ศดปช.วังซ้าย จ.ลำปาง เดินหน้าให้คำแนะนำเกษตรกรตรวจหาค่าวิเคราะห์ดินเพื่อใช้ปุ๋ยให้เหมาะสม ตามโครงการ One Stop Service หลังทำแล้วได้ผลผลิตเพิ่ม แต่ต้นทุนลดกว่า 20% จากนโยบาย Thailand 4.0 และยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาล รวมทั้งนโยบายการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ ที่จะนำไปสู่การเกษตรอัจฉริยะ ด้วยการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง เหมาะสมตามความอุดมสมบูรณ์ของดินและความต้องการของพืช ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป อันจะทำให้ต้นพืชมีความแข็งแรง ต้านทานต่อการเข้าทำลายของศัตรูพืชได้ในระดับหนึ่ง และช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดตั้งศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่บริหารจัดการโดยเกษตรกรจำนวน 882 ศูนย์ ใน 77 จังหวัด ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนขยายผลการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินไปสู่ชุมชน ทั้งนี้ ในปี 2564 กรมส่งเสริมการเกษตรวางแนวทางการส่งเสริมให้ ศดปช. ที่มีความเข้มแข็งสามารถพัฒนาต่อยอด ดำเนินธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชนภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) เพื่อให้เกิดรายได้ที่มีความยั่งยืน และเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนขยายผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งปัจจุบัน มี ศดปช. ที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด นายธนพล วงศ์แก้ว ประธานศูนย์จัดการดินและปุ๋ยชุมชนวังซ้าย อ.วังเหนือ จ.ลำปาง หนึ่งใน ศดปช.ที่ร่วมโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) เปิดเผยว่า ศดปช. วังซ้ายจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 มีสมาชิกเริ่มต้น 20 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรทำนา ทำสวน ทำไร่ เพื่อขยายผลการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด โดยเบื้องต้นให้สมาชิกดำเนินการทดลองในพื้นที่เกษตรของตนเองจำนวนรายละ 1 ไร่ เพื่อเปรียบเทียบกับการใช้ปุ๋ยปกติ ซึ่งทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านต้นทุนการผลิตที่ลดลงกว่า 20% พืชที่ปลูกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนตามความต้องการ ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ต่อไร่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ยกตัวอย่างการทำนา จากเดิมเคยได้ผลผลิตเฉลี่ย 700 กิโลกรัมต่อไร่ก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 กิโลกรัมต่อไป กระทั่งเมื่อปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้ามาส่งเสริมโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ต่อยอด ศดปช. ที่มีศักยภาพให้สามารถดำเนินธุรกิจในการจัดหาปุ๋ยที่มีคุณภาพใช้ในชุมชน ทางศูนย์ฯ จึงได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่และกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ต่างๆ ได้ทราบถึงความเป็นมาของโครงการและประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ ส่งผลให้มีสมาชิกแปลงใหญ่ลำไย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา สมัครเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีสมาชิกเป็น 70 กว่าราย โดยทางศูนย์ฯ ได้จัดอบรมองค์ความรู้ด้านการตรวจวิเคราะห์ดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้กับสมาชิก โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาร่วมเป็นวิทยากรและให้คำแนะนำในด้านต่างๆ อีกทั้งยังสนับสนุนน้ำยาตรวจวิเคราะห์ดิน แม่ปุ๋ย เป็นทุนตั้งต้นให้แก่ศูนย์ และขณะนี้อยู่ระหว่างจัดของบประมาณจัดซื้อเครื่องผสมปุ๋ย เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้เพียงพอต่อความต้องการของสมาชิกและจำหน่ายปุ๋ยให้กับเกษตรกรทั่วไป เพื่อให้เกิดรายได้ในชุมชนอีกช่องทางหนึ่ง สำหรับการบริหารจัดการ ทางศูนย์ฯ จะให้สมาชิกถือหุ้นรายละ 2 หุ้น หุ้นละ 100 บาท เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมและเพื่อใช้ในการบริหารจัดการสำหรับจัดซื้อแม่ปุ๋ย และค่าดำเนินการผลิตปุ๋ย ซึ่งในเบื้องต้นระหว่างรอเครื่องผสมปุ๋ยจากภาครัฐ ทางศูนย์ฯ ได้ประยุกต์ใช้เครื่องผสมปูนเป็นเครื่องผสมปุ๋ยไปก่อน และจะจำหน่ายปุ๋ยให้กับสมาชิกตามคำสั่งซื้อและให้บริการผสมตามค่าวิเคราะห์ดินของเกษตรกรแต่ละรายเท่านั้น โดยศูนย์ฯ จะบวกค่าดำเนินการเพิ่มจากต้นทุนแม่ปุ๋ยกระสอบละ 30 บาท เพื่อเป็นค่าดำเนินการ ค่าบริหารจัดการในรอบต่อไป และจะปันผลประจำปีคืนให้กับสมาชิกทุกราย “แผนการบริหารจัดการ One Stop Service ของศูนย์ฯ ในอนาคต จะขยายผลไปยังกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และจะกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาให้ความสำคัญกับการตรวจวิเคราะห์ดินเพื่อจะได้ใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับดินและพืชที่ปลูกมากขึ้น เพราะเกษตรกรจะได้รับประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มผลผลิตที่เห็นผลได้ชัดเจน และเมื่อได้รับเครื่องผสมปุ๋ยมาแล้ว ทางศูนย์ฯ ก็จะสามารถให้บริการผสมปุ๋ยได้ในปริมาณเพิ่มขึ้น ให้เพียงพอต่อความต้องการของสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยที่ถูก แต่มีคุณภาพแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกของศูนย์ฯ ที่เข้ามาทำงานและยังมีเงินปันผลคืนกลับสู่สมาชิกอีกด้วย”นายธนพล กล่าว นอกจากนี้ นายกมินทร์ พงษ์ทิตย์ รองประธานแปลงใหญ่มันสำปะหลัง อ.วังเหนือ จ.ลำปาง สมาชิกแปลงใหญ่มันสำปะหลัง อ.วังเหนือ สมาชิกในกลุ่มมี 83 ราย พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังรวมประมาณ 4,000 ไร่ หนึ่งในผู้หันมาใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน กล่าวว่า สำหรับตนเองเริ่มใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังดีขึ้น โดยที่ต้นทุนลดลงประมาณร้อยละ 50 ในปีถัดมานอกจากมีเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอวังเหนือ สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนวังซ้าย คอยให้ความรู้ในการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้กับเกษตรกรในชุมชนแล้ว ยังมีผู้ประกอบการโรงงานแป้งมันสำปะหลัง สนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ส่งผลให้ปีนี้สมาชิกแปลงใหญ่มันสำปะหลังทั้ง 83 ราย หันมาใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินทั้งหมด และใช้บริการตรวจวิเคราะห์ดินของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนวังซ้ายด้วย ทั้งนี้ คาดว่าเร็วๆ นี้จะเกิดการขยายผลสู่พืชชนิดอื่นๆ ในพื้นที่อีกด้วย