ทองขาล กันหาจันทร์ / เรื่อง เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)วิทยาเขตตรัง จัดงานมหกรรมโนราเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ภายในงานมีนิทรรศการพระราชกรณียกิจสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นิทรรศการการแสดงมโนรา การแสดงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-จีน จากนักศึกษาJiangxi University of Science and Technology (JXUST) สาธารณรัฐประชาชนจีน และการแสดงโนรา จากคณะโนรา ที่มีชื่อเสียงใน 4 จังหวัดภาคใต้ โดยมีนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานะที่ปรึกษาสภา ม.อ.เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ผศ.ดร.ณัฐวิทย์ พจนตันติ รองอธิการบดี ม.อ.วิทยาเขตตรัง คณะผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร รวมทั้งประชาชนในจังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง เข้าชมงานอย่างคับคั่ง อาจารย์สมโภช เกตุแก้ว ประธานคณะกรรมการโครงการจัดตั้งวิทยาลัยนวัตกรรมการแสดงและการจัดการ ม.อ.วิทยาเขตตรัง ในฐานะประธานการจัดงาน กล่าวถึงการจัดงานมหกรรมโนราฯ เป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาศทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษาในปี 2559 นี้ อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมของภาคใต้ อันเป็นภูมิปัญญาของชาติ สร้างความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของศิลปะวัฒนธรรมต่อสังคมและชุมชน สร้างความร่วมมือและสร้างเครือข่ายกับสถาบันการศึกษาในจังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนเป็นการเชิดชูเกียรติโนราละมัย ศรีรักษา ที่ได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปะการแสดงและการจัดการ จาก ม.อ.ประจำปีการศึกษา 2558 ด้วย ด้านนายชวน หลีกภัย ได้กล่าวชื่นชมและให้กำลังใจทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงาน และขอให้ร่วมกันสืบสานประเพณีวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้สืบเนื่องต่อไป ซึ่งปัจจุบันนี้ เด็กใต้ไม่ค่อยรักษาเอกลักษณ์ภาคใต้เอาไว้ จะเห็นได้จากผู้ปกครองของเด็กสมัยนี้นิยมสอนให้ลูกพูดภาษากลางจนพูดภาษาใต้ไม่เป็น เอกลักษณ์ความเป็นคนใต้ ความเป็นภาคใต้ ก็เริ่มสูญแต่ยังไม่สิ้น ตนอยากเห็นเด็กรุ่นใหม่ หันมาใส่ใจในความเป็นใต้ให้มากขึ้น เช่นเดียวกันกับศิลปะวัฒนธรรมของภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์และมีความงดงาม อย่างการรำโนรา ที่ปัจจุบันหาดูค่อนข้างยากแล้ว มีผู้ที่สืบทอดและรักษาเอาไว้จำนวนน้อยคน "ขอบคุณโนราละมัย ศรีรักษา โนราคนตรังที่กลับมาฝึกหัดคนตรังรุ่นใหม่ ให้หันมาหวงแหนเอกลักษณ์เอาไว้ ขอบคุณและขอเป็นกำลังใจให้กับ ม.อ.วิทยาเขตตรัง และสถาบันการศึกษาทุกแห่ง ที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ และช่วยกันอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมความเป็นใต้เอาไว้ให้คงอยู่ต่อไป และหวังว่าเอกลักษณ์ใต้ เอกลักษณ์ไทยจะมีผู้สืบสานต่อไป"นายชวน กล่าว สำหรับมหกรรมโนราเฉลิมพระเกียรติ ครั้งนี้มีการประกวดการรำโนรา โดยเป็นระดับประถมศึกษา 3 ทีม โดยโรงเรียนเทศบาล 1 (อนุบาลอัจฉริยะ) จ.สงขลา ส่งเข้าประกวด 2 ทีม ในชื่อทีมอนุรักษ์ศิลป์ถิ่นใต้ ทีม1และทีม2 และทีมจากโรงเรียนเทศบาล 6 (วัดตันตยาภิรม) จ.ตรัง ส่วนระดับมัธยม ได้แก่ ทีมเจมส์เสน่ห์ศิลป์ ทรงเครื่องเมืองตรัง จ.ตรัง ทีมโรงเรียนวิเชียรมาตุ จ.ตรัง ทีมโรงเรียนเทศบาล 6 (วัดตันตยาภิรม) จ.ตรัง และทีมโรงเรียนมัธยมวัดควนวิเศษ มูลนิธิ จ.ตรัง โดยผลการประกวดปรากฏว่า ทีมอนุรักษ์ศิลป์ถิ่นใต้ (ทีม 1) จากโรงเรียนเทศบาล 1 (อนุบาลอัจฉริยะ) คว้ารางวัลชนะเลิศระดับชั้นประถม และทีมโรงเรียนมัธยมวัดควนวิเศษ มูลนิธิ จ.ตรัง คว้ารางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา อย่างที่อดีตนายกรัฐมนตรี พูดไว้อยากเห็นคนรุ่นใหม่ช่วยกันอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมความเป็นใต้ เอาไว้ให้คงอยู่ต่อไป วันนี้ก็ได้เห็นว่า"โนรา"มรดกใต้ เอกลักษณ์ใต้ เอกลักษณ์ไทย มีผู้สืบสานให้คงอยู่ต่อไป