ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้มีความห่วงใยความปลอดภัยด้านสุขภาพของพี่น้องแรงงาน พร้อมให้การดูแลผู้ประกันตน ที่มีกว่า 16.5 ล้านคน โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดสถานที่และสถานประกอบการกิจการเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 ให้ได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เหตุสุดวิสัย ตามประกาศกฎกระทรวงอย่างเต็มที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้กำชับให้ สำนักงานประกันสังคม ดูแลและเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตนพร้อมให้บริการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยแก่ผู้ประกันตน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย การให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล ตามประกาศ "กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจาก มีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563" เต็มที่ ทั้งนี้ ให้นายจ้างยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยได้ให้ผู้ประกันตนทาง e-Service น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงความพร้อมในการดูแลผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมเร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อน ให้ผู้ประกันตนพร้อมให้บริการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยแก่ผู้ประกันตน ตามประกาศ "กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563" ส่งผลให้ลูกจ้างไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้าง หยุดประกอบกิจการ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติและผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้นมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน โดยขั้นตอนการขึ้นทะเบียน ผู้ประกันตนต้องดำเนินการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนโดยกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้และแนบสำเนาสมุดบัญชี เงินฝากประเภทออมทรัพย์ของตนเอง แล้วนำส่งให้นายจ้างรวบรวมแบบฯ เพื่อบันทึกข้อมูลลูกจ้างตามแบบฯ สปส.2-01/7 และหนังสือรับรองการ ในระบบ e-Service บน www.sso.go.th และส่งเอกสารทั้งหมดให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัด เขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service ทั้งนี้ นายจ้าง ผู้ประกันตน มีข้อสงสัยติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคมเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบภาวะวิกฤตโควิด-19 ทุกด้าน เพื่อหาแนวทางกำหนดมาตรการแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาล เพื่อเร่งเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนนายจ้าง และผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ให้รวดเร็วที่สุด