พรรคกล้า เปิดคลับเฮาส์ “กรณ์-วรวุฒิ” ร่วมถกประชาชนกลุ่ม “ร้านอาหาร” พร้อมร่วมมือรัฐกันระบาด-ต้องเยียวยา-เสนอ 7 ข้อก่อนตายทั้งระบบ พรรคกล้า เปิดคลับ Idea I do ในคลับเฮาส์ ระดมสมองหาทางออกช่วยเหลือร้านอาหาร ในหัวข้อ “ร้านอาหารกำลังจะตาย ควรช่วยยังไง” โดยมีผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่ 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามนั่งทานในร้าน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ของรัฐบาล ตลอดจนเชฟร้านอาหารชื่อดัง เชฟต้น-Le Du เชฟตาม-บ้านเทพา เชฟหนุ่ม-ซาหมวย&ซันส์ เชฟนิค เต้-พันชนะ จากสมาคมตัวแทนร้านอาหารและโครงการ Food For Fighters ตัวแทนแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ Robinhood และเจ้าของร้านอาหารดัง ร้านอาหารสตรีทฟู้ดเข้าร่วมรับฟังกว่า 1 พันคน นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั้ง 3 ระลอก ก็ต้องขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่าน แต่เท่านั้นไม่พอ เราต้องมีข้อเสนอมาตรการเพื่อให้อยู่รอด แต่อย่างน้อยเที่ยวนี้เราพอที่จะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่จะสร้างความมั่นใจในระดับหนึ่งคือเดือนหน้า (มิถุนายน) เราจะมีวัคซีนตามที่รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะเริ่มฉีดให้กับประชาชนและจะฉีดครบภายในสิ้นปี ทั้งนี้จากที่ดูจากหลายประเทศเมื่อประชาชนเขาได้รับวัคซีนแล้ว ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจบริการ และร้านการค้าปลีกต่าง ๆ มีตัวเลขชัดเจนว่าฟื้นตัว ซึ่งก็เชื่อว่าหลังจากเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป แต่อย่างไรก็ตามกว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นก็คงจะต้องรอไตรมาส 4 ดังนั้นโจทย์สำคัญคือช่วงนี้เราทำอะไรได้บ้าง และรัฐบาลจะช่วยอะไรเราได้บ้าง เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่รอด เพราะอุตสาหกรรมร้านอาหาร ไม่ใช่อุตสาหกรรมขนาดเล็ก จากตัวเลขของ “วงใน” ระบุว่ามีถึง 230,000 ร้าน มีจำนวนชีวิตที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้นับล้านคน นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่าจากมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านของรัฐบาล ผู้ประกอบการทั้งหมดที่อยู่ในคำสั่ง คงต้องเดือดร้อนหนักแน่ เพราะผลกระทบอันเกิดจากวิกฤตโควิดมีมาปีกว่าแล้ว เพียงแต่ระลอกนี้มันหนักหนา รัฐบาลควรออกมาตรการมาช่วยแหลือ ผู้ประกอบการเหล่านั้นได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว โดยพรรคกล้าได้ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาล เสนอ 5 มาตรการเยียวยาคือ 1. ควรเร่งเจรจากับ Platform online ที่ร้านอาหารทั้งหลายใช้เป็นช่องทางขายและจัดส่งอาหารอยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้คิดค่าธรรมเนียมการใช้บริการหรือGP เกิน15% อย่างน้อยก็ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการและประชาชน 2. ควรช่วยเหลือเยียวยาค่าจ้างเงินเดือนของพนักงานในร้านอาหารเหล่านี้สัก 50% ในช่วงที่รัฐบาลประกาศห้ามมีลูกค้านั่งในร้านอาหารเหล่านี้ 3.