“กัญชา” พืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการตลาดสูงมาก ด้วยคุณค่ามหาศาลทั้งด้านการแพทย์ สุขภาพ โภชนาการ ความงาม ฯลฯ ทันทีที่อำนาจรัฐไฟเขียว จุฬาฯ ก็พร้อมจับมือภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งงวิจัย เดินหน้าพัฒนาสารพัดผลิตภัณฑ์จากกัญชา เมื่อภาครัฐปลดล็อคกัญชาจากบัญชียาเสพติด สถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อมก็เดินหน้างานวิจัยอย่างเต็มสูบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ริเริ่มทำคลัสเตอร์วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา(Chula C.A.N.S.) โดยมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ เข้ามาร่วมกันวิจัย นอกจากนี้ ยังตั้ง ศูนย์วิจัยยาเสพติดวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งเป็นศูนย์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศ ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO Collaborating Centre for Research and Training in Drug Dependence) ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่าในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา จุฬาฯ ผลิตงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาน้อยมาก ผิดกับปัจจุบัน (หลังปลดล็อก) ที่มีผลงานหลากหลายประเด็นและจำนวนมากนอกจากผลงานวิจัยจาก Chula C.A.N.S.แล้วคณะอื่น ๆ เช่น เภสัชศาสตร์กับ ทันตแพทยศาสตร์ ยังร่วมกันสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อพัฒนายากัญชาทางทันตกรรม เช่น ยาป้ายบรรเทาอาการอักเสบของแผลในปาก บางคณะก็สนใจการรักษาโรคระบบประสาท เช่น พาร์กินสัน โรคลมชัก เป็นต้น หาหุ้นส่วนลงขันแล้วไปต่อ ภาคเอกชน อาทิ บลูม เมดิก้า บจก. ก็หันมาลงทุนร่วมกับจุฬาฯ พัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพและความงามโดยคณะเภสัชศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ร่วมกันพัฒนาสายพันธุ์กัญชาคุณภาพเพื่อผลิตสารสกัดสำหรับตำรับยา อาหารเสริมและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวประเดิมด้วยการศึกษาสารสกัด ที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสโคโรน่า ที่มาจากกัญชาสายพันธุ์ไทย ซึ่งมีสารออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท (THC) สูงกว่ากัญชาสายพันธุ์ต่างประเทศ โดยพื้นที่ปลูกกัญชาในโครงการนี้อยู่ที่ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และล่าสุดศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ ได้ร่วมมือกับธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) พัฒนาสายพันธุ์กัญชาที่เหมาะสมสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ทั้งยังสนับสนุนการจัดตั้งโรงสกัดสารจากกัญชาที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ (Medical Grade) การจัดหาเทคโนโลยีการผลิตและจำหน่ายครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ยุทธศาสตร์หนุนเกษตรไทย ขยับออกไปนอกรั้วจุฬาฯคือโครงการนำร่อง ต้นแบบโรงเรือนปลูกกัญชาที่จังหวัดสระบุรีภายใต้การดำเนินงานของศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ เพื่อยกระดับงานวิจัยและขยายพันธุ์กัญชาคุณภาพสำหรับการแพทย์ งานพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศท้องถิ่นและงานจำแนกกลุ่มสายพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ศ.ดร.จิตรลดา อารีย์สันติชัย รองคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยาเสพติดฯ ชี้ว่าพื้นที่กว่าหนึ่งไร่ของจุฬาฯ ดังกล่าวได้รับการควบคุมคุณภาพเป็นพิเศษ เมล็ดพันธุ์ที่นำไปเพาะก็มาจากเมล็ดที่เสร็จสิ้นคดีแล้วการปลูกกัญชาเป็นแบบชีวภาพที่ปราศจากการใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น ปุ๋ยที่ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์การไล่แมลงก็ใช้สูตรเฉพาะที่คิดค้นโดยศูนย์ฯ “เป้าหมายหลักของโรงเรือนต้นแบบคือคุณภาพและปริมาณสูงสุดของสารสกัดกัญชาเราแบ่งเป็น 3 ระบบ หนึ่ง ระบบปิด (In-house) ควบคุมความชื้น อุณหภูมิและแสงจากภายนอก สอง ระบบกึ่งปิด (Greenhouse) มีที่กั้นป้องกันแมลง การระบายอากาศ ใช้แสงจากธรรมชาติ และสุดท้าย ระบบเปิด (Outdoor) ปลูกกลางแจ้ง มีกล้องวงจรปิดควบคุมความปลอดภัย” ศ.ดร.จิตรลดากล่าว นอกจากนี้ ทางโครงการยังจัดอบรมเกษตรกรในพื้นที่เป็นเวลาหนึ่งวันได้ทดลองปลูกจริงด้วยเทคนิคทางชีวภาพ เริ่มรุ่นแรกปลายเดือนเมษายน 2564 อาหารสุขภาพไอศกรีมกัญชา การนำกัญชามาใช้ในการปรุงอาหารมีมานานแล้ว แต่ปริมาณเท่าใดจึงจะไม่ส่งผลต่อสุขภาพนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาวิจัย ในเรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณกับศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ สำหรับดำเนินโครงการวิจัยการใช้กัญชาอย่างพอเหมาะในส่วนประกอบอาหาร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ นำความรู้จากงานวิจัยมาต่อยอดทำ “ไอศกรีมกัญชา” โดยนำใบกัญชา สายพันธุ์ CBD charlotte’s angelที่เหลือใช้จากโครงการคลัสเตอร์วิจัยฯ รศ.ภญ.ดร.สรกนก วิมลมั่งคั่ง ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ประธานคลัสเตอร์วิจัยกัญชาและสารธรรมชาติจากกัญชา เปิดเผยว่าไอศกรีมกัญชาของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เป็นต้นแบบของผลิตภัณฑ์จากกัญชาที่มีการควบคุมคุณภาพได้มาตรฐานแตกต่างจากอาหารที่มีส่วนผสมกัญชาตามท้องตลาดทั่วไป “ไอศกรีมกัญชาของจุฬาฯ มี 3 สูตร สูตรแรกคือกัญชาล้วน สองคือกัญชาผสมชาเขียวโฮจิฉะ และอีกสูตรคือกัญชาผสมชามัทฉะ ทั้งชาเขียวโฮจิฉะและมัทฉะก็มีกลิ่นคล้ายกัญชาอยู่แล้ว พอนำมาผสมกันก็ลงตัว” รศ.ภญ.ดร.สรกนก กล่าว โดยกรรมวิธีการทำไอศกรีมเริ่มจากกระบวนการเตรียมวัตถุดิบ การหมักซึ่งควบคุมคุณภาพตั้งแต่การปลูกแล้วสำหรับเคล็ดลับของไอศกรีมกัญชาจุฬาฯ อยู่ที่การตากแห้งด้วยกลวิธีพิเศษที่ยังคงกลิ่นเฉพาะของใบกัญชา จากนั้นจึงนำมาบดเป็นผงก่อนที่จะนำไปผลิตเป็นไอศครีมกัญชาออกวางจำหน่าย อ.ภญ.ดร.วราลี ยอดสุรางค์ ภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ผลิตไอศกรีมกัญชา กล่าวเสริมว่าไอศกรีมกัญชานี้ได้ผ่านการควบคุมปริมาณสาร THC ไม่ให้เกิน 0.2 % ตามกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขนอกจากนี้ จุฬาฯ ยังจำกัดอายุผู้ซื้อต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี พร้อมระบุโรคที่ผู้ป่วยไม่ควรรับประทาน ไอศกรีมกัญชาล็อตแรกมีเพียง 500 กระปุก วางจำหน่ายที่ร้าน Healthyplatz By Double T ของสมาคมนิสิตเก่าเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และในอนาคต คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ มีโครงการจัดอบรมการทำไอศกรีมกัญชาให้แก่ผู้ที่สนใจด้วย กัญชาศิลปกรรม “HAYAK” art toy ครั้งแรกในแวดวงศิลปะร่วมสมัยที่นำกากกัญชามาพัฒนาเป็นผลงานศิลปะที่เรียกว่า art toy คือ ตัวคาแรกเตอร์ยักษ์ชื่อ อาร มีให้สะสม 13 แบบ 13 สี สร้างสรรค์โดยนิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้สร้างสรรค์ “กากกัญชาที่ใช้สร้างผลงานมาจากกัญชาของกลางจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)โดยนำมาสกัดให้เหลือแต่กาก จากนั้นนำมาทดสอบคุณสมบัติการยึดเกาะ แล้วจึงนำมาแยกส่วนที่ละเอียดและส่วนที่หยาบ ก่อนจะนำไปผลิตเป็นชิ้นงานต่อไป” วรชัย มัทกิจ นิสิตเก่า คณะเภสัชฯ ในนามบริษัท ไทยทูเกตเตอร์ จำกัด กล่าว art toy “HAYAK” มีจำหน่ายที่ร้านสมาคมนิสิตเก่าเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ในรูปลักษณ์ของลูกบอล “กาชาปอง” แบบญี่ปุ่น หรือหาซื้อได้ตามตู้จำหน่ายของที่ระลึกอัตโนมัติ ภายใต้ชื่อ "กัญชาปอง HAYAK X CHULA C.A.N.S.” ดูรายละเอียดที่ Facebook Page: HAYAK