"กนก" จวก "สุพัฒนพงษ์" ผลัก ปชช.ลงเหวความเสี่ยง หลังเสนอแนวคิด ล้วงเงินเก็บ ปชช. มากระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งที่ยังมองไม่เห็นอนาคต สะท้อนความขาดจริยธรรมของผู้กำหนดนโยบาย แนะ อย่ามองแค่จีดีพี ให้เน้นเพิ่มผลผลิตการเกษตร เร่งสร้างความเชื่อมั่นด้วยวัคซีน เมื่อวันที่ 4 พ.ค. นายกนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน ในฐานะดูแลด้านเศรษฐกิจต่อจากนายกรัฐมนตรี เสนอให้สร้างมาตรการแรงจูงใจให้คนที่มีเงินฝากดึงเงินออมของตนออกมาใช้สัก 5-6 แสนล้าน เพื่อดึงให้ GDP โตขึ้นเป็น 4% ว่า ตนพยายามจะเข้าใจความคิดนี้ และอยากเสนอให้วิเคราะห์ปัญหาให้ลึกกว่านี้ ก่อนที่จะนำเสนอนโยบายเพื่อให้รัฐบาลจะได้มีนโยบายที่แก้ปัญหาได้จริง และได้รับการสนับสนุนจากประชาชน การที่นายสุพัฒนพงษ์ ต้องการให้เกิดการใช้เงินจับจ่ายใช้สอยในตลาด ด้วยเงินเก็บของประชาชน ก็มีคำถามว่า มาตรการจูงใจที่จะออกมาแรงพอที่จะให้คนนำเงินเก็บออกมาใช้หรือไม่ ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ให้ลึกลงไปจะพบว่า การที่คนมีเงินเก็บ แต่ไม่นำเงินนั้นออกมาใช้ มีเหตุผลสำคัญคือ พวกเขามองไม่เห็นว่าในอนาคตโอกาสที่พวกเขาจะมีรายได้กลับเข้ามาอีกเมื่อไหร่ เมื่อไม่เชื่อมั่นว่าจะมีรายได้ในอนาคต ทุกคนจึงต้องระวังด้วยการเก็บเงินไว้สำหรับประกันความมั่นคงของตนเองก่อน ดังนั้นการที่ประชาชนจะใช้เงินจับจ่ายใช้สอยหรือไม่ จึงขึ้นกับ“ความเชื่อมั่นในอนาคต” มากกว่าการลดแลกแจกแถม เพื่อกระตุ้นให้คนใช้เงิน “ในเวลาเดียวกัน การกระตุ้นให้คนใช้เงินโดยที่ยังมองไม่เห็นอนาคต ถือเป็นความไม่รับผิดชอบต่อประชาชน เมื่อประชาชนใช้เงินเก็บไปหมดแล้ว และเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น รายได้ก็ไม่มี ตอนนั้นเงินเก็บหมดแล้ว การกระตุ้นให้ประชาชนใช้เงินเช่นนี้ถือเป็นการผลักประชาชนให้ตกลงไปใน“เหวของความเสี่ยง” ที่ผู้นำกำหนดนโยบายสาธารณะไม่ควรทำอย่างยิ่ง การเสนอนโยบายกระตุ้นการบริโภคโดยไม่เห็นอนาคต ของการมีรายได้ จึงเป็นการขาดจริยธรรมและความรับผิดชอบของการกำหนดนโยบาย” นายกนก กล่าว นายกนก ยังเสนอให้ นายสุพัฒนพงษ์ พุ่งเป้าไปที่การคสร้างความเชื่อมั่น เพื่อนำไปสู่แรงจูงใจที่ดี พร้อมระบุว่าเศรษฐกิจไทยไม่ใช่กระดานโต้คลื่น ลงทะเลแล้วไม่รู้จะเจอคลื่นยักษ์แค่ไหน จะทรงตัวต่อไปได้หรือไม่ แต่ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่เรากำหนดทิศทาง ลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหาได้ สำคัญเพียงว่าวิสัยทัศน์ถึงพอที่จะวางนโยบาย สร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนและผู้ประกอบการได้หรือไม่ ประเด็นที่ขอฝากให้ที่ประชุมระดมสมองของนายสุพัฒนพงษ์ ไปคิดด้วยคือตัวเลข GDP กินไม่ได้ แต่ผลผลิตเกษตรหรือสินค้าและบริการที่ผลิตออกมากินได้ ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกต้องจึงไม่ใช่การปั้นตัวเลข GDP แต่คือการพัฒนาผลิตภาพ (Productivity) ผ่านการลงทุนมากกว่า “ทุกเรื่องของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในยามนี้เริ่มต้นด้วย“การสร้างความเชื่อมั่นของคนไทยต่ออนาคตของประเทศ” และความเชื่อมั่นเริ่มต้นได้ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนให้ครบทุกคน ทั้งประเทศ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว