แม้โลกปัจจุบันนี้มีวิทยาการก้าวหน้า แต่ก็ใช่ว่าจะพิชิตชัยเอาชนะ “โควิด-19” หรือ “ไวรัสโคโรนา 2019” ได้ง่ายๆ ตามที่เคยวาดหวังไว้ก่อนหน้ากันเสียแล้ว
ทั้งนี้ เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้นั้นร้ายเหลือ โดยหลังจากแพร่ระบาด อาละวาด มานานนับปีกว่า แต่ก็ไม่ทีท่าว่า วิกฤติการแพร่ระบาด จะบรรเทาเบาบางลงไปแต่ประการใด โดยมีตัวเลขของผู้ป่วยติดเชื้อสะสมทั่วโลก ถึง ณเวลานี้ ก็เพิ่มขึ้นไปจนมีจำนวนมากกว่า 142 ล้านคน เช่นเดียวกับจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิต ก็เพิ่มขึ้นไปเป็นกว่า 3 ล้านคน สำหรับผลพวงของภัยร้ายไวรัสโควิดฯ แพร่ระบาดไปในพื้นที่ 219 ประเทศ / เขตการปกครอง ทั่วโลก
แถมมิหนำซ้ำ สถานการณ์แพร่ระบาดมีแต่จะลุกลามเลวร้ายหนักขึ้น แม้ในหลายพื้นที่ได้มี “วัคซีน” เข้าไปฉีดให้แก่ประชาชนจำนวนมากแล้วก็ตามโดยถ้านับถึง ณ ชั่วโมงนี้ ก็มีจำนวนมากกว่า 890 ล้านโดสด้วยกัน สำหรับวัคซีนขนานต่างๆ ที่ทางการของประเทศทั้งหลาย นำไปไล่ฉีดให้แก่ประชาชน นับตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา
ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนขนาน “สปุตนิก วี (Sputnik V)” ของ “รัสเซีย” ที่เปิดตัวไปก่อนใคร หรือขนาน “ซิโนแวค” ของ “จีนแผ่นดินใหญ่” วัคซีนขวัญใจของกลุ่มชาติกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ หรือขนาน “ไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค” และขนาน “โมเดอร์นา” ของสหรัฐฯ ที่ได้รับการกล่าวขวัญว่า ทรงประสิทธิภาพด้านการป้องกันสูงที่สุด หรือแม้กระทั่งขนานที่กำลังเป็นปัญหาต่อผลกระทบข้างเคียงเรื่อง “ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน” อย่าง “แอสตราเซเนกา” และ “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน”
ทั้งหมด ทั้งปวงของบรรดาวัคซีนขนานต่างๆ เหล่านี้ ก็ทำให้มีความคาดหวังก่อนหน้านี้ว่า จะช่วยบรรเทาวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ปรากฏว่า สถานการณ์อาละวาดของโรคโควิดฯ ยังไม่ทุเลาเบาบางลงไปแต่อย่างใด แถมมิหนำซ้ำผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสร้าย ก็ผ่านการฉีดวัคซีนครบมาแล้วทั้ง 2 โดส ตามกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายกันก็มี
อย่างกรณีของคณะแพทย์ในประเทศมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งปรากฏว่า บุคลากรทางแพทย์ถึง 40 ราย ติดเชื้อไวรัสโควิดฯ แม้ว่าผ่านการฉีดวัคซีนครบแล้วทั้ง 2 โดส สร้างความเป็นงงให้แก่วงการสาธารณสุขมาเลเซีย จน ผอ.สำนักงานสาธารณสุขของมาเลเซีย ต้องออกมากำชับเรื่องการบังคับใช้มาตรการเข้มงวด เช่น สวมใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคม กันเหมือนเดิม เหมือนก่อนช่วงที่ดีเดย์โครงการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน เฉกเช่นในช่วงขวบปีก่อนหน้า
เช่นเดียวกับ ทาง “องค์การอนามัยโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอชโอ” (ฮู) โดย “ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส” ผอ. บิ๊กบอสใหญ่ขององค์กร ออกมาเตือนประชาคมโลกว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ตลอดช่วง 2สัปดาห์ ถึง 2 เดือนที่ผ่านมานั้น ต้องถือว่า “ก้าวกระโดด” อย่างน่าใจหาย เพราะทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่แต่ละวันจนมีจำนวนใกล้แต่ระดับสูงสุดกันอีกครั้งแล้ว แม้ว่าในพื้นที่หลายๆประเทศ ดำเนินมาตรการเข้มงวดเป็นประการต่างๆ แล้วก็ตาม
