“ทีมธรรมศาสตร์” คว้าแชมป์โลกในการแข่งขันบริหารธุรกิจของ MIT ผ่านเกมบริหารโรงงานเสมือน วางกลยุทธ์สุดเฉียบ! จบสองวันเหลือเงินสดมากที่สุด เอาชนะคู่แข่ง 61 ทีมทั่วโลก นักศึกษาโครงการปริญญาโททางบริหารธุรกิจ (MBA) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ในนามทีม “tbs-cm1” สามารถเอาชนะผู้เข้าร่วมแข่งขันอีก 61 ทีมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน “บริหารธุรกิจผ่านเกมจำลอง” ในรายการ Operations Simulation Competition 2021 (OpsSimCom 2021) ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับโลกที่จัดขึ้นโดย MIT Sloan School of Management สถาบันในเครือ Massachusetts Institute of Technology (MIT) สำหรับการแข่งขันดังกล่าว จะเปิดให้ผู้เข้าแข่งขันทำการบริหารโรงงานเสมือน ผ่านเกม Medica Scientific เป็นระยะเวลา 2 วัน โดยเวลาในตัวเกมจะแข่งขันกันทั้งสิ้น 388 วัน แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1. ช่วงข้อมูลเริ่มต้ม 50 วัน 2. ช่วงที่ผู้เข้าแข่งขันสามารถเข้าไปบริหาร 288 วัน 3. ช่วงที่ห้ามไม่ให้บริหาร แต่ดูผลของการวางแผนอีก 50 วัน ซึ่งจะตัดสินผลแพ้ชนะจากทีมที่มีเงินสดเหลือมากที่สุด นายอิสระ รุ่งวิทยกุล สมาชิกในทีม “tbs-cm1” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ความยากของเกมนี้อยู่ที่มี 2 ไลน์การผลิต และมีความผันผวนด้านราคาขายในตลาด นอกจากนี้ข้อมูลในส่วนของ 50 วันแรก ยังไม่เพียงพอต่อการวางแผนดำเนินธุรกิจ จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ที่แม่นยำ เพราะการตัดสินใจ 1 ครั้ง จะมีผลต่อเกมถึง 6 วัน และยังต้องมีมุมมองด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resource) และการเงิน (Finance) ด้วย เนื่องจากทุกทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันสามารถกู้เงินได้โดยไม่มีวงเงินจำกัด แต่จะต้องเสียดอกเบี้ยถึง 36.5% ต่อปี และค่าธรรมเนียมอีก 2% ฉะนั้นการตัดสินใจกู้เงินมาลงทุนจึงเป็นสิ่งที่ต้องรอบคอบมาก หากกู้มากเกินไปจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงจนไม่มีกำไรเลย นายอิสระ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ชนะการแข่งขันคือการวิเคราะห์สภาพตลาด ต้นทุน และราคาขายที่ได้กำไรสูงที่สุด โดยทีมของเราใช้กลยุทธ์ที่เน้นการกู้เงินระยะสั้นมาลงทุนในกิจการก่อน เร่งกำลังการผลิต และลดต้นทุนให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งจากการกู้เยอะๆ ทำให้ในช่วงแรกอันดับของเราแทบจะอยู่ท้ายๆ ตารางเลย แต่ด้วยกำลังผลิตที่สูงกว่า ต้นทุนที่ไม่แพง ทำให้เมื่อมีโอกาสทำกำไร เราก็จะทำกำไรได้มากกว่าคู่แข่ง และกำไรที่เราทำได้ ก็เยอะกว่าต้นทุนทางการเงินที่ต้องเสียไป เราจึงสามารถใช้หนี้ได้หมดในวันที่ 225 ของเกม พอไม่มีหนี้แล้ว อันดับของเราก็ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นจนมาอยู่อันดับที่ 2 ในช่วง 8 ชั่วโมงสุดท้าย “จุดพลิกที่ทำให้เราชนะคือการตัดสินใจในชั่วโมงสุดท้ายของเกม โดยเราใช้ Strategy ขายสินค้าให้หมด ไม่ให้มีของเหลือ และขายเครื่องจักรทิ้งให้พอดีที่สุดที่ยังสามารถผลิตสินค้าต่อได้ทันเวลา ซึ่งผลการดำเนินงานใน 50 วันสุดท้ายคือเราไม่มีของเหลือในไลน์การผลิตเลย จึงเบียดขึ้นไปเป็นที่ 1 ได้แบบเฉียดฉิว” นายอิสระ กล่าว นายภูริภัทร์ เพชรดี สมาชิกในทีม “tbs-cm1” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในเกมนี้ ทั้งความรู้ธุรกิจโดยรวมที่ได้มาจากมหาวิทยาลัย คือเราต้องรู้ว่าเราอยากให้ธุรกิจของเราเป็นแบบไหน ทิศทางใด และต้องทำอะไรบ้าง เช่น วิชาจัดการการลงทุน ซึ่งจะเน้นไปที่ผลของการลงทุนและการจัดการความเสี่ยง รวมไปถึงทักษะการคำนวณที่ทำให้เราเลือกได้ว่าจะวางกลยุทธ์ไปในทิศทางใด เพื่อไปให้ถึงจุดที่เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ เรายังต้องมีความรู้เกี่ยวกับตัวเกม ต้องเข้าใจว่านี่เป็นเกมจำลอง ดังนั้นกฎในเกมอาจไม่ตรงตามที่เราเข้าใจเสมอไป บางครั้งอาจไม่สมเหตุสมผลในความคิดเรา แต่มันก็เป็นกฎที่ยุติธรรม ทุกทีมมีข้อจำกัดเดียวกัน ฉะนั้นเราต้องรู้จักการปรับตัวภายใต้กฎนี้ และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ ความรู้เกี่ยวกับเพื่อนร่วมทีม ใช้จุดเด่นของทุกคนมาร่วมกัน เช่น ตนเองจะดูเรื่องกลยุทธ์และแนวทางการเล่น ส่วนเพื่อนก็จะดูเรื่องการคำนวณ และแนวทางการเล่นเกมที่ดีที่สุด “ทฤษฎีหรือแนวทางการเล่นของเราไม่ใช่เรื่องลอยๆ เพราะเรามีตัวเลขมาสนับสนุนในทุกหลักการที่จะใช้ และเราทั้งสองก็มีการท้าทายความคิดของกันและกันเสมอ” นายภูริภัทร์ กล่าว นายภูริภัทร์ กล่าวด้วยว่า การเรียนต่อที่ MBA ธรรมศาสตร์มีส่วนช่วยอย่างมากที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการแข่งขันนี้ เพราะในหลายหัวข้อที่เรียนเป็นการเรียนที่ลึกและเจาะจง เคยมีคำถามว่าเหตุใดต้องเรียนลึกขนาดนี้ แต่พอถึงเวลาที่ได้นำความรู้ออกมาใช้ก็เข้าใจ การมีความรู้ที่มากพอจะทำให้การตัดสินใจถูกต้องและมีหลักการ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับใช้ในอาชีพในอนาคตด้วย