หลังเสร็จสิ้นภารกิจโคจรรอบแรกสำเร็จ โดยจีนออกแบบให้ตกกลับโลกแบบไร้การควบคุมซึ่งเศษชิ้นส่วนอาจเผาไหม้ได้ไม่หมดในชั้นบรรยากาศ จะกลายเป็นขยะอวกาศที่ใหญ่ที่สุดที่จะตกลงมาแบบไม่รู้ทิศทาง แต่จีนคาด 70% น่าจะลงมหาสมุทร ว่ามีเพียง 1 ในล้านล้านที่จะเป็นอันตรายกับชาวโลก คาดทั้งมหานครนิวยอร์ก มาดริด ปักกิ่ง นิวซีแลนด์ ชิลี มีโอกาสด้วยอยู่ในแนวเส้นทาง เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ประเทศจีนส่ง “เทียนเหอ (Tianhe)” ชิ้นส่วนแรกของสถานีอวกาศจีนเพื่อโคจรรอบโลกได้สำเร็จ แต่หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแล้วท่อนจรวดกำลังตกสู่พื้นโลกโดยไร้การควบคุม จรวดลองมาร์ช 5บี (Long March 5B) จัดเป็นจรวดขนส่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน สามารถบรรทุกโมดูลเทียนเหอซึ่งมีน้ำหนักถึง 22 ตัน เพื่อขึ้นไปโคจรรอบโลกที่วงโคจรระดับต่ำ ในวันที่ 29 เมษายน 2564 หลังจากเทียนเหอแยกตัวออกไปเพื่อเข้าสู่วงโคจรของตัวเองแล้ว ท่อนจรวดที่ใช้ส่งเทียนเหอขึ้นสู่อวกาศถูกออกแบบมาให้ตกกลับสู่โลกโดยไร้การควบคุม และเศษชิ้นส่วนอาจถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกได้ไม่หมด กลายเป็นขยะอวกาศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่กำลังตกลงมาสู่โลกโดยไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญได้บอกว่าท่อนจรวดที่เหลือน่าจะตกในพื้นที่รกร้างที่ไหนสักแห่ง และเป็นไปได้สูงมากที่จะเป็นมหาสมุทรเนื่องจากมีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 70 % ของพื้นผิวโลก และมีโอกาสที่มนุษย์จะได้รับอันตรายเพียง 1 ในล้านล้าน การหาวิถีโคจรของท่อนจรวดที่สูญเสียการควบคุมแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยเนื่องจากมีความไม่แน่นอนจากแรงต้านของอากาศเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงระบุตำแหน่งที่จะตกสู่พื้นโลกได้ยากมาก และปกติแล้ววัตถุที่อยู่ในวงโคจรรอบโลกระดับต่ำจะโคจรรอบโลกด้วยความเร็วสูงมาก หมายความว่าถ้าคำนวณระยะเวลาตกคลาดเคลื่อนไปเพียงไม่กี่นาที ก็จะคำนวณตำแหน่งพุ่งชนคลาดเคลื่อนไปนับพันกิโลเมตร วงโคจรของท่อนจรวดเอียงทำมุม 41.5 องศาจากระนาบเส้นศูนย์สูตรของโลก ซึ่งวงโคจรดังกล่าวจะผ่านสถานที่สำคัญ เช่น บริเวณเหนือนครนิวยอร์ค กรุงมาดริด กรุงปักกิ่ง ไปจนถึงซีกโลกใต้ อย่างประเทศชิลีหรือ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ หมายความว่ามีโอกาสที่จะพุ่งตกได้ทุกพื้นที่ในแนวเส้นทางนี้ ท่อนจรวดลองมาร์ช 5บี ที่เป็นปัญหานี้มีความสูง 33.16 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ขณะที่มันทะยานขึ้นสู่อวกาศมีน้ำหนักรวม 186,900 กิโลกรัม และขณะนี้กลายเป็นขยะอวกาศที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในอดีตเคยมีขยะอวกาศขนาดใหญ่ที่ตกลงมาแบบไร้การควบคุม คือ สถานีอวกาศสกายแลบ (Skylab) ของสหรัฐฯ ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 7,600 กิโลกรัม ตกลงสู่พื้นโลกในปี ค.ศ. 1979 โดยไม่เกิดอันตรายใดๆ ต่อผู้คนบนโลก เรียบเรียง : สิทธิพร เดือนตะคุ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง : [1] https://everydayastronaut.com/tianhe-1-long-march-5b/ [2] https://www.space.com/china-space-station-rocket-launch... [3] https://www.space.com/13034-falling-satellite-space...