ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จังหวัดชลบุรี มอบหมายให้ น.อ.ณัฐวุฒิ งามวงศ์วาน รอง ผอ.ศรชล.จังหวัดชลบุรี และศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือ (ศคท.) จว.ชลบุรี ให้ น.ต.ประวิทย์ ตุ้ยด้วง จนท.ยก-ขว.ศรชล.จังหวัดชลบุรี และ จ.อ.วุฒิชัย วรสาร จนท.ธุรการ ศคท.จังหวัดชลบุรี ร่วมบูรณาการกับหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลอ่างศิลา (ชลบุรี) โดย ว่าที่ ร.ต.จงจิตร สุวรรณกระจ่าง จนท.ประมงปฎิบัติการ พร้อมกำลังพล 2 นาย นำเรือตรวจประมงทะเล ออกตรวจสอบพื้นที่รับผิดชอบป้องกันการทำประมงผิดกฏหมายในทะเล บริเวณ ต.บางทราย-ต.คลองตำหรุ อ.เมืองชลบุรี จว.ชลบุรี ตรวจพบเรือประมงอวนรุน จำนวน 2 ลำพร้อมอุปกรณ์และสัตว์น้ำที่รุนได้บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง(คลองตำหรุ) จนท.จึงแสดงตัวเพื่อทำการจับกุม ซึ่งเรืออวนรุนทั้งสองลำไม่ยินยอมให้จับกุม ได้ขับเรือเบียดไม่ให้เรือตรวจประมงเข้าเทียบข้างได้และนำเรือวิ่งเข้าไปในแม่น้ำ จนท.เกรงว่าจะเกิดอันตราย จึงเพียงทำการบันทึกภาพไว้และเลิกติดตาม ต่อมา ตรวจพบเรือประมงพื้นบ้านจำนวน 4 ลำ กำลังทำการคราดลูกหอยแครงอยู่บริเวณทะเลหน้า ต.บางทราย จนท.จึงแสดงตัวเพื่อทำการจับกุม ซึ่งเรือประมงทั้ง 4 ลำ ไม่ยินยอมให้จับกุม โดยทำการตัดตะแกรงอวนคราดหอยทิ้งแล้วนำเรือวิ่งหนีเข้าป่าโกงกาง จนท.เกรงว่าจะเกิดอันตราย จึงเลิกติดตามและทำการเก็บกู้ตะแกรงอวน พร้อมลูกหอยจำนวนหนึ่ง ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อติดตามจับกุมต่อไป ทั้งนี้ น.อ.ณัฐวุฒิ งามวงศ์วานรอง ผอ.ศรชล.จังหวัดชลบุรี และศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือ (ศคท.) จว.ชลบุรี กล่าวว่า หลังได้รับแจ้งจากเครือข่ายประมงในพื้นที่ ว่า มีการลักลอบทำประมงกฎหมายประมง ทั้งอวนรุน และคราดลูกหอยแครง ผิดพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่ออกมาบังคับใช้ ในเขตทะเลชายฝั่ง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูง ซึ่งการดำเนินการตามกฏหมายตรวจจับเรือทำประมงผิดกฎหมายทุกประเภทไม่มีการเลือกปฎิบัติ เป็นการสนองตามนโยบายรัฐบาล และจังหวัดชลบุรี ที่มีคำสั่งเร่งด่วนให้จัดการเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด เพราะทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์น้ำวัยอ่อน ถ้าโตขึ้นมาจะสร้างเศรษฐกิจประมงที่มากขึ้น หากการทำประมงที่ไม่มีความสมดุลเหมาะสม และหากปล่อยให้มีการทำประมงผิดกฎหมายแบบทำลายล้างอย่างนี้สัตว์น้ำก็จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด แม้จะเป็นวิถีชาวประมงดั้งเดิม แต่ก็พยายามทำความเข้าใจให้เปลี่ยนวิธีการทำประมงที่ถูกกฎหมาย ให้มากขึ้นเพื่อความยั่งยืนของชาวประมง