ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “เราต่างมีความปรารถนาในชีวิตด้วยแรงมุ่งหวังอันไม่รู้จบรู้สิ้น หลายๆ ขณะเหมือนหนึ่งว่าเราได้หลงลืมจิตวิญญาณแห่งความเป็นชีวิตไป...ชีวิตที่หมายถึงความอ่อนโยนและบริสุทธิ์ที่ทำให้เราสามารถเสริมส่งโลกให้งดงามและมีคุณค่า ...โดยเนื้อแท้ชีวิตคือส่วนผสานของกายและใจอันลึกซึ้งบนพื้นฐานแห่งความจริงที่รองรับไว้ด้วยอารมณ์และความรู้สึกต่างๆนานา มันคือผลรวมแห่งการดำรงอยู่อันถาวรระหว่างความเป็นสัญชาตญาณที่แฝงฝังอยู่ในกาย กับปัญญาญาณแห่งองค์ความรู้ที่ปลูกสร้างขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ภายในหัวใจแห่งการยอมรับที่จะรับฟังอันสุกสว่าง...เหตุนี้ชีวิตจึงมีอาณาเขตแห่งความเข้าใจอันกว้างขวางที่มวลมนุษย์ทุกผู้ทุกคนจักต้องพยายามเรียนรู้และมองให้เห็นถึงรายละเอียดแห่งบทสะท้อนที่จะทำให้ตัวตนของตนได้มีส่วนร่วมในโอกาสแห่งการใช้ชีวิตได้อย่างเปิดกว้างขึ้น...มีความประจักษ์แจ้งเพิ่มมากยิ่งขึ้น และนั่นคือกระบวนการแห่งการหยั่งเห็นชีวิตมนุษย์ด้วยมุมมองที่มีผลกระทบอย่างยิ่ง...ในที่สุด” นัยแห่งความคิดอันเกี่ยวเนื่องกับชีวิตเบื้องต้น คือผลลัพธ์แห่งการรับรู้ที่ได้รับผ่าน... “งานเขียนแห่งปัญญาญาณเพื่อการค้นพบตัวตนอย่างแท้จริงและภารกิจของมนุษย์เราในชีวิตนี้” โดย... “ปาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์” ...ผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ทางด้านการศึกษา จิตวิญญาณ ภาวะผู้นำ ชุมชนและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม..ที่สื่อผ่านหนังสืออันงดงามยิ่งของเขา... “เสียงเพรียกแห่งชีวิต” (LET YOUR LIFE SPEAK) หนังสือที่ได้รับการยกย่องอย่างท่วมท้นจากผู้อ่านและผู้สัมผัสในบริบทที่ล้ำลึกไปในทำนองเดียวกันว่า...มันเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิตที่ถ่ายทอดผ่านอารมณ์ความรู้สึกที่เด่นชัด สั่นสะเทือนข้างในได้อย่างลึกซึ้ง จนไม่อาจสลัดคำถามซึ่งผุดขึ้นมาและค้างอยู่ในหัวออกไปได้...นั่นหมายถึงว่าพลังของหนังสือเล่มนี้ได้ทะลุทะลวงเข้าไปถึงจิตวิญญาณ มันสามารถกระตุ้นให้ทุกๆ คนต้องเข้าไปสำรวจดูโลกภายในของความเป็นตัวตน..รวมทั้งนัยแห่งอารมณ์ความรู้สึกที่เด่นชัดและถี่ถ้วนมากขึ้น...อย่างไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงได้...นั้นถือเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดอันเป็นความประทับใจต่อบทเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้..ที่สามารถนำเอาหัวใจและจิตวิญญาณคืนสู่ชีวิตอันเป็นปัจเจก รวมทั้ง องค์กร และ สังคมได้...... “เมื่อเราใช้ชีวิตจากตัวตนที่แท้จริง ไม่เพียงแต่เราจะพบกับความสำเร็จ...พลังแฝงเร้น และความหมายลึกล้ำ หากแต่ยังจะพบกับหนทางเฉพาะตัวในการมีชีวิตร่วมกับผู้อื่น และพบวิถีทางอันจริงแท้ ที่จะตอบสนองความต้องการในขั้นลึกของโลกใบนี้...เมื่อนั้น...เราจะเป็นของขวัญที่แท้จริงแก่ทั้งตัวเอง ผู้คนรอบข้างและสังคม...” “ปาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์” ...สร้างผลงานของเขา..ด้วยมิติของความสุขสงบอันล้ำลึกที่มีผลต่อความตราตรึงในความรู้สึกที่ทอดไกลออกไป...มันถูกเปรียบเทียบให้เป็นดั่งกระแสธารที่ไหลลงมาจากที่สูง มีความใสกระจ่าง เปี่ยมด้วยพลังแห่งชีวิต ไม่มีสิ่งปนเปื้อน...มีมนต์สะกดให้เราต้องคล้อยตาม และให้ความเข้าใจได้อย่างเหลือเชื่อ... “เรื่องราวจำนวนมากในหนังสือเล่มนี้...มีทีที่มาและได้รับแรงบันดาลใจมาจากสมาชิกของครอบครัว..ผมไม่ได้บรรยายรายละเอียดในที่นี้เพราะเรื่องราวเหล่านั้นเป็นของพวกเขาโดยเฉพาะ...ที่ผมสามารถเล่าเรื่องได้ดีมีแต่เรื่องของตนเองเท่านั้น ครอบครัวนับเป็นส่วนสำคัญในการแสวงหาของผม และผมก็คิดถึง และขอบคุณพวกเขาอยู่เสมอ” “พาล์มเมอร์”...แบ่งสาระเนื้อหาแห่งหนังสือของเขาออกเป็น 6 บทตอน... อันประกอบด้วย...ฟังเสียงของชีวิต เป็นตัวของตัวเอง เมื่อหนทางปิดตาย คืนอันมืดมิด ภาวะผู้นำจากภายใน และฤดูกาลของชีวิต…โดยแต่ละบทตอนล้วนมีที่มาที่ไปอันน่าสนใจรับรู้.. ...บทที่ 1... เป็นบทที่เขียนขึ้นมาใหม่โดยการเชื่อมโยงเอาภารกิจแห่งชีวิตที่มีส่วนสัมพันธ์กับการมีชีวิตที่ดีกว่าเข้าด้วยกันจนกลายมาเป็น “ฟังเสียงของชีวิต”... “บางครั้งแม่น้ำที่เป็นธารน้ำแข็งได้ถามผมถึงความผิดพลาดเมื่อในอดีต ถามผมว่าสิ่งต่างๆ ที่ได้กระทำไปนั้นเป็นชีวิตของตนเองใช่ไหม ภาพของคนอื่นค่อยๆ ลอยผ่านเข้ามาในความคิด บ้างก็ปลอบประโลม บ้างก็ตำหนิ ถามว่าผมได้อะไรจากความรัก...หรือความเกลียดชังของพวกเราบ้าง ผมจะตั้งใจฟังในสิ่งที่คุณพูด คุณกับผมอาจหันหน้าและมองไปในสิ่งที่เฝ้าคอย เรารู้ว่ากระแสน้ำซ่อนตัวอยู่ภายใต้ผืนน้ำแข็ง มันไหลมาจากที่ห่างออกไปหลายไมล์ และมุ่งสู่สถานที่ไกลโพ้น แต่แม่น้ำยังคงคงสงบนิ่งอยู่เบื้องหน้าเรา สิ่งที่แม่น้ำพูดคือคำตอบของผม” กวีนิพนธ์ของ “วิลเลียม สแตฟฟอร์ด” (WILLIAM STAFFORD) ในบทที่มีชื่อว่า “ถามฉัน” (ASK ME) ...คือที่มาแห่งแรงบันดาลใจในปฐมบทของหนังสือเล่มนี้... “พาล์มเมอร์” ได้อ้างถึงวรรคตอนอันเป็นคำถามที่ถามถึงความเป็นตัวตนของชีวิตที่ว่า... “ถามผมว่าสิ่งต่างๆ ที่ได้กระทำไปนั้นเป็นชีวิตของตนเองใช่ไหม” ...โดยเขาได้แสดงทัศนะในเชิงสาระเพื่ออธิบายถึง “การฟังเสียงแห่งชีวิต” เอาไว้ว่า... “คำกล่าวนี้บางคนอาจรู้สึกว่าช่างไร้สาระ เป็นเพียงถ้อยคำที่บทกวีพาไป ปราศจากความหมายทั้งภาษาและตรรกะ แน่นอนว่าสิ่งที่เราได้ทำไปนั้นคือชีวิตของเรา หาไม่แล้วเราจะไปเปรียบความเป็นตนเองได้กับอะไรอีก แต่สำหรับผม ถ้อยคำในบทกวีนี้ ช่างตรงกับสิ่งที่อยู่ลึกภายในใจ ช่วยให้รำลึกถึงบางห้วงเวลา ให้มองเห็นอย่างชัดเจนว่า...