ดีเดย์ชุมชนพัฒนาใหม่และชุมชนวัดคลองเตย 1 พันคน วันต่อไป 3 พันคน/วัน ตั้งเป้า 5 หมื่นคน 70เปอร์เซ็นต์ของคนในพื้นที่ ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่คุมการระบาดได้เร็วที่สุด โดยจัด 2 จุดฉีดเดินทางสะดวก ที่โลตัสพระราม 4 และรร.วัดคลองเตย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.ระบุ จากการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 กระจายในชุมชนที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ติดๆ กันหลายหลังอย่างหนาแน่น และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัวหรือเป็นคนใกล้ชิดกับผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อเพิ่มขึ้นอีกในชุมชน กทม. จึงได้เร่งค้นหาเชื้อเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและผู้สัมผัสเสี่ยงทั้งหมด เพื่อควบคุมการระบาดให้เร็วที่สุด โดยวันนี้ (4 พ.ค.) ได้เร่ง SWAB ตรวจหาผู้ติดเชื้อในชุมชนบ่อนไก่ ชุมชนในเขตปทุมวัน 1,000 คน และชุมชนในเขตคลองเตย ผู้ค้าในตลาดคลองเตยอีก 1,000 คน และจะขยายเพิ่มศักยภาพการ SWAB ตรวจหาผู้ติดเชื้อในชุมชนเพิ่มอีกวันละ 3,000-4,000 คน จะเริ่มจากจุดที่พบการติดเชื้อจำนวนมากในชุมชนก่อน โดยสำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ ทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน (Covid manager) พาคนในชุมชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมาตรวจหาเชื้อ เพื่อยุติการระบาดให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ กทม. ได้ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยได้ตรวจในชุมชนเขตคลองเตยที่มีการระบาดจำนวนมากไปแล้ว เมื่อวันที่ 27-30 เม.ย.64 จำนวน 1,336 คน พบผู้ติดเชื้อ 99 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสมในชุมชนพื้นที่เขตคลองเตย 304 ราย และในวันที่ 3 พ.ค. 64 ตรวจหาผู้ติดเชื้อเพิ่มใน 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนสวนอ้อย และชุมชนริมคลองสะพาน 534 ราย (อยู่ระหว่างการรอผล) ผู้ว่าฯกล่าวว่า วันนี้ได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยอยู่ชุมชนพัฒนาใหม่และชุมชนวัดคลองเตย จำนวน 1,000 คนก่อน และในวันต่อไปจะฉีดให้ได้วันละ 3,000 คน เป้าหมายการฉีดวัคซีน จะฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด 50,000 คน คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากรในพื้นที่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด โดยจัดสถานที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนสามารถเดินทางไปฉีดได้อย่างสะดวก 2 จุด ที่โลตัสพระราม 4 และโรงเรียนวัดคลองเตย สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ กทม. ได้จัดเตรียมศูนย์พักคอยที่วัดสะพาน ไม่ให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายในชุมชนเพิ่มอีก เพื่อรอเคลื่อนย้ายส่งผู้ป่วยไปรักษาตามอาการที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามต่อไป นอกจากนี้ ยังได้เตรียมสถานที่กักตัว (LQ) สำหรับผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันที่ไม่สามารถอยู่บ้านได้ เช่น เด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันไม่ปะปนกับผู้อื่นที่อาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ และด้วยชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีหลายหลังคาเรือนอยู่ติดๆ กัน อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว กทม.จึงได้เร่งดำเนินการทั้งการตรวจค้นหาเชิงรุก และฉีดวัคซีน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดให้เร็วที่สุดเหมือนที่ตลาดบางแคและทองหล่อ