งดการจัดเก็บภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของรัฐบาลในการหยุดให้บริการ ในรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา 4.ผ่อนผันในเรื่องการผ่อนชำระเงินกู้และดอกเบี้ยของ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ด้วยมาตรการงดผ่อนต้นผ่อนดอก ไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน และ 5.ในกรณีที่ร้านอาหารมีค่าเช่าพื้นที่ เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า เจ้าของพื้นที่ควรลดค่าเช่าให้ด้วย อย่างน้อย 50% และเจ้าของพื้นที่สามารถนำส่วนลดที่ให้กับร้านอาหารเหล่านั้น ไปขอลดหย่อนภาษีจากทางรัฐบาลได้ ในรอบบัญชีถัดไป เพื่อเป็นการชดเชยและลดค่าใช้จ่ายให้ร้านอาหารที่ต้องเสียค่าเช่าทุกเดือน และในช่วงที่มีการแชร์ประสบการณ์ ก็มีผู้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง อาทิ สีหนาท ล่ำซำ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มฟูดดิลิเวอรี่ “Robinhood” ซึ่งไม่มีการเรียกเก็บค่า GP ที่มองว่า ในช่วงสถานการณ์นี้ แพลตฟอร์มส่งอาหารไม่ควรเก็บ GP แต่ควรเอาส่วนนั้นเป็นส่วนลดให้กับลูกค้า เพื่อสร้างความสัมพันธ์โดยตรง นอกจากนี้ ช่องทาง Social Media ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าโดยตรง ทำให้ลูกค้าได้เห็นสินค้าและสามารถเลือกได้ ขณะที่ ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ก่อตั้ง “เพนกวิ้นกินชาบู” กล่าวว่า จากที่ได้คุยกับผู้ประกอบการร้านอาหารหลาย ๆ ท่านพบปัญหาเดียวกันคือ ค่า GP ที่ตอนนี้เรียกเก็บอยู่ที่ 35% ของราคาสินค้าค่อนข้างสูงไป ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ลดลงมาเหลือ 15-20% ก็ยังพออยู่ได้ ตอนนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารบางรายแม้จะพอขายได้ แต่มันไม่มีกำไร การจัดการทางการตลาดก็ต้องมีต้นทุน ถ้าคนทำไม่เป็นก็จะหายไป เตเต้ พันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ก่อตั้งร้านอาหาร “เป็นลาว” บอกว่าเห็นด้วยกับมาตรการที่พรรคกล้า นำเสนอ นอกจากนี้ยังมองว่า รัฐควรสนับสนุนของใช้วัสดุป้องกันความปลอดภัย เช่น หมวก หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ฆ่าเชื้อต่าง ๆ เพราะตัวเลขเริ่มสูงขึ้น อยากให้ผู้ประกอบการทุกคนรวมตัวกันเพื่อเป็นพลังในการเรียกร้องให้ได้รับความช่วยเหลือ ในส่วนของ Food Delivery พื้นที่ เขาใหญ่ ปากช่อง ก็พยายามที่จะทำแต่บริบทเมืองไม่เอื้อ สอดคล้องกับ เชฟต้น ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร เชฟชื่อดังแห่งร้าน le du (ฤดู) ที่บอกว่า ร้านอาหารอย่างน้อยครึ่งหนึ่งที่ไม่สามารถหาประโยชน์จาก ฟู้ด ดิลิเวอรี่ได้ และมันก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมดของธุรกิจร้านอาหาร เวลานี้ มันคือโค้งสุดท้ายของโรคระบาด แต่โค้งนี้อันตรายที่สุด และเชื่อว่าคนบาดเจ็บล้มตายเยอะมาก จากตัวเลขธุรกิจร้านอาหาร ก่อนปี 2563 มีถึงกว่า 300,000 ร้าน ปัจจุบันเหลือเพียง 200,000 กว่าร้าน