การดำเนินชีวิตในเวลานั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่ความจริงแท้ในตัวผมที่ต้องการให้เป็น..บางครั้งผมสามารถมองเห็นชีวิตอันแท้จริงได้รางๆ เหมือนกับกระแสน้ำซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนน้ำแข็ง และด้วยเหตุผลเดียวกับความนัยของบทกวีนี้...ทำให้ผมถามตนเองว่าผมเกิดมาเพื่อทำสิ่งใด...และผมควรดำเนินชีวิตอย่างไร?” ..พาล์มเมอร์..เริ่มถามถึงการใช้ชีวิตอย่างจริงจังในวัยสามสิบปีต้นๆ...ซึ่งชีวิตของเขากำลังดำเนินไปด้วยดี นอกเสียจากว่าจิตวิญญาณของเขา ณ ขณะนั้นได้ถูกผลักให้เก็บซ่อนเอาไว้ในส่วนที่อยู่ข้างในสุด และผลของการแสวงหาชีวิตที่มีความหมายมากกว่าเพียงการสะสมทรัพย์สมบัติ อำนาจ ชัยชนะในการแข่งขัน ตลอดจนการมีอาชีพการงานที่มั่นคง ทำให้ตัวเขาได้เริ่มตระหนักว่าอาจเป็นไปได้ที่คนเราต่างกำลังใช้ชีวิตในแบบที่ผิดแปลกไปจากชีวิตที่แท้จริงของตนเอง “พาล์มเมอร์”...ได้พบกับคำสอนที่ว่า “ให้ชีวิตของท่านพูด (LET YOUR LIFE SPEAK)” ซึ่งคำพูดประโยคนี้ทำให้เขามีความหวังและคิดว่าตนเองตนเองเข้าใจคำสอนของความหมายนี้ว่าหมายถึง “ให้ความจริงและคุณค่าอันสูงสุดส่องนำทาง... นำบรรทัดฐานอันสูงส่งมาใช้ในทุกสิ่งที่เรากระทำ” เขาได้อ้างถึงทัศนคติในวัยหนุ่มของเขาว่า...เขามีวีรบุรุษ วีรสตรี ในใจหลายคน ผู้ซึ่งแต่ละคนดูเหมือนว่าได้ใช้ชีวิตเช่นเดียวกับคำสอนนี้ ความคิดดังกล่าวนี้เองที่ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจอันแรงกล้าให้เขาได้ดำเนินชีวิตตามแบบบุคคลเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง มหาตมะ คานธี หรือ โดโรธี เดย์ ผู้อุทิศชีวิตเพื่อคุณค่าอันสูงส่ง “ดังนั้น ผมจึงมุ่งหน้าไปตามความคิดที่ว่า...จะต้องค้นพบหนทางและประสบความสำเร็จกับแนวทางเหล่านั้น ทว่าผลลัพธ์ที่ได้ส่วนใหญ่มักเป็นที่น่าขบขันมากกว่าจะน่าชื่นชม และบางครั้งผลที่ได้ก็ดูจะผิดธรรมชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นมีแต่ชีวิตปลอมๆ เป็นแต่เพียงความบิดเบือนในตัวตนของผม เพราะมันเป็นผลมาจากการใช้ชีวิตที่ต้องอิงอยู่กับปัจจัยภายนอก ไม่ใช่ชีวิตที่งอกงามออกมาจากภายใน...” ในบทตอนที่สอง.. “เป็นตัวของตัวเอง”...เป็นเรื่องราวสะท้อนผ่านแนวคิดของภารกิจแห่งชีวิต (VOCATION)... คำว่า “VOCATION” นี้มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน...มีความหมายเดียวกับคำว่า “VOICE” หรือ “เสียง” ...แท้จริงภารกิจแห่งชีวิตไม่ได้หมายถึงเป้าประสงค์ที่คนเราต้องการบรรลุ หากหมายถึงเสียงเพรียกที่เราสามารถได้ยิน...ก่อนที่จะบอกว่าชีวิตของเราต้องการทำอะไรกับมัน.