ชป.6 ถกแผนรับมือร่วม ชป.กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลาง-ตอนล่าง พร้อมรับน้ำหลากลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูล รับหน้าฝน "ศักดิ์ศิริ" ย้ำชัดจัดการจราจรทางน้ำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง คาดปีนี้ฝนเยอะกำชับทุกพื้นที่วางแนวทางให้การช่วยเหลือประชาชนหากเกิดอุทกภัยอย่างรัดกุม เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 6 พ.ค.2564 ที่สำนักงานชลประทานที่ 6 จ.ขอนแก่น นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วม สำนักงานชลประทานที่ 6 รือ ชป.6 ร่วมกับ ชป.7 และ ชป.8 ตามมาตรการและแนวทางการบริหารจัดการน้ำและรับมือน้ำหลากฤดูฝนปีนี้ ผ่านระบบ วีดีโอ คอนเฟเรนท์ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอสำหรับใช้ในฤดูฝนนี้และเก็บกักน้ำไวใช้ในฤดูแล้ง รวมถึงเป็นการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ น้ำหลากในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้สถานการณ์น้ำในพื้นที่รับผิดชอบของ ชป.6 ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย ชัยภูมิ , ขอนแก่น , มหาสารคาม , กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก รวมทั้งสิ้น 1,109 แห่ง ความจุเก็บกักรวม 5,323 ล้าน ลบ.ม. "ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 1,779 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุเก็บกักรวมกัน จะเห็นได้ว่าพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบนและตอนกลาง ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกกว่า 3,544 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณร้อยละ 67 ของปริมาณความจุรวม ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง และลุ่มน้ำมูล ในความรับผิดชอบของ ชป. 7และ ชป.8ปัจจุบันสถานการณ์น้ำภาพรวมมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยังมีพื้นที่ที่สามารถรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝนนี้ได้อีกมาก" นายศักดิ์ศิริ กล่าวต่ออีกว่า การเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปีนี้นั้น ขณะนี้ได้ตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนทั้งหมด 111 แห่งและอาคารชลประทาน 124 แห่ง ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือจำนวน 257 รายการ และกระสอบทรายกว่า 12,000 ใบ ประจำ จุดเสี่ยง ที่จะต้องเข้าช่วยเหลือได้ทันที ขณะเดียวกันยังคงเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ในทุกพื้นที่เพื่อให้การจัดการจราจรทางน้ำนั้นเป็นไปตามแนวทางที่กำหรด ที่สำคัญได้นำเทคโนโลยีระบบการแจ้งเตือนภัยสถานการณ์น้ำ โดยเครือข่ายของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) ของ ชป.6 มาใช้ในการติดตามแผนการบริหารจัดการน้ำ การประสานงาน การประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน และการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มศักยภาพ