โควิดไทยดับเพิ่ม 27 ราย ติดเชื้อรายใหม่ 1,763 ราย อาการโคม่ากว่า 300 ราย นอนรพ.ทะลุ 3 หมื่นราย “กทม.”พบติดเชื้อสูงสุด “นายกฯ”สั่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิดกทม.และปริมณฑล-ศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิดระดับเขต หลังตัวเลขติดเชื้อสูง ยอมรับห่วงคลัสเตอร์คลองเตยพุ่ง! ออก8 มาตราการรับมือ พร้อมประเมินปรับแผน ควบคุมสถานการณ์เร่งตรวจเชิงรุก-แยกผู้ติดเชื้อ-ระดมฉีดวัคซีน 1-3 พันคน ให้ได้ต่อวันขณะที่“ศบค.”ขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจิตอาสาช่วยเหลือ “อัศวิน” ลั่นคุมคลัสเตอร์คลองเตยได้แน่ภายในสองอาทิตย์ เร่งปูพรมฉีดวัคซีนให้ 70% ทั่วกรุง ส่วนที่จ.เชียงใหม่ปิดโรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจเทศบาลตำบลแม่คือ พร้อมทำพิธีเรียกขวัญเด็กนักเรียนรักษาโควิดหายส่งคืนครอบครัว เมื่อวันที่ 4 พ.ค.64 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,763 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,750 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,519 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 231 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 13 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 72,788 ราย หายป่วยสะสม 42,474 ราย เฉพาะวันนี้หายป่วย 1,490 ราย อยู่ระหว่างรักษา 30,011 ราย อาการหนัก 1,009 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 311 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 27 ราย เป็นชาย 21 ราย หญิง 6 ราย โดยอยู่ในพื้นที่ กทม.8 ราย นนทบุรี 5 ราย ลำพูน สมุทรปราการ จังหวัดละ 2 ราย ชลบุรี อุบลราชธานี ปทุมธานี นครปฐม บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กำแพงเพชร ชัยนาท น่าน จังหวัดละ 1 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 303 ราย นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับ 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 4 พ.ค. ได้แก่ กทม. 526 ราย สมุทรปรา การ 201 ราย นนทบุรี 168 ราย ชลบุรี 91 ราย และสมุทรสาคร 55 ราย ภาพรวมสถานการณ์ในต่างจังหวัดแนวโน้มทรงตัวและควบคุมได้ ยกเว้นกทม.และปริมณฑล อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการพูดถึงการแพร่ระบาดในกทม.และปริมณฑล เฉพาะวันที่ 4 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อรวมกัน 956 ราย มากกว่าอีก 73 จังหวัด รวมกัน ดังนั้นถ้าเราจัดการกทม.และปริมณฑลได้เท่ากับการจัดการได้เกินครึ่งของประเทศ ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่แขวงลุมพินี แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน มีชุมชนแออัด 6 แห่ง และเคหะชุมชน 1 แห่ง รวมประชากรทั้งสิ้น 29,581 คน ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. พบการติดเชื้อใน 6 ชุมชน จำนวน 162 ราย ซึ่งพบมากที่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ 61 ราย เคหะบ่อนไก่ 14 ราย ชุมชนโปโล 10 ราย และตัวเลขพุ่งขึ้นมาในช่วงสงกรานต์ โดยเราต้องรีบหาผู้ติดเชื้อเพื่อแยกออกจากคนในชุมชน ลงตรวจเชิงรุกในชุมชนเฉลี่ยวันละ 1,000 ราย โดยวันที่ 4 พ.ค. จะไปตรวจเชิงรุกที่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมยังมีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต ซึ่งพบผู้ติดเชื้อ 80 ราย กระจายอยู่ในหลายพื้นที่เช่น ชุมชนวัดญวน ชุมชนหลังบ้านมนังคศิลา ชุมชนริมทางรถไฟสายแปดริ้ว ทั้งนี้ เฉพาะในวันที่ 21 เม.ย. ตรวจเชิงรุกในชุมชนดังกล่าว 447 ราย พบผู้ติดเชื้อถึง 22 ราย จากนั้นพบต่อเนื่อง จุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดมาจาก 3 กลุ่ม ได้แก่ คลัสเตอร์ผับรัชดา พับแถวพระราม 2 และกลุ่มที่ไปเที่ยวแพ ที่ จ.กาญจนบุรี นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานสถานการณ์ที่โรงงานแห่งหนึ่งใน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ว่าพบผู้ติดเชื้อ 160 ราย โดยเริ่มต้นมาจากพนักงานโรงงานชาวเมียนมา ป่วยตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. จากนั้นแพร่เชื้อไปยังเพื่อนร่วมห้องและพนักงานคนอื่น โดยมีการตรวจหาเชื้อพนักงานและญาติ 309 ราย พบติดเชื้อ 128 ราย และตรวจเชิงรุกในชุมชนใกล้เคียงอีก 47 ราย พบติดเชื้อ 9 ราย โดยโรงงานดังกล่าวมีพนักงาน 323 ราย ติดเชื้อแล้ว 151 ราย หรือ 46.8% ทั้งนี้ เขตสุขภาพที่ 6 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ สั่งให้ปิดโรงงานแล้วตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. อย่างไรก็ตาม จากการที่มีกระแสข่าวว่ายาฟาวิพิราเวียร์ไม่เพียงพอนั้น ขอยืนยันว่ามีเพียงพอ โดยข้อมูลวันที่ 3 พ.