ภารกิจแห่งชีวิตนั้น ไม่ได้มาจากความมุ่งมั่นทุ่มเท หากมาจากการรับฟัง... “ผมต้องฟังเสียงจากชีวิตของตนเองและพยายามเข้าใจความหมายที่แท้จริงของเสียงนั้น หาไม่แล้วชีวิตผมคงไม่อาจเป็นตัวแทนของความจริงแท้ใดๆ ในโลกนี้ได้เลย ไม่ว่าผมจะมุ่งมั่นตั้งใจมากสักเพียงใดก็ตาม...ก่อนที่จะบอกว่าผมเป็นใครผมต้องฟังว่ามีความจริงแท้และคุณค่าของความดีงามใดที่อยู่ในตัวของผม ...ไม่มีมาตรฐานใดที่จะบอกได้ว่า..ผมต้องมีชีวิตอย่างไร นอกเสียจากสิ่งที่ผมไม่อาจฝ่าฝืนได้...นั่นคือชีวิตของผมเอง”... ในบทตอนที่สาม “เมื่อหนทางปิดตาย” พาล์มเมอร์ได้เน้นย้ำถึงประเด็นที่ว่า...เมื่อหนทางปิดตายต่อหน้าเรา มันยากที่จะไม่คิดว่ามีอะไรบางอย่างผิดพลาด และหากเขาฉลาดกว่านี้หรือแกร่งกว่านี้ประตูคงไม่ปิดใส่หน้า... “ดังนั้นหากผมเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่า ผมอาจจะผ่านประตูนี้เข้าไปได้..แต่ความคิดเช่นนั้นแฝงความอันตรายเอาไว้ เมื่อผมไม่ยอมรับการชี้นำจากทางที่ปิดลง ซึ่งก็เท่ากับผมกำลังปฏิเสธข้อจำกัดอันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของตน เป็นการปฏิเสธตัวตนที่แท้จริง ไม่ต่างกับการไม่ยอมรับในศักยภาพอันเป็นพรสวรรค์แห่งความเป็นตัวตนเลย” ในบทตอนที่สี่ “คืนอันมืดมิด”.. พาล์มเมอร์ได้แสดงให้เห็นถึงการเรียนรู้ที่ได้รับจากความสัมพันธ์ระหว่างความซึมเศร้าและความเป็นศรัทธา.. ประการแรก คือการพูดความจริงกับผู้อยู่ในภาวะซึมเศร้านั้นเป็นสิ่งสำคัญ...ในภาวะซึมเศร้านั้นความสามารถในการตรวจสอบความจริงใจไม่เพียงแต่ทำงานอยู่ตลอดเวลา หากยังทำงานได้เร็วกว่าปกติ... ประการที่สอง เราไม่สามารถอธิบายภาวะซึมเศร้าได้ด้วยคำตอบจากความคิดเชิงตรรกะ ทั้งคำตอบจากศาสนาและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ บทเรียนนี้บอกให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่ในความลึกลับของมัน อันเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับได้ในสังคมของเรา “หลังจากผ่านครึ่งทางของชีวิต ผมพบว่าตนเองกำลังหลงทางอยู่ในป่าอันมืดมิด มันยากที่จะบรรยาย ป่านั้นทั้งรกและมืดทึบ” ในบทตอนที่ห้า... “ภาวะผู้นำจากภายใน” ..พาล์มเมอร์ได้นำเสนอความคิดว่า...ในหมู่ผู้ที่ชอบรับหน้าที่เป็นผู้นำ โดยเฉพาะผู้นำในงานสาธารณะ มักเป็นคนที่มุ่งสนใจในสิ่งภายนอกตนเองมากกว่าจะสนใจในด้านอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งก็หมายความว่าไม่สนใจในสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเรา...เหตุนี้หากมีอะไรเกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับด้านภายในก็จะแบ่งแยกจิตใจออกจากปัญหา..สร้างกำแพงล้อมมัน โดยกันส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกออกไปจากตัวงาน สิ่งนี้เองที่ทำให้เงามืดคืบคลานเข้ามาโดยไม่รู้ตัว เงามืดขยายตัวขึ้นจนเกิดการครอบงำชีวิต เป็นปัญหาที่เราเคยคุ้นกันดีในทางการเมืองภายในประเทศ ดังนั้น... “ผู้นำจึงไม่เพียงแต่ต้องเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการจัดการกับปัญหาของโลกภายนอก แต่จักต้องมีทักษะทางด้านจิตวิญญาณที่สามารถจะเข้าถึง ต้นธารอันให้กำเนิดทั้งแสงสว่างและเงามืด...” ในบทตอนสุดท้าย.. “ฤดูกาลของชีวิต”... พาล์มเมอร์ได้แสดงถึงข้อประจักษ์ที่ว่า...การมองชีวิตด้วยภาพการเปลี่ยนผันของฤดูกาลทำให้เราเข้าใจความหมายของคำอุปมาอื่นได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เมล็ดของพืชพันธุ์ได้เดินทางผ่านแต่ละช่วงเวลาของชีวิต เป็นไปตามวัฏจักรที่ไม่รู้จบของฤดูกาล เตือนให้เรารู้ว่า การเดินทางของชีวิตนั้นไม่เคยสิ้นสุด... ชีวิตของเราเป็นส่วนหนึ่งในปริศนาของวัฎจักรอันเป็นนิรันดร์ เราใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อแสวงหา แต่ไม่เคยได้รับคำตอบว่า เราเป็นใคร?...และเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร?..คำถามนี้จะวนเวียนอยู่รอบชีวิตของเรา ฤดูกาลยังให้มุมมองใหม่แก่เรา ให้เราได้มองเห็นว่า การแสวงหาตัวตนที่แท้จริงและภารกิจของชีวิตนั้นมิได้อยู่แค่เพียงการค้นหาจากเพียงภายใน หรือแม้กระทั่งจากวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยกันเท่านั้น.. “ฤดูกาลช่วยให้เรามองเห็นการแสวงหาส่วนตัวตนที่แท้จริงจากมุมมองของโลกธรรมชาติอันไพศาล เป็นโลกแห่งสรรพสิ่งซึ่งชีวิตของเรารวมอยู่ในนั้นด้วย...” “เสียงเพรียกแห่งชีวิต” (LET YOUR LIFE SPEAK) แปลและถอดความเป็นภาษาไทยได้อย่างลึกซึ้งและละเมียดละไมโดย... “นายแพทย์กิจจา เจียรวัฒนกนก” ..ศัลยแพทย์ฝีมือดีจากโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่... ผู้ทำให้หนังสือเล่มนี้กระจ่างตาและกระจ่างใจในการสื่อสารสู่การรับรู้ในรู้สึกในเชิงจิตวิญญาณ...มันคือสารที่ทำให้แก่นแท้ของความเป็นมนุษย์สามารถพัฒนาและเติบใหญ่ขึ้น ด้วยกระบวนความคิดที่ผ่านการตระหนักรู้ทั้งด้วยความจริงของประสบการณ์แห่งชีวิตและฐานรากแห่งการใช้ชีวิตด้วยสัมผัสอันงดงามของตัวตน...หลายสิ่งหลายอย่างคือคำอธิบายเปรียบเทียบถึงค่าความหมายของความเข้าใจอันหยั่งลึก...อันหมายถึง..การปลูกสร้างจิตสำนึกใหม่ด้วยการใคร่ครวญที่เต็มไปด้วยความละเอียดลออ.. ..ที่สุดแล้วชีวิตก็ต้องยอมรับต่อการสดับเสียงภายในเพื่อการก้าวไปสู่เวิ้งรู้แห่งเจตจำนงอันบริสุทธิ์...เพราะนั่นคือ...หมุดหมายแห่งปัญญาญาณที่น้อมรับต่อปรารถนาของการดำรงอยู่และดำเนินไปอันเที่ยงแท้แห่งชีวิตของเราทุกๆ คน... “ก่อนที่คุณจะบอกว่าต้องการอะไรจากชีวิต....ให้ฟังเสียงของชีวิตว่าต้องการอะไรจากคุณ”