ผ่าน 100 วัน ไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับ การบริหารประเทศของคณะรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และมีนางกมลา แฮร์ริส เป็นรองประธานาธิบดี ภายหลังจากที่ทั้งสองคน ได้ประกอบพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี ไปเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ต้นปีนี้ นับถึงวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา ก็ครบ 100 วัน ตามธรรมเนียมที่กำหนดระยะเวลาบริหารประเทศช่วงสั้นๆ ระยะต้นๆ ว่าจะเป็นไปอย่างไร ก่อนที่จะประเมินผลงาน และกำหนดทิศทางการบริหารต่อไป ในช่วงกลางเทอม คือ 2 ปี และ 4 ปี ครบวาระของการดำรงตำแหน่ง ว่ากันในส่วนของประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งได้ประเมินผ่านผลโพลล์ หรือการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยสำนักต่างๆ เมื่อช่วงก่อนหน้า เช่น หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ สำนักข่าวเอบีซีนิวส์ และสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี เป็นต้น ก็ต้องถือว่า นายไบเดน “สอบผ่าน” สำหรับการบริหารประเทศในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในห้วง 100 วัน หรือ 3 เดือนกว่าที่ผ่านมา โดยประชาชนชาวอเมริกันกลุ่มตัวอย่างจำนวนร้อยละ 52 – 53 ตอบว่า ชื่นชอบในผลงานการบริหารประเทศของประธานาธิบดีไบเดน ในช่วง 100 วันแรกนี้ ส่วนผู้ที่ไม่ชื่นชอบมีจำนวนร้อยละ 39 - 42 ส่วนรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ปรากฏว่า สถานการณ์ไม่ใครดีนัก สำหรับ ความคิดเห็นและคะแนนนิยมที่เธอได้รับ หลังผ่านพ้น 100 วันแรกที่ได้ดำรงตำแหน่ง เพราะได้คะแนนนิยมต่ำกว่ากึ่งหนึ่ง ในการสำรวจโพลล์ ความคิดเห็นประชาชนชาวอเมริกัน โดยการสำรวจโดยสำนัก “ราสมุสเซน รีพอร์ต” บริษัทสำรวจความคิดเห็น หรือการทำโพลล์ ชื่อดัง ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองแอสบิวรี รัฐนิวเจอร์ซีย์ ประเทศสหรัฐฯ ได้สอบถามความคิดเห็นประชาชนคนอเมริกัน เกี่ยวกับผลงานการบริหารประเทศของนางกมลา แฮร์ริส ในฐานะรองประธานาธิบดี หรือผู้นำหมายเลขสองของประเทศ ผลสำรวจ “ราสมุสเซน รีพอร์ต” โพลล์ ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามร้อยละ 46 บอกว่า “ชื่นชอบ” ในผลงานของรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามว่า “ไม่ชื่นชอบ” มีจำนวนร้อยละ 51 ใช่แต่เท่านั้น ในจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่า “ไม่ชื่นชอบ” ต่อนางกมลานั้น ก็ปรากฏว่า ร้อยละ 43 ตอบว่า “ไม่ชื่นชอบเป็นอย่างมาก” อีกต่างหากด้วย ก็ต้องถือว่า นางกมลา สอบไม่ผ่าน สำหรับ การบริหารประเทศในฐานะรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตลอดช่วง 100 วันแรกนี้ นอกจากนี้ ทาง “ราสมุสเซน รีพอร์ต” ยังได้สำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกัน ถึงกรณีที่ว่า ถ้าหากมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นกับประธานาธิบดีไบเดน จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานาธิบดีได้ ส่งผลให้นางกมลา ซึ่งดำรงตำแหน่ง “รองประธานาธิบดี” ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ “ประธานาธิบดี” แทน จะคิดเห็นเป็นประการใด ผลปรากฏว่า ร้อยละ 50 ของกลุ่มตัวอย่าง ตอบว่า นางกมลา มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่จะก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีแทนนายไบเดน หากนายไบเดน เป็นอะไรไปจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีได้ ในจำนวนร้อยละ 50 ซึ่งถือเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง ก็มีแยกย่อยออกไปอีกว่า ร้อยละ 9 ของจำนวนข้างต้นนั้น เห็นว่า นางกมลาไม่เหมาะสมอย่างมากๆ ที่จะมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัวนี้ นั่น! เป็นคำตอบของกลุ่มตัวอย่างที่ฝักใฝ่การเมือง คือ สนับสนุน พรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่งในสหรัฐฯ คือ พรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ฝักใฝ่ คือ เป็นอิสระ จากพรรคการเมือง ปรากฏว่า ถึงร้อยละ 60 ตอบว่า นางกมลาไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แทนนายไบเดน โดยการสำรวจความคิดเห็น หรือการทำโพลล์ ในประเด็นเรื่องที่จะให้นางกมลา ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แทนนายไบเดน ก็มาจากกระแสเรื่องความวิตกกังวลต่อสุขภาพของประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งถูกบันทึกว่า เป็นประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ คือ 78 ปี แน่นอนว่า อายุอานามขนาดนี้ ก็ย่อมมีโรคประจำตัว แถมอาจจะยังมีหลายโรครุมเร้าอีกต่างหากด้วย นอกจากนี้ ยังเคยมีเหตุการณ์เมื่อช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ที่ปรากฏว่า ประธานาธิบดีไบเดน พูดจาสับสนเลอะเลือน วกไปวนมา จนมีหลายคนสงสัย พร้อมกับตั้งข้อสังเกตุในประสิทธิภาพการทำงานของ “สมอง” ของประธานาธิบดีผู้เฒ่ารายนี้ ถึงขนาดสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันชนกันเลยทีเดียวว่า นายไบเดน จะนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในทำเนียบขาว อย่างครบเทอม 4 ปีหรือไม่? ผลปรากฏว่า ร้อยละ 59 คือ เกินกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า นายไบเดน ไม่น่าจะนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ครบเทอม 4 ปี เพราะอาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพเป็นอุปสรรค ในจำนวนข้างต้นนั้น ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อว่า เป็นคำตอบที่ได้ยินจากปากของคนอเมริกันที่ให้การสนับสนุนพรรคเดโมแครต ที่นายไบเดนสังกัดอยู่ มีจำนวนมากถึงร้อยละ 49 หรือเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียวที่คิดเห็นเช่นนั้น มีเสียงกระเส็นกระสายเล็ดลอดมาว่า นางกมลา มีรอยยิ้มมุมปากเล็กๆ กับผลโพลล์ข้างต้น สำหรับโอกาสที่จะได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในแวดวงการเมืองสหรัฐฯ อีกคำรบ ในฐานะ สตรีคนแรก และสตรีเชื้อสายเอเชียที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังเคยทำสำเร็จ ในฐานะ “สตรีเชื้อสายเอเชียใต้คนแรก” ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิก หรือสมาชิกสภาซีเนตของสหรัฐฯ มาแล้ว