ค. มียาฟาวิพิราเวียร์ คงเหลือ 1.6 ล้านเม็ด และกำลังนำเข้าจากญี่ปุ่นอีก 22 ล้านเม็ด ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว มี 1,106,071 ราย เข็มที่สอง 392,546 ราย นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงการประชุมศบค.นัดพิเศษที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค.เป็นประธานเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า เป็นการประชุมที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มาประชุมอย่างเร่งด่วน โดยที่ประชุมได้เห็นชอบใน 2 ประเด็น คือ 1.แต่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถาน การณ์โควิด-19 กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งนายกฯ จะเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ทั้งนี้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือศปก.ศบค. จะเป็นผู้ยกร่างรายละเอียดของคณะกรรมการ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า 2.ศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระดับเขตในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต โดยผอ.เขตเป็นผอ.ศูนย์ โดยจะมีการแบ่งปฏิบัติการเป็นส่วนต่างๆ เช่น การอำนวยการ ฝ่ายตรวจปฏิบัติการเชิงรุก ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่ หรือฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อในพื้นที่ชุมชนคลองเตย และการฉีดวัคซีน ว่า สิ่งสำคัญคือการแยกผู้ป่วยออกมาจากคนปกติโดยจะนำผู้ป่วยมาที่ศูนย์พักคอยรอลำเลียงที่วัดสะพาน เพื่อรอการประสานหาเตียงไป ยังโรงพยาบาลที่เป็นเป้าหมาย ทั้งนี้ยังมีข้อห่วงกังวล เนื่องจากที่วัดสะพานยังไม่ได้มีการให้ค้างคืนผู้ป่วยจึงต้องเดินทางไปกลับบ้านอาจจะทำให้คนในครอบครัวติดเชื้อได้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ทั้ง 50 เขตในกรุงเทพฯจะต้องตรวจเชิงรุกมีการแยกกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยงโดยเร็ว และ มีแผนมาตรการต่างๆ ออกมา เพื่อขอความร่วมมือจากประชาชน ทั้งนี้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรืออีโอซี ของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า เมื่อตรวจพบผู้ป่วยสีเขียวนั้นบริหารจัดการไม่ยาก เนื่องจากมีโรงพยาบาลสนามที่รองรับผู้ป่วยสีเขียวอยู่แล้วแต่เมื่อผู้ป่วยกลายเป็นผู้ป่วยสีเหลืองจะขยับออกไปไหนไม่ได้ เนื่องจากโรงพยาบาลเต็ม นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จึงมีแนวคิดที่จะสร้างโรงพยาบาลสนามที่รองรับผู้ป่วยสีเหลืองขึ้นมา โดยกรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะไปดูสถานที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ขอความกรุณาบุคลากรทางการแพทย์ท่านใดที่มีจิตอาสาเข้ามาช่วยก็ขอให้ท่านส่งรายชื่อไว้ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ เมื่อถามว่า การฉีดวัคซีนให้คนในชุมชนคลองเตยหลังมีการแพร่ระบาดตอนนี้จะทันหรือไม่นั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนจะทำให้อาการที่ควรแสดงหรือผู้ป่วยอาการหนักจะลดน้อยลง ซึ่งจะทำให้อัตราการอยู่โรงพยาบาลลดลงด้วย ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “กรณีการแพร่ระบาดของ โควิดที่เขตคลองเตย ผมได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด โดยมีผู้ติดเชื้อไปแล้วเป็นจำนวนมากหลายรายอยู่ในชุมชนแออัดที่แพร่ระบาดในครอบ ครัว และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ในช่วงบ่าย ผมได้เรียกประชุมกับทีมแพทย์ที่ปรึกษา กรุงเทพฯ รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการ ศบค.อย่างเร่งด่วน เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมดังนี้ 1.ให้มีการตรวจเชิงรุกในชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วนทั้ง 39 ชุมชน เน้นไปที่ที่ 20 ชุมชน ที่เกิดการระบาดโดยเร่งตรวจ ชุมชนที่มีการติดเชื้อ ให้ได้อย่างน้อย 1,000-1,500 คนต่อวัน โดยหน่วยเคลื่อนที่และรถเก็บตัวอย่างชีวะนิรภัยพระราชทาน โดยจะตรวจเชิงรุกให้ได้อย่างน้อยทั้งหมด 20,000 คน ซึ่งได้ดำเนินการทันที ตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว2.