ยกตัวอย่างกรณีสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ใน “ปาปัวนิวกินี” ประเทศหมู่เกาะทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก อันห่างไกล ซึ่งปีก่อนหน้ายังพบการแพร่ระบาดไม่เท่าไหร่ แต่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ กลับผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เป็นจำนวนมากวันละหลายร้อยราย ส่งผลให้ในเวลานี้ปาปัวนิวกินี มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจำนวนเกือบหมื่นรายแล้ว เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่เสียชีวิตก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะเช่นกัน
ก่อนที่ทางบิ๊กบอสใหญ่ของดับเบิลยูเอชโอ องค์การอนามัยโลก ถึงกับเอ่ยปากว่า ต้องกลับไปประเมินกันใหม่ เพื่อจัดทำคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ประชาคมโลกในอนาคตกันต่อไป สำหรับ การรับมือไวรัสโควิดฯ ที่กำลังกลายพันธุ์ ณ ชั่วโมงนี้
ก็สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า ไวรัสโควิดฯ ฤทธิ์ร้ายเหลือขนาดไหน เพราะทั้งระบาดง่าย ระบาดเร็ว และอาจรุนแรง คือ สร้างความเสียหายทางสุขภาพแก่ผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นผลจากการ “กลายพันธุ์” ของเชื้อโควิดฯ จนกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งปัจจุบันไวรัสโควิดฯ ได้กลายเป็นหลายสายพันธุใหม่ด้วยกัน อาทิเช่น
สายพันธุ์ “บี.1.1.7” หรือที่เรียกว่า สายพันธุ์อังกฤษ เพราะพบการกลายพันธุ์ครั้งแรกในประเทศอังกฤษ
สายพันธุ์ “เอ็น501วาย” หรือที่เรียกว่า สายพันธุ์แอฟริกาใต้ เพราะพบกลายพันธุ์ครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้
และสายพันธุ์ “พี1” หรือที่เรียกว่า สายพันธุ์บราซิล ตามต้นกำเนิดของพื้นที่กลายพันธุ์ คือ ประเทศบราซิล
โดยการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้ไวรัสโควิดฯ มีฤทธิ์อย่างเหลือร้าย
ทั้งนี้ เพราะนอกจากทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาดได้เร็ว และแรงขึ้นแล้ว ก็ยังส่งสัญญาท่าทีว่า จะมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนขนานต่างๆ ด้วย โดยทำให้ประสิทธิภาพด้านการป้องกันของวัคซีนลดลงไปแทบจะทุกขนาน และเป็นเหตุให้ทางบริษัทผู้วิจัยวัคซีนขนานต่างๆ ทั้งหลาย ต้องกลับไปทำการบ้าน พัฒนาคุณภาพวัคซีนกันใหม่ เพื่อนำมาใช้ในการต่อสู้กับไวรัสโควิดฯ ที่กลายพันธุ์ไปนี้กันต่อไป
ล่าสุด ทาง “ทำเนียบขาว” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโจ ไบเดน ก็ต้องออกมาประกาศที่จะทุ่มงบประมาณจำนวนมากถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาจัดสรรแจกจ่ายให้หน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุขของประเทศ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ไปจนถึงส่วนกลาง สำหรับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโควิดฯ ที่กลายพันธุ์ไปนี้ เช่น การถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิดฯ ที่กลายพันธุ์ไปจนเป็นสายพันธุ์ใหม่ การวิจัยพัฒนาวัคซีน การปรับปรุงระบบสาธารณสุขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนไป เป็นต้น เพื่อเตรียมการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิดฯกลายพันธุ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งคาดว่า จะสัประยุทธ์ต่อสู้กับโรคร้ายนี้ไปอีกหลายเพลา