และสุดท้ายหากไม่มีการช่วยเหลือจากรัฐก็เชื่อว่าน้อยลงมาอีกมาก “ธุรกิจของเรามีมูลค่าต่อจีดีพีของประเทศค่อนข้างเยอะ เราจ้างงานคนเป็นล้านคน เราเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญ สิ่งที่รัฐจะช่วยให้เราพ้นโค้งสุดท้าย วิธีที่ง่ายสุด และทำได้เร็วที่สุดคือ แจกจ่ายเงินช่วยเหลือให้พวกเรา โดยไม่มีข้อแม้เหมือนโครงการอื่น ๆ ที่ออกมาช่วยเหลือก่อนหน้านี้ เพราะความเดือดร้อนครั้งนี้ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ รัฐต้องมองว่าฉุกเฉินมากเช่นเดียวกับที่ทั่วโลกเจอ ควรต้องช่วยแบบไม่แบ่งชนชั้นเริ่มต้นร้านละ 50,000 บาท ถ้าผู้ประกอบการร้านอาหารมี 300,000 ราย ก็ใช้เงินเพียง 15,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินที่กู้มาช่วยเหลือประชาชน 1 ล้านล้านบาท ที่ยังเหลืออีก 4 แสนล้านบาทถือว่าน้อยมาก เพราะเชื่อว่าหลุดจากมาตรการ 1 พฤษภาคม ไปอีก 14 วันก็จะต้องมีการห้ามต่อ เพราะสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นเลวร้ายที่สุดอาจจะถึง 6 เดือนก็ได้ ในขณะที่เชฟตาม บ้านเทพา บอกว่า ตนได้ทำในทุกช่องทางที่จะผ่านวิกฤตไปแล้ว แต่รายได้ก็ยังหายไป 60-70% การทำดิลิเวอรี่ก็ไม่ถนัดเพราะร้านอาหารไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อดิลิเวอรี่ เพราะใช้วัตถุดิบจากชุมชน จะโยนภาระต้นทุนไปให้กับพวกเขาก็ทำไม่ลงและสู้ไม่ไหว นอกจากนี้ยังมีผู้แสดงความคิดเห็นอีกมากมายส่วนใหญ่มีปัญหาเรือง GP ของ ฟู้ดดิลิเวอรี่ และค่าจ้างของพนักงาน ขณะเดียวกันก็มีผู้นำเสนอแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ประชาชนในยุควิกฤตโควิด คือ ป๊อกป๊อก ดิลิเวอร์รี่ ที่รวมอาหารชื่อดังให้บริการประชาชนทั่วกรุงเทพ รวมถึงมีการเสนอบริการ Truck food ที่มีทั้งห้องเย็นใส่อาหารและไมโครเวฟเพื่ออุ่นได้ทันทีด้วย นายกรณ์ กล่าวเสริมว่า เป็นข้อเรียกร้องที่น่าสนใจ ซี่งจะขอรวบรวมเป็นข้อเรียกร้องไปทางรัฐบาลว่า 1. รัฐบาลเยียวยาตรง 50,000 บาทให้ทุกร้านอาหาร (เป็นเงินไม่เกิน 15,000 ล้านบาท) 2. รัฐบาลชดเชย 20% ของรายได้ ช่วงเดือน พฤษภาคมถึงสิ้นเดือนกันยายน โดยมีการกำหนดเพดานที่เหมาะสม 3. รัฐบาลรับภาระการจ่ายเบี้ยประกันสังคมพนักงานทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง 4. รัฐบาลเจรจาปรับลดหรือชดเชยค่า GP delivery เพื่อให้ค่า GP ไม่สูงกว่า 15% (ปัจจุบัน 30-35%) 5. รัฐบาลลดค่านํ้าค่าไฟให้ผู้ประกอบการ 50% 6. รัฐบาลและท้องถิ่นงดเก็บภาษีป้าย/ภาษีที่ดินจากร้านอาหารจนถึงสิ้นปี และ 7. แบงค์ชาติจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน ทั้งหมดนี้มีเงื่อนไขสำคัญข้อเดียว คือร้านอาหารต้องไม่ลดพนักงานและไม่ลดค่าจ้าง นายวรวุฒิ รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวเสริมว่า พรรคกล้าจะสรุปข้อเรียกร้องส่งรัฐบาลและเร่งติดตามเพื่อให้เกิดความช่วยเหลือ เพราะทราบดีว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าฟ้าหลังฝน งดงามเสมอ เดี๋ยวเหตุการณ์ร้าย ๆ จะผ่านไป ขอทุกท่านอย่าหมดใจ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน