บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) “โซลาร์เซลล์หรือพลังงานแสงอาทิตย์” (Solar Cell) เป็นดราม่าของคนไทยมาแต่ปลายปีที่แล้ว จากการตีข่าวการบริจาคเงินของยูทูปเบอร์ 790,000 บาท เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์ แผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์แบตเตอรี่สายไฟ ระบบออฟกริด 7.2 กิโลวัตต์ ให้แก่หมู่บ้านห่างไกลทุรกันดารภูเขาสูง 51 หลังคาเรือน บ้านแม่เกิบ ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง แม้จะเป็นเขตพื้นที่กลุ่มคนชาติพันธุ์ด้อยโอกาสก็ตาม แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของคนไทยและผืนแผ่นดินไทย จากดราม่านี้นำไปสู่การตรวจสอบโครงการโซลาร์เซลล์อื่นในพื้นที่ทุรกันดารเช่น โครงการโซลาร์เซลล์สูบน้ำหมู่บ้าน กอ.รมน. ที่มีค่าติดตั้งเฉลี่ยต่อกิโลวัตต์ที่แพงกว่า เป็นต้น จากปัญหาคุณภาพชีวิตประชาชนขั้นพื้นฐานดังกล่าวเป็นมหากาพย์การพัฒนา 60 ปีที่ขัดแย้งเหลื่อมล้ำมาสู่ใจกลางเมือง กทม.ที่ชุมชนคลองเตย(รุกที่) ไร้ไฟสาธารณะส่องสว่าง มหกรรมบริจาคดวงไฟโซลาร์เซลล์ 200 ดวงจึงเกิดขึ้นเช่นกัน ความหมายโซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) เป็น “โรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ หรือพลังงานแสงอาทิตย์” เป็นธุรกิจพลังงานขายไฟให้แก่การไฟฟ้า หรือที่ขนานกับการไฟฟ้า เป็น “ระบบออนกริด” (on-grid) ที่ผลิตไฟฟ้าได้จากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีความคงทนอายุยาวนาน 20-25 ปี แล้วเก็บกระแสไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าส่วนกลาง ไม่เหมือนโซลาร์เซลล์ตามบ้านที่ส่วนใหญ่จะเป็น “ระบบออฟกริด” (off-grid) ที่สมบูรณ์ในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบพลังงานไฟฟ้าจากส่วนกลางเพื่อจ่ายหรือใช้พลังงาน การติดตั้งอยู่กับที่ บริเวณใกล้พื้นดิน หรือ บนพื้นดินพื้นน้ำ เช่น พื้นที่ในสนามบิน หรือบนทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar Farm) เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar on Sea) ของกลุ่ม ปตท. ที่มาบตาพุด ระยอง (2563) ซึ่งแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันทั้งขนาด กำลังผลิต หรือแม้กระทั่งดีไซน์ เพื่อการกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยแผงโซลาร์เซลล์ หรือ PV (Photo Voltaic) โดยการนำโซลาร์เซลล์หลายๆ แผงมาวางเรียงต่อกัน ถือเป็น “พลังงานทางเลือก” ที่จะมาเป็น “พลังงานทดแทน” (Alternative Energy or Renewable Energy) เพราะพลังงานหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าปัจจุบันคือเชื้อเพลิงจาก “พลังงานฟอสซิล” ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ที่ใช้แล้วในอนาคตก็หมดไป นี่ยังไม่รวมไบโอดีเซล น้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil : CPO)ของกลุ่มเกษตรกรอีก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสภาวะแวดล้อมต่อโลก ข้อมูลปี 2561 พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศผลิตจากก๊าซธรรมชาติ 60% มีสัดส่วนระหว่างการผลิตเองในประเทศกับนำเข้า 4:1 โดยมีการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (Power Development Plan : PDP2010) กำหนดสัดส่วนของพลังงานทดแทนไว้ที่ 8.0 % ข้อมูลปี 2562 ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 44,443 MW จากเอกชนรายใหญ่ 34% กฟผ. 33% เอกชนรายเล็ก 21% ซื้อจากลาว, มาเลเซีย 12% ข้อมูลสะสมเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2564ระบบการใช้เชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้า กฟผ. มีสัดส่วน ที่ไม่รวมโรงไฟฟ้า VSPP ดังนี้ ใช้ก๊าซธรรมชาติ 59.13% ถ่านหิน (รวมลิกไนต์) 23.81% พลังงานหมุนเวียน (พลังน้ำ,อื่นๆ) 16.73% อื่นๆ (สปป.