ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นใหม่โดยทีมวิจัยจากอิตาลี ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัยของรัฐบาลอิตาลี พบ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนได้ผลน้อยลง งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยตรวจระดับภูมิคุ้มกันร่างกายต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 (Anti SARS-Cov2 antibodies) ภายหลังจากได้รับวัคซีนประเภท COVID-19 mRNA ของ Pfizer/BioNTech ครบ 2 เข็ม ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 86 คน
ซึ่งผลการศึกษาพบว่าคนที่สูบบุหรี่จะมีระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ยอยู่ที่ 1,099 U/ml ในขณะที่คนที่ไม่สูบบุหรี่จะอยู่ที่ระดับ 1,921 U/ml หรืออาจจะกล่าวได้ว่าคนที่สูบบุหรี่หลังจากได้รับวัคซีนแล้วระดับภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสโควิด-19 จะขึ้นต่ำคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 40% นอกจากนี้งานวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ว่า คนอ้วนหรือคนที่มีความดันโลหิตสูงก็มีแนวโน้มที่ระดับภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีนจะได้ผลน้อยกว่า
ทั้งนี้ ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่ า ทาง พญ.มิกิโกะ วาตานาเบะ หัวหน้าทีมวิจัย ตั้งข้อสังเกตว่าการที่คนสูบบุหรี่มีระดับภูมิคุ้มกันขึ้นต่ำกว่าคนไม่สูบบุหรี่นั้นคล้ายกับกรณีของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่พบผลคล้ายกันคือภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ของคนสูบบุหรี่จะลดลงอย่างรวดเร็วกว่าคนไม่สูบบุหรี่ ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการสูบบุหรี่ที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานไม่ปกติ เป็นผลทำให้เกิดการติดเชื้อโรคต่างๆ ง่ายกว่าคนไม่สูบ อย่างไรก็ตาม กลไกที่ทำให้คนสูบบุหรี่ตอบสนองต่อวัคซีนป้องกันโควิด-19 น้อยกว่าคนไม่สูบบุหรี่นั้นจำเป็นต้องมีการศึกษารายละเอียดต่อไป
สำหรับรายงานกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา สรุปชัดเจน ว่า สารเคมีจากควันบุหรี่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายและปอดลดลง เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อของปอด และทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันอีกหลายๆ โรค และหากเลิกสูบบุหรี่ภายในระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเริ่มทำงานดีขึ้น โดยปอดจะกลับมาทำงานดีขึ้น ช่วยกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นในระหว่างที่คอยรับการฉีดวัคซีน คนที่สูบบุหรี่จึงควรเลิกสูบทันที ซึ่งนอกจากจะลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ลงปอดรุนแรงแล้ว การเลิกสูบบุหรี่ยังจะทำให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ได้เต็มที่เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนอีกด้วย
ด้านนายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) กล่าวว่า โควิด-19 รอบนี้หนักกว่าสองรอบที่ผ่านมา ชัดเจนว่าคลัสเตอร์จากแหล่งอบายมุข ร้านเหล้า ผับ บาร์ บ่อนพนัน เป็นจุดของการแพร่เชื้อ ซึ่งประชาชนกำลังจับตาว่าผับบาร์ไฮโซย่านทองหล่อ รัชดาฯ นนทบุรี นครราชสีมา สงขลา ภูเก็ต หรือเชียงใหม่ ที่เป็นคลัสเตอร์สำคัญๆ ในครั้งนี้ ผู้รักษากฎหมายจะสามารถเอาผิดคนที่เกี่ยวข้องได้มากน้อยแค่ไหน
โดย นายชูวิทย์ กล่าวต่อ ว่า จากข่าวในช่วงโควิดรอบใหม่เดือนเมษายน 2564 รวบรวมโดยเว็บไซต์ stopdrink พบว่า มีข่าวผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 134 ข่าว เฉลี่ยวันละ 5 ข่าว ส่วนใหญ่เป็นข่าวการติดเชื้อโควิด-19 กว่าร้อยละ 60 ที่เหลือเป็นข่าวความรุนแรงในครอบครัว อุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท และล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อพิจารณาข่าวโควิด-19 ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้อง พบเป็นข่าวคลัสเตอร์สถานบันเทิง ผับ บาร์ ร้านเหล้า (ย่านทองหล่อ-รัชดาฯ นครราชสีมา นนทบุรี สงขลา ภูเก็ต ฯลฯ) รวมถึงข่าวการแพร่เชื้อต่อจากคลัสเตอร์เหล่านี้ 20 ข่าว หรือร้อยละ 26 ที่น่าตกใจคือ เป็นข่าวติดเชื้อจากการตั้งวงกินดื่มกันเองตามบ้าน ริมหาด งานบวช งานบุญ งานศพ สูงถึง 56 ข่าว หรือร้อยละ74 สะท้อนว่าการตั้งวงสังสรรค์เป็นอีกปัญหาใหญ่ จึงอยากวิงวอนพี่น้องประชาชนให้งดการตั้งวงกินดื่มในช่วงนี้อย่างเด็ดขาด ขอให้คิดไว้เสมอว่าคนที่นั่งกินกับคุณอาจจะติดเชื้อมา และทางที่ดีลด ละ เลิกจะดีที่สุด
อีกทั้งการแพร่ระบาดที่ถือว่าร้านเหล้า ผับ บาร์ วงเหล้า สัมพันธ์กันอย่างชัดเจนกับการแพร่เชื้อนั้น อีกด้านหนึ่งงานวิชาการทั่วโลกยืนยันว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีส่วนทำลายภูมิคุ้มกันในร่างกาย เพราะไม่สามารถตรวจจับ กำจัดและทำลาย หรือต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 รวมทั้งทำให้ความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อบกพร่องด้วย นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังเข้าไปทำลายอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของคนที่ดื่มให้เสื่อมทำงานผิดปกติ เมื่อสัมผัสเชื้อและแพร่เชื้อทำให้อาการติดเชื้อรุนแรงขึ้น ยังไม่นับพฤติกรรมเสี่ยงสารพัดจากการขาดสติ กลายเป็นภาระของหมอและพยาบาล