หากพบผู้ติดเชื้อให้มีการแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนตามระดับอาการ เขียว เหลือง แดง เพื่อให้ศูนย์เอราวัณส่งตัวต่อเข้ารับ การรักษา ณ สถานพยาบาล สำหรับกลุ่มนั้นๆ โดยเบื้องต้น จะถูกส่งตัวไปที่ศูนย์แรกรับ-ส่งต่อ ที่สนามกีฬานิมิบุตร หรือ ศูนย์พักคอยการส่งตัว ที่วัดสะพาน เขตพระโขนง หรือโรงพยาบาลสนาม ที่ จ.สมุทรสาคร3.กลุ่มสีแดง หรือกลุ่มติดเชื้อ และมีอาการหนัก จะถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลของ กทม. ทันที ซึ่งผมมีความเป็นห่วงผู้ป่วย ในกลุ่มนี้มากที่สุด จึงได้เร่งรัดให้มีการเตรียมโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยหนักเพิ่มเติมให้เร็วที่สุด เมื่อวานนี้ ได้มีการเปิดโรงพยาบาลสนามไอซียู ที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ เพื่อเพิ่มจำนวนเตียง สำหรับผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นอีก 432 เตียง และเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยหนักได้รับการรักษาได้อย่างทันการณ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ 4.ส่วนกลุ่มผู้เสี่ยงสูง ที่ยังไม่พบว่าติดเชื้อ จะต้องกักตัวในบ้าน จนกว่าจะได้รับการแจ้งผล และให้ผู้นำชุมชนช่วยเป็นผู้ประสานงาน ส่งอาหารให้ผู้กักตัว5.วันนี้จะมีการระดมกำลัง 10-20 จุด เพื่อฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด วันละ 1,000-3,000 คนรวมให้ได้อย่างน้อย 50,000 คนภายใน 2 สัปดาห์ และจะฉีดต่อไปให้ได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ของประชาชนในชุมชนแออัดคลองเตย หรือ ประมาณ 80,000 คน6.นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่เพิ่มเติม โดยกรุงเทพมหานคร และกระทรวงกลาโหม ที่จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด 7.ให้มีการดูแลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ อย่างเร่งด่วนในการส่งอุปกรณ์ป้องกันโรค อาหาร ยา และสิ่งของจำเป็นอื่นๆให้หน่วยงานที่ต้องลงพื้นที่ 8.ให้ทุกเขตใน กทม. เตรียมการเชิงรุก โดยใช้รูปแบบโมเดลคลองเตยนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคต ทั้งหมดนี้ได้ทำไปแล้ว ผมได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันการขยายวงของการแพร่ระบาด และให้รายงานความคืบหน้ากับผมโดยตรง ผมจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินความจำเป็นในการปรับแผนการควบคุมสถานการณ์หากมีความจำเป็น เป้าหมายคือการจำกัดวงการแพร่ระบาดให้เล็กที่สุดและควบคุมให้ได้เร็วที่สุด เจ้าหน้าที่ทุกคนกำลังเร่งทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทุกคนครับ” ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงพื้นที่เขตคลองเตยเพื่อตรวจเยี่ยมการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนในชุมชนแออัดเขตคลองเตย ซึ่งเป็นวันแรก ของการให้บริการจัดรถพระราชทานเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชน พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ตนขอเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พื้นที่คลองเตย และจากข้อมูลทะเบียน พบว่าในพื้นที่ชุมชนคลองเตยมีประชาชนอาศัยประมาณ 80,000 คน ลักษณะทั่วไปของชุมชนเป็นชุมชนแออัด มีประชากรอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น ที่พักอาศัยมีทั้งที่เป็นอาคารที่พักหลายชั้น และเป็นบ้านเรือนที่ติด ๆ กัน มีการใช้พื้นที่บางส่วนร่วมกัน การระบายอากาศไม่ดี ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว สำหรับพื้นที่การฉีดวัคซีนของเขตคลองเตยในวันนี้จัดไว้ทั้งสิ้น 2 จุด จุดละ 500 คน แต่สำหรับพรุ่งนี้เป็นต้นไปจะขยายการฉีดวัคซีนให้ได้จุดละ 1,500 คน ส่วนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 นั้น ในวันที่ 5 พ.ค. จะเพิ่มจุดตรวจเป็น 4 จุด จากเดิมที่มี 2 จุด และทำให้การคัดกรองผู้ป่วยทำได้มากถึงวันละ 4,000 คน “กทม. เตรียมปูพรมฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่ ให้ได้ 70% หรือ 5หมื่นคน ส่วนกรณีที่มีรายงานว่าพบผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชุมรอบทำเนียบรัฐบาลนั้นตนยังไม่ได้รับรายงาน” ที่โรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจเทศบาลตำบลแม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วน รวมถึงคณะทีมแพทย์และพยาบาลที่ดูแลรักษาเด็กเล็กที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจ ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากพบว่ามีผู้ติดเชื้อในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลแม่คือ เป็นกลุ่มก้อน และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนเด็กเล็กอายุ 2-4 ขวบ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจเทศบาลตำบลแม่คือ ได้ปฏิบัติงานดูแลสุขภาพกาย และจิตใจของเด็กเล็กที่ติดเชื้อตลอด 24 ชั่วโมง โดยครบกำหนดการดูแลรักษาในวันนี้ (4 พ.ค. 64)และทำการส่งตัวเด็กกลับสู่ครอบครัวทั้งหมดแล้ว รวม 27 ราย โดยก่อนส่วตัวกลุบบ้าน ได้มีการจัดพิธีเรียกขวัญ แก่ผู้ปกครองและเด็กที่ติดเชื้อ วันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า รัฐบาลเดนมาร์ก โดยกระทรวงสาธารณสุขประกาศยุติการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ขนานของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตามวันเวลาท้องถิ่น เนื่องจากวิตกกังวลต่อผลข้างเคียงรุนแรง โดยกระทรวงสาธารณสุขของเดนมาร์ก ยังแถลงด้วยว่า การยุติดังกล่าว เป็นผลมาจากการวิเคราะห์ของบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่า ประโยชน์ที่จะเกิดจากการฉีดวัคซีนขนานนี้ ไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงกว่าความเสี่ยง อันเกิดจากอาการไม่พึงประสงค์ หรือผลข้างเคียงที่ร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับระบบเลือด จึงส่งผลให้ที่ประชุมของสาธารณสุขเดนมาร์ก ต้องมีมติยุติการใช้วัคซีนขนานนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีข้างต้น ส่งผลให้เดนมาร์กเป็นประเทศที่ยุติการใช้วัคซีนขนานของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เดนมาร์กก็เป็นชาติแรกอีกเช่นกัน ได้ยุติการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโควิดขนานของบริษัทแอสตราเซเนกา ที่วิจัยพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ภายหลังจากพบอาการข้างเคียงรุนแรง เป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันแก่ผู้รับการฉีด สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ดร.สุมิต เรย์ หัวหน้าแพทย์โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย แสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากระบบสาธารณสุข ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการแพทย์สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนัก กำลังจะล่มสลายในเร็วๆ นี้ โดย ดร.สุมิต ยังเปิดเผยว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดที่อินเดียกำลังเผชิญในเวลานี้ก็คือ เตียงคนไข้ไม่เพียงพอ และการขาดแคลนออกซิเจน ซึ่งปรากฏว่าผู้ป่วยโควิดหลายราย ต้องรอให้ผู้ป่วยโควิดเจ้าของเตียงคนก่อนเสียชีวิตไปก่อนจึงจะได้เตียง ทั้งนี้ปรากฏการณ์ดังกล่าว มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ หัวหน้าแพทย์คนดังกล่าว ได้เรียกร้องต่อบรรดาชาติตะวันตกและประชาคมโลกให้ช่วยเหลืออินเดียต่อกรณีปัญหาดังกล่าวโดยด่วน รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากระบบสาธารณสุขที่ใช้สำหรับการรักษาไม่เพียงพอแล้ว แม้กระทั่งกระบวนการลำเลียงผู้ป่วยโควิดที่เสียชีวิต ก็กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของอินเดีย โดยมีรายงานว่า สตรีรายหนึ่งในเมืองไฟโรซาบัด รัฐอุตระประเทศ ต้องใช้รถสามล้อบรรทุกศพสามีของเธอออกจากโรงพยาบาลกลับไปบ้าน โดยทางโรงพยาบาลไม่มีรถพยาบาลไปส่ง รวมถึงขาดแคลนอุปกรณ์สำหรับห่อหุ้มศพไม่ให้แพร่เชื้อออกไป สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในอินเดีย พบผู้ป่วยติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 20,282,833 ราย มากเป็นอันดับ 2 ของโลก ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวน 222,408 ราย และผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 16,613,292 ราย ขณะที่ สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจำนวน 154,195,608 ราย ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวน 3,227,188 ราย และผู้ป่วยที่รักษามีจำนวนสะสม 131,615,229 ราย โดยสหรัฐฯ พบผู้ป่วยติดเชื้อสะสมมากที่สุดในโลกจำนวน 33,230,561 ราย เช่นเดียวกับจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 ของโลกเช่นกันที่ 591,514 ราย ส่วนผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 25,909,393 ราย