เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ระทมผวากับฝูงกระรอกบุกแทะลูกทุเรียนอ่อนหล่นเกลื่อนต้น ต้องใช้ตาข่ายมาล้อมลูกต่อลูก เพื่อป้องกันหวังขาย ฟื้นตัวช่วงโควิด
วันนี้ ( 3 พ.ค. 64 ) ตาข่ายเหล็ก ที่นำมาทำตะแกรงกลม ๆ เพื่อนำไปห่อหุ้มผลทุเรียนที่กำลังออกใกล้เก็บเกี่ยวได้อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ห้อยอยู่ตามต้นจำนวนมาก ซึ่งเป็นแนวคิดของเกษตรกรชาวสวนทุเรียน หมู่ที่ 5 ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เพื่อป้องกันสัตว์อย่างกระรอกมากัดแทะกัดกินจนลูกทะเรียนอ่อนร่วงหล่นได้รับความเสียหายจำนวนมาก
ด้วยสภาพดินและป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ติดกับเขตพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน เกษตรกรสามารถปลูกผลไม้ได้หลากหลายชนิด เช่น ทุเรียน กระท้อน เงาะ มังคุด ลองกอง โดยเฉพาะทุเรียนแถบนี้นับมีปลูกกันมาก มานานหลายปีแล้ว แต่ละสวนบางปีก็อาจจะเจอกับโรคที่เกิดจากเชื้อราของต้นทุเรียน ทางเจ้าหน้าที่เกษตรก็จะเข้ามาช่วยแนะนำและแก้ไขปัญหาให้ แต่สำหรับสวนบางแห่งจะมีปัญหาเรื่องของสัตว์เข้ามากัดแทะกินจนทำให้ผลไม้เสียหาย ยากที่จะแก้ไขได้
อย่างสวนของนายสำรวย กุลไทย อยู่เลขที่ 86 หมู่ 5 ต.ยางหัก ซึ่งมีเนื้อที่ปลูกผลไม้อยู่ประมาณ 37 ไร่ มีผลไม้หลายชนิดที่กำลังออกดอกออกลูกอยู่เต็มต้น โดยเฉพาะทุเรียนที่ปลูกไว้หลายร้อยต้น กำลังติดดอก ออกลูกอยู่หลายรุ่น มีทั้งลูกเล็ก ลูกขนาดกลาง ขนาดใหญ่ที่ใกล้จะแก่รอการเก็บเกี่ยวอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ทุกปีไม่เคยมีปัญหา เก็บขายนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวชิมกันถึงในสวนได้เงินหลายแสนบาท
แต่มาปีนี้ต้องมาเจอปัญหาฝูงกระรอกจำนวนมาก บุกเข้ามากัดเจาะแทะกินลูกอ่อนขนาดพอดี จนทุเรียนร่วงหล่นเสียหายเกลื่อน แม้เจ้าของสวนจะปลูกกล้วย มะละกอไว้บริเวณชายป่าติดกับสวนทุเรียนเพื่อไว้หลอกล่อเบนความสนใจให้กระรอกไปกินผลไม้ที่ปลูกไว้แทน ซึ่งปีที่ผ่านมาก็ได้ผลดีมีปัญหาถูกรบกวนน้อยมาก แต่มาปีนี้เกิดไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และพื้นที่ใกล้เคียง ส่งผลทำให้อาหารในป่าถูกทำลายหมดไป ทำให้ฝูงกระรอกไม่มีอาหารกินจึงได้ออกมาหาอาหารบริเวณชายป่าแทน โดยพยายามเลือกเจาะลูกทุเรียนที่เริ่มมีพูประมาณ 2 -3 พู จนร่วงเกลื่อนต้น ถูกเจาะกินต้นละไม่ต่ำกว่า 5 – 6 ลูก
นางวิไล กุลไทย อายุ 49 ปี เกษตรกรชาวสวนทุเรียน กล่าวว่า ปีนี้กระรอกจะลงมาเจาะกินลูกทุเรียนเร็วกว่าปกติที่ผ่านมา ซึ่งเคยลงมากินก่อนที่จะตัดทุเรียนขายประมาณ 1 เดือน แต่มาปีนี้ได้นำตะแกรงเหล็กมาห่อหุ้มล้อมลูกทุเรียนไม่ทัน เพราะส่วนหนึ่งอาจเกิดจากไฟป่าที่ลุกไหม้ภูเขาด้านหลัง ทำให้อาหารในป่าไม่มีแล้วทำให้กระรอกก็เริ่มลงมารบกวนในสวน ปีนี้ทุเรียนออกเร็วกว่าเงาะและมังคุด ก็เลยเข้ามากินทุเรียนก่อน ซึ่งปกติปีที่แล้วจะใช้ตาข่ายลวดห่อล้อมลูกทุเรียนไว้ทีละลูก มาปีนี้จึงห่อลูกทุเรียนไม่ทัน ทำให้หล่นเกลื่อนเสียหายเยอะมากไม่ต่ำกว่า 50 ลูก บางต้นยังห่อไม่เสร็จเลย สำหรับต้นทุเรียนที่เป็นลูกแล้วปลูกไว้ประมาณ 150 ต้น ยังมีต้นเล็ก ๆ ทยอยเจริญเติบโตอีกส่วนหนึ่ง รวม ๆ เกือบ 300 ต้น
ได้แก้ปัญหาใช้ลวดตาข่ายมาตัดห่อให้เป็นกรงล้อมห่อทุเรียนทีละลูก ถ้ามีทุเรียนพันลูกก็จะต้องห่อให้หมดพันลูก ส่วนลูกที่ไม่ห่อจะอยู่ปลายกิ่งห่อไม่ถึง กระรอก็จะเจาะกินไป ตอนนี้เสียหายเยอะขนาดทุเรียนยังไม่แก่ก็ยังโดนไปมากกว่า 50 ลูก ขณะที่ยังห่อลูกทุเรียนไม่เสร็จเลย คงเสียหายมากกว่านี้ ส่วนสวนคนอื่นคงจะโดนบ้างแต่อาจไม่ค่อยเยอะเท่าสวนนี้ เพราะที่นี่อยู่ติดป่าภูเขา
สำหรับช่วงทุเรียนที่แก่สุกนั้นจะอยู่ประมาณต้นเดือนกรกฎาคม รอบแรก และมารอบที่ 2 ประมาณ ต้นเดือนสิงหาคม อาจจะมีรอบที่ 3 อีก เพราะปีนี้ทุเรียนออกหลายรุ่นมาก นอกจากนี้ยังมีเงาะ มังคุดที่ดกมาก จะแก่สุกประมาณช่วงปลายเดือนนี้ อย่างทุเรียนพันธุ์หมอนทองขายหน้าสวนกิโลกรัมละ 200 บาท ที่ขายราคานี้เพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ต้องซื้อลวดตาข่ายมาตัดล้อมลูกทุเรียนเพิ่มต้นทุนอีก ราคาลวดตะข่ายก็ปรับราคาขายขึ้นจากปีที่แล้วอีก เคยซื้อม้วนละ 440 บาท ปีนี้ปรับมาเป็นม้วนละ 550 บาทตะข่าย 1 ม้วน ตัดไปล้อมได้ประมาณ 25 ลูก
สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากมาเที่ยวชิม ชมสวนผลไม้สด ๆ จากสวน ลุงรวย มาชิม เงาะ มังคุด ได้ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วนทุเรียนต้องรอต้นเดือนกรกฎาคม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ 081-8116101