เพราะครอบครัวเป็นพื้นฐานของความสุข ยิ่งจำนวนครอบครัวที่อบอุ่นมีมากเท่าใด สังคมไทยก็ยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้นเท่านั้น สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สสส. ผลักดันโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนครอบครัวอบอุ่นในระดับพื้นที่ให้เป็นเป้าหมายสำคัญระดับชาติ ที่ทุกภาคส่วนพึงปฏิบัติ พร้อมมุ่งเพิ่มสัดส่วนครอบครัวอบอุ่นให้สูงขึ้น รองรับการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ยุคประเทศไทย 4.0 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร นายกสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย วันนี้ (27 กันยายน 2560) ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร นายกสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย แถลงข่าวผลงานวิชาการของสมาคมฯ ด้วยการนำเสนอภาพรวมของโครงการพัฒนานวัตกรรมการขับเคลื่อนงานครอบครัวอบอุ่นในระดับพื้นที่ ซึ่งสมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยการมุ่งเน้นสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้มแข็งให้เด็ก เยาวชน และครอบครัว ตามที่เป้าหมายของ สสส. ที่ต้องการพัฒนาดัชนีครอบครัวอบอุ่นและผลักดันให้มีการกำหนดเป้าหมายระดับชาติ ตลอดจนเพิ่มสัดส่วนครอบครัวอบอุ่นให้สูงขึ้นกว่าเดิม ภายใต้หลักคิด 3 ประการคือ ครอบครัวมีสัมพันธภาพดีขึ้น ครอบครัวพึ่งพาตนเองได้ และครอบครัวสามารถทำหน้าที่ในการดูแลสมาชิกในครอบครัวตามช่วงวัยได้อย่างเหมาะสม ตลอด 2 ปีของการทำงาน สมาคมฯ ได้กำหนดแนวทางการเรียนรู้ผ่าน ‘กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม’ (participatory learning) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงในระดับครอบครัว รวมทั้งเกิดกระบวนการเรียนรู้จากทุกภาคส่วนที่เข้ามาช่วยให้การพัฒนาครอบครัวเป็นไปอย่างยั่งยืนมากที่สุด ผ่านการจัดทำหน่วยสร้างการเรียนรู้ครอบครัวศึกษา 11 พื้นที่ ประกอบด้วย พะเยา ลำปาง น่าน เลย อุบลราชธานี สุรินทร์ กาฬสินธุ์ สระบุรี ตรัง พัทลุงและสงขลา พร้อมจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนงานครอบครัวระดับจังหวัด ทำหน้าที่วางแนวทางการขับเคลื่อนงานครอบครัวในจังหวัด ขับเคลื่อนงานครอบครัว จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปบทเรียนการดำเนินงานด้านครอบครัวระดับจังหวัด ตลอดจนเสริมทักษะความรู้แก่คณะทำงานหน่วยสร้างการเรียนรู้ครอบครัวศึกษา คุณสุวรรณี คำมั่น ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส. นอกจากเพื่อพัฒนานวัตกรรมอย่างยั่งยืน ยังมีแผนที่นำนวัตกรรมนี้ผลักดันสู่ระดับนโยบาย โดยคุณสุวรรณี คำมั่น ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส. กล่าวว่า เครือข่ายภาคีทางวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน และผู้สนใจด้านครอบครัว จะต้องช่วยกันสร้างเครื่องมือในการส่งเสริมครอบครัวให้สอดคล้องกับพื้นที่ หรือครอบครัวในลักษณะต่าง ๆ พร้อมทั้งศึกษาสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อครอบครัว และนำเสนอมาตรการในการจัดการปัญหาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแต่งตั้งคณะทำงานซึ่งอยู่ภายใต้คำสั่งของอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวจังหวัดให้มีหน่วยปฏิบัติการ เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกลสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพให้แก่ ศพค. ที่สำคัญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องสนับสนุนให้เกิดการจัดทำแผนพัฒนาครอบครัวบรรจุในข้อบังคับงบประมาณหรือเทศบัญญัติเพื่อให้สามารถไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ด้วยการประเมินสภาพครอบครัว และสภาพชุมชนที่มีผลกระทบต่อครอบครัว การจัดสวัสดิการครอบครัวที่เหมาะสมแก่เด็กและครอบครัวลักษณะเฉพาะ หรือการนำนโยบายส่งเสริมครอบครัวของรัฐสู่ครอบครัวในชุมชนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม