ภายหลัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” อ่านคำวินิจฉัย ไม่สิ้นสุดลงตามคำร้องของส.ส. 51 ราย หลังเข้าชื่อร้องต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งคำร้อง ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยสถานะทางการเมืองของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส. พะเยา พรรคพลังประชารัฐ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สืบเนื่องจากเคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย อันถึงที่สุดว่าได้กระทำผิดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติด ที่แม้เป็นคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ กรณีดังกล่าวย่อมทำให้ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่
วันนี้ “สยามรัฐออนไลน์” ขอย้อนประวัติที่น่าสนใจของ “ร.อ.ธรรมนัส” ก่อนเดินเข้าสู่วงการการเมืองอย่างเต็มตัว
“ร.อ.ธรรมนัส” เกิดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2508 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 25 (รวมเหล่ารุ่นที่ 2) ปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 36 รุ่นเดียวกับพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม ปริญญาโทพุทธศาสนมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พระพุทธศาสนา) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิต Doctor of Philosophy (รัฐประศาสนศาสตร์) California University FCE ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในการศึกษาระดับปริญญาเอก “ร.อ.ธรรมนัส” ได้ทำวิทยานิพนธ์ชื่อ "The Forms of the Local Performance Development and Promotion with Image and Identity in Order to Increase the Value Added and Value Creation: A Case Study of Phayao Province." (รูปแบบของการพัฒนาศักยภาพท้องถิ่นและการส่งเสริมภาพลักษณ์รวมถึงอัตลักษณ์เพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าเชิงการสร้างสรรค์ : กรณีศึกษาจังหวัดพะเยา) ร่วมกับคณะอีก 4 คน เผยแพร่ในเว็บไซต์วารสารงานวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งยุโรป (European Journal of Scientific Research) เมื่อปี พ.ศ. 2557
ก่อนหน้าที่จะเป็นนักการเมือง “ร.อ.ธรรมนัส” เคยเป็นประธานกรรมการบริษัทในเครือธรรมนัสกรุ๊ป ดำเนินธุรกิจหลากหลาย ที่สำคัญคือการถือหุ้นใน บจก.รักษาความปลอดภัย ที.พี.การ์ด ซึ่งมีพล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นหนึ่งในกรรมการบริษัท และ หจก.ขวัญฤดี ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลรายใหญ่ นอกจากนี้“ร.อ.ธรรมนัส” ยังเคยเป็นประธานสโมสรฟุตบอลจังหวัดพะเยาอีกด้วย
กระทั้ง ปี 2542 “ร.อ.ธรรมนัส” ได้เริ่มงานการเมืองกับพรรคไทยรักไทย และได้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ในปี 2557 แต่การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ ต่อมาเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจ “ร.อ.ธรรมนัส” ก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ คสช. มีคำสั่งเรียกมารายงานตัว
ต่อมาในปี 2561 “ร.อ.ธรรมนัส” ได้เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ภาคเหนือของพรรค และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา เขตที่ 1 โดยชนะเจ้าของพื้นที่เดิม ตือ พรรคเพื่อไทย
สำหรับชีวิตส่วนตัว “ร.อ.ธรรมนัส” ได้สมรสกับนางอริสรา (หรือธนสร) พรหมเผ่า และใช้ชีวิตคู่ร่วมกับธนพร ศรีวิราช ข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ นางสาวไทยประจำปี 2559 มีบุตร 7 คน มีทรัพย์สินรวม 866 ล้านบาท