ลาว, มาเลเซีย, ลำตะคองชลภาวัฒนา) 0.24% ส่วนประกอบระบบโซลาร์ฟาร์ม (1) ชุดแผงโซลาร์เซลล์ ที่มีจำนวนมาก เป็นขนาดแผงที่มีกำลังมาก เพื่อลดจำนวนพื้นที่ในการติดตั้ง แผงที่ใช้เช่น ขนาด 500W 630W เป็นต้น (2) อินเวอร์เตอร์ (inverter) เป็นอุปกรณ์ที่แปลงกระแสไฟฟ้าตรงเป็นกระแสไฟฟ้าสลับในการแปลงดังกล่าว จะเกิดการสูญเสียขึ้นเสมอโดยทั่วไป ประสิทธิภาพของอินเวอร์เตอร์มีค่าประมาณ 85-90 % ควรติดตั้งอินเวอร์เตอร์ในที่ร่ม และมีพื้นที่ให้บำรุงรักษาได้เพียงพอ อินเวอร์เตอร์ที่ใช้ในระบบโซลาร์ฟาร์มนั้นเป็น central inverter มีขนาดใหญ่กำลัง เช่น ขนาดกำลัง 500 kW 630 kW เป็นต้น (3) หม้อแปลงกำลัง เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สำคัญ ใช้ในการส่งผ่านกำลังไฟฟ้าจากวงจรไฟฟ้าหนึ่งไปยังอีกวงจรโดยอาศัยหลักการของแม่เหล็กไฟฟ้า โดยปกติจะใช้เชื่อมโยงระหว่างระบบไฟฟ้าแรงสูงและไฟฟ้าแรงต่ำ เพื่อแปลงแรงดันไฟฟ้าให้อยู่ระดับแรงดันเดียวกัน ขนาดของธุรกิจโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม ปี 2555 “โซลาร์ฟาร์ม” ถือเป็นขุมทรัพย์ใหม่ในตลาดพลังงานไทย เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมคึกคัก เพราะ ปี 2558 รัฐบาล คสช. เข้ามาแก้ปัญหาที่สะสมมานาน เช่น ตั้งแต่การไล่ตรวจใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า ในเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) แบ่งเป็น 3 แบบ คือ (1) ธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer-IPP) เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระจะเป็นผู้ผลิตเอกชนที่ใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ ในการผลิตไฟฟ้า เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน โดยมีกำลังการผลิตค่อนข้างสูงเพื่อให้มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ มีผู้ผลิต IPP 27 % ของกำลังการผลิต (2) ธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Plant - SPP) เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ 10-90 MW มีผู้ผลิต SPP 15 % ของกำลังการผลิต (3) ธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (Very Small Power Plant - SPP) เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กมาก ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบต่ำกว่า 10 MW เช่นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จุดเด่นข้อด้อยโซลาร์ฟาร์ม ความเฟื่องฟูในเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ไทยที่มีมาร่วม 40 ปีฝันว่า ต่อไปกระจกโซลาร์เซลล์แบบใสหน้าจอมือถือไม่ต้องชาร์จแบตอีก สามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ หมู่บ้านแล้งจัดก็ใช้โซลาร์เซลล์สูบน้ำบาดาลใช้เพื่อการเกษตรได้ ตามโครงการ(2562) “ไฟจากฟ้าพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้” สำหรับ อปท.ช่วงนี้ “โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงการเศรษฐกิจฐานราก” งบประมาณ 45,000 ล้านเปิดโอกาสให้ อปท.ขอรับการสนับสนุนได้ ซึ่งอาจยากกว่าโครงการเศรษฐกิจชุมชน จุดเด่นข้อ “ดี” โซลาร์ฟาร์ม เช่น (1) รัฐบาลมีเงินสนับสนุนที่เรียกว่า Adder เป็นเงินสนับสนุนเมื่อโซลาร์เซลล์ที่เราผลิตไฟฟ้าออกมาขายให้รัฐจะมีการบวกเพิ่มราคาต่อหน่วยให้ โดยคิดลงทุนที่อายุการใช้งาน 25 ปี (2) เป็นพลังงานสะอาดที่ได้มาฟรี ผลิตพลังงานหมุนเวียนโดยใช้ทรัพยากรฟรี ไม่มีค่าต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ซึ่งนานๆ กว่าจะจ่ายค่าเปลี่ยนแบตใหม่ ((3) นอกจากนี้ยังช่วยผลิตไฟฟ้าในตอนกลางวันในช่วงที่มีแสง ทำให้ลดค่าไฟช่วง Peak ได้จำนวนมาก ส่วนช่วงเวลาที่หมดแสงแล้ว สามารถดึงไฟฟ้าจากการไฟฟ้ามาใช้ได้ปกติ ซึ่งในช่วงเวลาที่ไม่มีแสงหรือในช่วง Off-peak โดยส่วนใหญ่ค่าไฟฟ้าจะถูกกว่าตอนกลางวัน หรือ ช่วง Peak ในข้อดีมีมากแต่ในทางกลับกันกับข้อดีก็มี จุดด้อยข้อไม่ดีมาก เช่น (1) ประสิทธิภาพต่อพื้นที่ต่ำ (2) สูญเสียพื้นที่อาคารไปมาก แย่งที่พื้นที่เกษตรกรรม (3) เป็นเงินภาษีและเงินในกระเป๋าของผู้ใช้ไฟฟ้า ก็คือค่า Adder ที่สำคัญโซลาร์ฟาร์ม ได้รับการอุดหนุนอย่างสุดโต่งมานานกว่า 15 ปี ด้วยเงินของรัฐที่ได้มาจากภาษีอากรของประชาชน มีนักวิชาการ (2559) ตำหนิว่าเป็น “นโยบายพลังงานที่ฉ้อโกง” ผลาญงบประมาณ ความผิดพลาดเชิงนโยบายสร้างความร่ำรวยมหาศาลกับเครือข่ายธุรกิจเซลล์แสงอาทิตย์ ที่นำเข้าเซลล์ราคาถูก แต่คุณภาพต่ำเช่นจากประเทศจีน มือสองจากไต้หวัน (4) ราคาต้นทุนยังสูง ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูง เมื่อหมดอายุใช้งานจะเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก มีข้อสังเกตเล็กๆ พบว่าเนื้อในของโครงการที่ใช้ระบบโซลาร์เซลล์ยังมีการใช้เครื่องปั่นไฟฟ้าจากเครื่องยนต์น้ำมันเป็นหลักอยู่ เป็นต้น ข้อสังเกตเนื่องจากประเทศไทยใช้ไฟฟ้าแรงดัน 220 โวลต์(V) ความถี่ 50 เฮิรตซ์(Hz) เมื่อใดที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น มากกว่ากำลังผลิต ความถี่ก็จะตกลงต่ำกว่า 50Hz ทำให้ต้องเพิ่มกำลังผลิต เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง หรือผลิตได้มากกว่าที่ใช้เยอะๆ ความถี่ก็จะพุ่งสูงขึ้นกว่า 50Hz ทำให้ต้องลดกำลังผลิตลงมา ศูนย์ควบคุมกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (NCC) จะเป็นผู้ควบคุมกำลังการผลิตให้ความถี่อยู่ระหว่าง 49.5 - 50.5 Hz เพราะถ้าความถี่ต่ำหรือสูงกว่านี้จะทำให้ เกิดปัญหากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้งาน เพราะโซลาร์เซลล์ขึ้นกับแสงแดด พอแดดหมด แดดหาย เมฆบัง ก็ต้องเพิ่มกำลังผลิตจากโรง fossils มาชดเชยให้ทัน ช่วงปี 2558 รัฐบาลได้เร่งแก้ปัญหาใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงงาน ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 (รง.4) ที่ตกค้างจำนวน 1,013 MW จากทั้งหมด 3,000 MW ที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ เป็นตัวปัญหาการคอร์รัปชันเชิงนโยบายจนสำเร็จ และเข้าไปตรวจสอบผู้ประกอบการที่มีใบสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) และเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าได้รวมทั้งสิ้น 3,800 MW แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Thailand Power Development Plan: PDP) เป็นแผนแม่บทในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ว่าด้วยการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว 15 -20 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงและความเพียงพอต่อความต้องการใช้ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยคำนึงถึงนโยบายพลังงานของประเทศและปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การกระจายการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสม การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน นโยบายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ฯลฯ จะมีการทบทวนเป็นระยะๆ เพื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากสมมุติฐานเดิมหรือไม่ เพื่อจัดทำฉบับใหม่หรือฉบับปรับปรุง ซึ่งจะมีการทบทวนแผนดังกล่าวเมื่อมีการปรับปรุงค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงนโยบายที่เปลี่ยนไปของรัฐบาลอีกด้วย คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนผลิตไฟฟ้าฉบับปรับปรุง 1 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ครั้งที่ 1/2563 (ครั้งที่ 150) เมื่อวันที่19 มีนาคม 2563 ในร่างแผนพัฒนาพลังงานฯ พ.