เมื่อวันที่ 6 พ.ค.นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม รองโฆษกพรรคกล้า กล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ กรณีต้องคำพิพากษาศาล ออสเตรเลียในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดว่า แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุดในเรื่องคุณสมบัติแล้ว แต่การให้เหตุผลคำวินิจฉัยในทำนองว่าคำพิพากษาของต่างประเทศ ไม่มีผลผูกพันต่อกฎหมายไทย เกิดเป็นคำถามถึงบรรทัดฐานกระบวนการยุติธรรมไทย "ผมไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกับบุคคลในคดี แต่สงสัยว่า ถ้ามีคนก่อคดีคล้ายๆ มันคือแป้ง ในต่างประเทศ หมายความว่าบุคคลนั้น สามารถสมัครรับเลือกตั้ง เป็น ส.ส. หรือเป็นรัฐมนตรี ได้หรือไม่ เชื่อว่าประชาชนอีกหลายๆ คน ก็คงรู้สึกสงสัยไม่ต่างกัน จึงหวังว่าคำวินิจฉัยฉบับเต็มที่จะออกมาภายหลัง จะมีการอธิบายถึงบรรทัดฐานในอนาคตที่ชัดเจนด้วย" นายแสนยากรณ์ กล่าว รองโฆษกพรรคกล้า กล่าวว่า เรื่องคุณสมบัติคงจะจบไปด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงมีประเด็นว่า ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงตามหมวด 1 ของมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ซึ่งกำหนดให้บังคับใช้แก่ ส.ส. , ส.ว. และคณะรัฐมนตรี ด้วยหรือไม่โดยสามารถยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อชี้มูลว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ และส่งต่อให้ศาลฎีกาตัดสินต่อไป นายแสนยากรณ์ ยังกล่าวถึง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 5 กำหนดด้วยว่า ผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร ผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักรด้วย รวมถึงความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมายคณะที่ 5 ) เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2525 ก็ระบุถึงเจตนารมณ์ส่วนหนึ่งว่า ถ้าต้องห้ามเฉพาะการกระทำผิดในประเทศ ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดในต่างประเทศ ก็จะเกิดการลักลั่นไม่เป็นธรรม ซึ่ง 2 ประเด็นนี้ น่าจะเป็นข้อกฎหมายและความเห็นที่มีนัยยะสำคัญ หากมีการวินิจฉัยต่อว่าขัดต่อจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่