มีวันหมดไปได้ เกิดวันข้างหน้ามีสื่ออื่น ๆ ขึ้นมาเป็นคู่แข่ง ก็จะไปไม่รอดอีก เหมือนตอนที่หนังสือพิมพ์ต้องพ่ายแพ้แก่โทรทัศน์กระนั้น (ถึงตรงนี้เหมือนกับว่าสุณิศามองเห็นการเข้ามาของสื่อดิจิทัลที่ตอนนั้นยังเพิ่งจะเริ่ม “ตั้งไข่” แต่ต่อมาอีกไม่นานก็เข้ามาแทนที่สื่อเก่าทั้งหลายในเวลาอันรวดเร็ว) ผมถามสุณิศาด้วยความห่วงใยว่า แล้วหนังสือพิมพ์ที่สุณิศาทำอยู่จะเป็นอะไรไหม สุณิศาตอบว่าก็กำลังแย่อยู่เหมือนกัน แต่เห็นว่าเจ้าของกำลังหาทางเข้าไปทำสื่อโทรทัศน์ร่วมด้วย และทราบว่าในอนาคตกำลังจะมีการประมูลคลื่นความถี่ของโทรทัศน์ดิจิทัล เจ้าของเขาก็คิดจะเข้าไปปะมูลแข่งอยู่ด้วยเหมือนกัน แต่คงอีกสักระยะ ตอนนี้นักข่าวและคนที่เกี่ยวข้องก็ต้องปรับตัว ใครใช้สื่อสมัยใหม่ไม่เป็นก็ต้องเรียนรู้เสีย และนี่เธอก็เริ่มเล่นเฟซ (ตอนนั้นไลน์เพิ่งเกิดแต่เฟซบุ๊กมีมาก่อนหลายปีแล้ว และยังเป็นยุคที่ 2 จีเพิ่งเริ่ม) และคงจะต้องเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือใหม่ เพื่อให้มีความสามารถพอสำหรับการสื่อสารไร้สายสมัยใหม่ สุณิศาบอกว่า แม้โครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสารสาธารณะจะเปลี่ยนแปลงไป จนทำให้ธุรกิจสื่อสารมวลชนต้องปรับตัวตามไปด้วย แต่ผู้คนในวงการสื่อก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ยังคงทำงานกันแบบ “ลูกพี่ลูกน้อง” คือมีการดูแลกันและกันเหมือนเป็นญาติพี่น้อง อาชีพสื่อมวลชนมันเหมือนเป็นมนต์ขลัง ที่ทุกคนที่เป็นสื่อมักจะคิดอยู่เสมอว่า นี่คือโลกของคนที่ทำงานด้วยอุดมการณ์ ด้วยเสรีภาพ ผู้ต่อสู้เพื่อมวลชน และสร้างสรรค์โลกใหม่ ทุกคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน แม้จะต่างสถาบัน ต่างค่าย ต่างนายทุน ก็ร่วมมือกันและอุ้มชูอุปถัมภ์กัน นักข่าวคนใดที่ “อมข่าว” หรือเห็นแก่ตัว ไม่ยอมแลกเปลี่ยนข่าวใด ๆ ถือว่าเป็นพวก “กาฝาก - แกะดำ” และเป็นที่รังเกียจของผู้คนในอาชีพสื่อด้วยกันนั้นเป็นอย่างยิ่ง ผมถามสุณิศาว่า ถ้าเผื่อวันหนึ่งไม่มีหนังสือพิมพ์ให้ทำ แล้วเธอจะทำอะไร สุณิศานิ่งอยู่ไม่นานนัก เหมือนว่ามีคำตอบไว้บ้างแล้ว เธอตอบว่า “หนูคิดอยู่เสมอว่า คนเราต้องทำอะไรได้หลาย ๆ อย่าง พ่อกับแม่ซื้อที่ไว้ที่สุพรรณฯ 7-8 ไร่ ตอนนี้ทั้งสองคนเกษียณแล้ว หนูคงไปช่วยแกทำสวน ก่อนที่คิดจะทำอะไรต่อไป บางทีก็ยังอาจจะเกี่ยวข้องกับพวกสื่อนี่แหละ เพราะมีพรรคพวกชวนไว้ หรืออาจจะไปเป็นเอ็นจีโอ ออกตะลอนไปตามป่าตามเขา ผจญภัยไปเรื่อย ๆ และถ้าโชคดีก็อาจจะมีแฟนและแต่งงาน หาอะไรทำกับแฟนต่อไป” หลังจากนั้นผมได้เจอกับสุณิศาอีก 2-3 ครั้ง จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ที่สุณิศาทำอยู่เลิกกิจการไปในปลายปีนั้น แล้วผมก็ไม่ได้ข่าวของเธออีกเลย ผมพยายามโทรหาเธอ แต่เหมือนว่าเธอเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ จึงโทรหาเพื่อนของเธอบางคน ก็ได้คำตอบว่าเธอกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด ผมก็เลยเลิกล้มความตั้งใจ เพราะไม่ได้มีธุระสำคัญอะไรที่จะติดต่อ เพียงแต่เป็นห่วงว่าเธอจะตกระกำลำบาก แต่ก็ทราบจากเพื่อนของเธออีกเช่นกันว่าเธอไม่ได้ลำบากอะไร ดูเหมือนว่าจะใช้ชีวิตชาวสวนอยู่อย่างมีความสุข ถ้าอยากพบเธอก็ให้เข้าไปคุยในเฟซบุ๊ก เหมือนว่าเธอจะยังเขียนสกู๊ปบางเรื่องอยู่เป็นประจำด้วย ในปลายปี 2557 ผมได้ไปร่วมปราศรัยบนเวทีของม็อบ กปปส. มีอยู่คืนหนึ่งพอลงจากเวที ผมก็เดินไปนั่งฟังอยู่กับผู้คนข้างล่าง ลองกวาดตามองไปรอบ ๆ คลับคล้ายคลับคลาว่าได้เห็นสุณิศามานั่งฟังอยู่ในกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมด้วย แต่พอเดินเข้าไปหาเธอก็หายไปในความมืด ผมจึงลองให้เพื่อนที่มหาวิทยาลัยสอนเรื่องการเล่นเฟซบุ๊ก พอทำเป็นแล้วก็เข้าไปในหน้าเฟซของสุณิศา อ่านโพสต์และกดไลค์ บางทีก็มีคอมเมนต์เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เธอก็ไม่ได้ติดต่อกลับมา จนวันหนึ่งตอนกลางปี 2559 ที่ผมในฐานะรักษาการรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่นั่นจึงได้เจอกับสุณิศา ที่มาร่วมประชุมด้วยเช่นกัน ผมดีใจมาก สุณิศาเองก็เช่นกัน เธอบอกว่าพอหนังสือพิมพ์ที่เธอเคยทำปิดกิจการ เธอก็ไปช่วยเพื่อนทำสื่อโทรทัศน์อยู่พักหนึ่ง แต่พอทำได้สัก 2-3 เดือนก็รู้ว่าตัวเธอเองไม่เหมาะกับการทำสื่อแบบนั้น เลยกลับไปหาพ่อแม่ที่สุพรรณฯ กะว่าจะ “พักเหนื่อย” สักอาทิตย์สองอาทิตย์แล้วค่อยหางานใหม่ทำ แต่พออยู่ไปก็เพลินอยู่เป็นปี กระทั่งเจอกับปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลที่นั่น และได้แต่งงานกันในปีที่มีรัฐประหารนั่นแหละ ผมบอกว่าเหมือนว่าผมจะได้เห็นเธอมาร่วมชุมนุมด้วย เธอบอกว่าใช่แล้ว แต่เธอก็รีบกลับไปอยู่ดึกไม่ได้เพราะเป็นห่วงพ่อแม่ และไม่ได้บอกสามีว่ามาม็อบ เพียงแต่บอกว่าจะมาหาเพื่อนแถววงเวียนใหญ่ ตอนนี้เธอได้ทำงานที่เอ็นจีโออยู่ด้วย เป็นเรื่องของการต่อสู้ด้านความยุติธรรมและต่อต้านการทุจริต จึงได้มาประชุมกับ ป.ป.ช.ในวันนี้ และได้มาเจอผมที่นี่ ตอนที่เราร่ำลากัน ผมมองตามเธอไปเหมือนกับอยากรู้ว่า เธอจะทำอะไรกับชีวิตของเธอต่อไป