เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือปี 2564 โดยสถานการณ์ในภาพรวมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-18 เม.ย. 2564 พบจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจำนวน 58,769 จุด ลดลงจากปี 2563 ที่พบจุดความร้อนสะสมจำนวน 122,687 จุดในช่วงเวลาเดียวกัน หรือลดลงร้อยละ 52 โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนสูงสุดได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 11,376 จุด, เชียงใหม่ 7,620 จุด, ตาก 7,253 จุด, ลำปาง 5,716 จุดและเพชรบูรณ์ 4,355 จุด เมื่อแยกตามการใช้ประโยชน์ที่ดินพบจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 43,ป่าสงวนแห่งชาติร้อยละ 37, พื้นที่เกษตรร้อยละ15,พื้นที่ชุมชนร้อยละ 4 และพื้นที่ริมทางร้อยละ 1 สำหรับปริมาณฝุ่นPM2.5 พบว่าค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุดเท่ากับ 402 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ที่ 366 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 โดยมีวันที่ฝุ่นPM2.5 เกินมาตรฐาน 50ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรมีจำนวน 96 วัน ลดลงจากปี 2563 ที่มีจำนวน 105 วัน หรือลดลงร้อยละ 9 ขณะที่สถานการณ์หมอกควันข้ามแดนพบจุดความร้อนสูงสุดในเมียนมา 577,562 จุด,กัมพูชา 307,319 จุด, ไทย 189,637 จุด,ลาว 180,073 จุดและเวียดนาม 61,702 จุด ซึ่งจากการที่พบจุดความร้อนจำนวนมากในเดือนมกราคม-เมษายน 2564 ทำให้จังหวัดภาคเหนือที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก ทั้งนี้ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้เร่งดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 มาตรการ จัดทำและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่งพื้นที่ภาคเหนือปี 2564 ระดับจังหวัด จัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและจัดประชุมอย่างต่อเนื่องเพื่อบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ในการรับมือสถานการณ์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบเพื่อรณรงค์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและการรายงานข้อมูลผลการดำเนินงานให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นประจำทุกวัน จัดฝึกอบรมเสริมบทบาทชุมชน เครือข่ายภาคประชาชนและจิตอาสาเพื่อร่วมเป็นชุดปฏิบัติการระดับหมู่บ้านในการลาดตระเวน เฝ้าระวัง และดับไฟป่า จัดทำแผนงานด้านสาธารณสุขเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร ประกอบด้วย โครงการบริหารจัดการเชื้อเพลิง “ชิงเก็บ ลดเผา” ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อเก็บขนเชื้อเพลิงจากป่าออกมาใช้ประโยชน์ เป็นการลดการเกิดไฟป่า และได้พัฒนาแอปพลิเคชันบริหารการเผาในที่โล่ง (Burn Check) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมทดสอบการใช้งาน และยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันส่วนหน้าในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อกำกับการควบคุมและดับไฟป่า รวมทั้งได้ประสานงานประเทศเพื่อนบ้านและรายงานผลการดำเนินงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อขอให้เร่งรัดควบคุมการเผาในที่โล่งตามกลไกของข้อตกลงอาเซียน นอกจากนี้ยังได้ยกระดับการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน ฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง โดยกำหนดให้เดือนเมษายนเป็นเดือนเฝ้าระวังพิเศษ โดยเฉพาะในจังหวัดที่พบจุดความร้อนสูง