ศ. 2561-2580 รวม 5 แผนหลัก ย้อนหลังโซลาร์ฟาร์มไปสัก 10 ปีกว่า ชาวบ้านสงสัยสับสนว่าทำไมต้องมี “โซลาร์เซลล์” ราคาแพงจริงหรือไม่ มีแล้วดีมีประโยชน์จริงหรือไม่ หากมีประโยชน์จริงทำไมรัฐไม่ส่งเสริม ไม่ดำเนินการ เพราะหลังจากนี้ก็มีข่าวโครงการ “โซลาร์ฟาร์ม” (Solar Farm) ของรัฐออกมาติดๆ ยิ่งมีข้อสงสัยตามมาอีกหลายคำถามเช่น “โซลาร์ฟาร์ม” คืออะไร เกี่ยวอะไรกับ โซลาเซลล์ มันอันเดียวกันใช่หรือไม่ แล้วทำไม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯไปทำอะไรอยู่ แผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ หรือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Thailand Power Development Plan : PDP) มีกิจกรรมเหล่านี้หรือไม่ ประเทศไทยมีปัญหาการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไม่ รัฐผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการในการใช้ของประชาชนหรือไม่ อย่างไร ฯลฯ สารพัดคำถามที่ตามมาเป็นชุดๆ ตามประสาชาวบ้านที่ไม่รู้และไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลย เพราะ เหล่านี้เป็นองค์ความรู้เทคนิคเฉพาะทาง ที่ลึกซึ้งเกินกว่าชาวบ้านทั่วๆ ไปจะเข้าใจได้ ข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องเทคนิคเฉพาะที่เกินกว่าชาวบ้านทั่วไปจะเข้าใจ ซึ่งนักเทคโนแครต (Technocracy) ผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพในการกำหนดนโยบายและแผนด้านพลังงาน กลับถูกปรามาสว่า ใช้ “ความเชี่ยวชาญ” มาเป็นเกราะกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน ประเทศไทยมีความพยายามใช้ระบบโซลาร์เซลล์มาอย่างช้านาน ธุรกิจพลังงานทดแทนบูมสุดขีดในช่วงยุครัฐบาลทักษิณ (ปี 2544–2549) โครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยเดิมได้ประกาศนโยบายหยุดรับซื้อไฟฟ้าโครงการสุดท้ายไปเมื่อปี 2560 และข่าวปลายปี 2558 กองทัพบก (ทบ.) ถอนตัวชิงโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ แม้ผ่านคุณสมบัติ และข่าวปี 2559 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ไม่สามารถร่วม “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร” (Solar PV Ground Mount) ได้ เนื่องจาก ไม่มีกฎหมายให้อำนาจหน้าที่ อปท. ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ทำให้การกระตุ้นการใช้พลังงานทางเลือกของประเทศไทย ส่อล้มเหลวไม่เป็นท่า เงื่อนไขตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการรับซื้อ “ไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ” จำนวนไม่เกิน 800 MW ซึ่งแบ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าสำหรับหน่วยราชการไม่เกิน 400 MW และสหกรณ์ภาคการเกษตรไม่เกิน 400 MW โดยผู้ที่ยื่นเข้าร่วมโครงการต้องมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 5 MW ต่อโครงการ แต่ “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ.2558 (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) ระยะที่ 1 จำนวน 600 MW ภาคสหกรณ์ ถูก บอนไซผูกขาดโดยผู้มีอำนาจออกกฎ โดยนายทุนอยู่เบื้องหลัง จู่ๆ เมื่อต้นปีนี้ 2 หน่วยงานรัฐ คือ “อีอีซี” และ ทบ. ได้ประกาศเข้าร่วมหนุนโครงการ “เมกะโซลาร์ฟาร์ม” โดยเฉพาะ ทบ. เสนอที่ราชพัสดุ 4.5 ล้านไร่ แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ติดตั้งแผงโซลาร์ 30,000 MW มูลค่ากว่า 600,000 ล้านบาท โดยมีบริษัทพลังงานกว่า 30 บริษัทที่แสดงเจตจำนงในการขอร่วมลงทุนตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ท่ามกลางข้อสงสัยว่าไฟสำรองล้นประเทศแล้ว เฉพาะโครงการที่ยักษ์ใหญ่กลุ่มบริษัทกัลฟ์ (Gulf) มีส่วนเป็นเจ้าของ มีกำลังผลิตใหม่เข้าระบบมากถึง 6,940 MW เมกะโซลาร์ฟาร์มดังกล่าวจะทำได้เพียงใด เพราะปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิต 46,475 MW มีกำลังการผลิตสำรองสูงถึง 59% แต่ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดที่ 28,637 MW ที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ไทยมีไฟฟ้าสำรองเกินจากที่สำรอง 15% เป็นเกือบ 50% จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานปี 2561 ช่วง 9 เดือนแรก กำลังการผลิตไฟฟ้าจำนวน 55,117 MW แยกเป็น กฟผ. 29 % IPP 27 % SPP 15 % การนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน มี สปป.ลาว ประเทศเดียว คิดเป็น 7 % อ่านเข้าใจยากสักนิด อย่าเพิ่งสับสนในสถิติข้อมูลที่อ้าง เพราะเป็นเรื่องเทคนิคเฉพาะ