สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
ในบรรดา เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ทุกรุ่นทุกพิมพ์ พบว่า เหรียญรุ่น 3 เป็นเหรียญที่ มีจำนวนสร้างมากที่สุด และมีพิมพ์ย่อยๆ แยกออกไปมากมายหลายพิมพ์ เมื่อเปรียบเทียบกับ เหรียญรุ่นอื่นๆ
แต่เหรียญรุ่น 3 ที่ได้รับความนิยมสูงสุดและหายากที่สุด ในลำดับค่านิยมที่ใกล้เคียงกันก็คือ เหรียญเสมา พิมพ์ 2 จุด รัดประคดข้างเดียว, เหรียญเสมา พิมพ์ 2 จุด รัดประคดเต็ม และ เหรียญเสมา พิมพ์ 3 ขีดใน หรือที่บางคนเรียกว่า ‘พิมพ์กิ่งไผ่’
เหรียญเสมา พิมพ์ 3 ขีดใน หรือ พิมพ์กิ่งไผ่ เป็นพิมพ์ที่ตั้งชื่อตามจุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ ที่ปรากฏภายในเหรียญนี้ คือ ที่เหรียญด้านหน้า ตรงแถบซุ้มเหรียญด้านบน ที่มีรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลาม ตัดวางเรียงกันจำนวน 13 ช่อง ภายในแต่ละช่องของรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดนี้จะมีเส้น 3 เส้น หรือ 3 ขีด ปรากฏอยู่อย่างชัดเจน ยกเว้นช่องที่มีจุดภายในและช่องที่ติดกันทางซ้าย เส้นเหล่านี้มีลักษณะเป็นรอยขีด หรือเหมือนกิ่งไผ่ ในแนวนอน โดยแต่ละขีดจะทำมุมเอียงกันเล็กน้อย อันเกิดมาจากการแกะแม่พิมพ์ และเป็นที่มาของการเรียกชื่อเหรียญ นอกจากนี้ ยังมีจุดสังเกตอีกจุดที่จะแตกต่างจากเหรียญเสมาทั่วไป คือ ที่บริเวณเส้นบังคับขอบซ้ายขวาในแนวดิ่งของแถบซุ้มเหรียญ จะไม่มีเม็ดไข่ปลาเหมือนเหรียญรุ่นแรก และที่บริเวณงวงช้างด้านซ้ายมือหลวงพ่อทวดจะมีเส้นแตกเป็นเส้นคมๆ วิ่งจากชายจีวรผ่านงวงช้าง ไปจนถึงแนวอักขระ เมื่อพิจารณาที่ด้านหลังของเหรียญ มักจะปรากฏเส้นร่องพาดผ่านใกล้แถบหูพระอาจารย์ จากแนวระดับตาจนถึงปลายคางด้านซ้ายของพระอาจารย์
ประวัติการสร้าง เหรียญเสมา พิมพ์ 3 ขีดใน หรือ พิมพ์กิ่งไผ่ ตามที่ปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วไป ค่อนข้างจะคลุมเครือ บางกระแสบอกว่า สร้างในปี 2502 ในขณะที่บางกระแสบอกว่า สร้างในปี 2504 และระบุเป็นเหรียญรุ่น 3
ตามลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏบนพื้นเหรียญ เหรียญที่มีภาพเดิมๆ ธรรมชาติผิวรมดำ จะเหมือนกับเหรียญรุ่น 3 ทั่วๆ ไป โดยแบ่งออกเป็น 3 พิมพ์ พิมพ์ที่ 1 คือ พิมพ์สมบูรณ์ หรือพิมพ์ไม่มีผด พิมพ์นี้ปั๊มออกมาได้สวยงามและคมชัด ทั้งด้านหน้าและด้านหลังเหรียญ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเหรียญที่เกิดจากการปั๊มจากแม่พิมพ์อันแรกที่ยังคมชัดสมบูรณ์อยู่ เหรียญพิมพ์นี้ ปัจจุบันหาชมเหรียญแท้ ที่มีสภาพสวยสมบูรณ์ได้ยากมาก คาดว่าปริมาณการสร้างคงมีน้อยมาก และมีค่านิยมการเช่าบูชาสูงมาก องค์สวยๆ สภาพแชมป์ก็เกินครึ่งล้านแล้ว ส่วน พิมพ์ที่ 2 คือ พิมพ์มีผดน้อย ให้สังเกตตรงบริเวณลำแขนด้านขวา ซอกจีวร แก้ม เปลือกตาด้านขวา และเข่าขวาของหลวงพ่อทวด จะมีเม็ดผดเล็กๆ ปรากฏอยู่ และที่ขอบเส้นซุ้มลายกนกด้านขวาของหลวงพ่อจะมีก้อนเนื้อเกินเกาะอยู่ เช่นเดียวกับบริเวณร่องเส้นหน้าผาก สันนิษฐานว่า เหรียญพิมพ์นี้เกิดจากการปั๊มแม่พิมพ์หลังที่เริ่มไม่สมบูรณ์ จากการเก็บรักษาไม่ดี แต่ก็ยังไม่มากเท่า พิมพ์ที่ 3 หรือที่เรียกว่า พิมพ์มีผดมาก ซึ่งแม่พิมพ์มีความไม่สมบูรณ์อย่างมาก จึงทำให้เกิดสนิมขุมขึ้น รูพรุนกินบริเวณกว้างขึ้น เมื่อนำมาปั๊มเหรียญ จึงเกิดจำนวนเม็ดผดที่กระจายเป็นวงกว้างเพิ่มขึ้น และมีขนาดโตขึ้น โดยเฉพาะบริเวณด้านขวาของหลวงพ่อ จุดสังเกตอีกจุดของพิมพ์ที่ 2 และพิมพ์ที่ 3 คือ ริมฝีปากด้านบนของหลวงพ่อทวด มักจะบี้แบน ไม่คมชัดเหมือนกับพิมพ์ที่ 1 และสันจมูกก็ไม่โด่งคมสันเท่า
จุดที่สังเกตความแท้และเก๊ของเหรียญนี้ ก็คล้ายกับเหรียญทั่วไป คือ พิมพ์ทรงถูกต้อง ความคมชัดของตัวยันต์ อักขระ และเม็ดตา ธรรมชาติของเส้นเสี้ยนและเส้นแตกจากการปั๊ม คอหูเหรียญ รอยตัดขอบเหรียญ นอกจากนี้ยังมีจุดสำคัญที่ควรต้องจดจำก็คือ ธรรมชาติการรมดำผิวเหรียญ ต้องดูให้ออกว่ามีธรรมชาติความเดิมหรือไม่
สำหรับนักสะสมมือใหม่ที่ไม่แม่นพิมพ์และตำหนิมากนัก จุดตายจุดหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบ หรือไม่ได้สังเกต ก็คือ ด้านหลังของเหรียญรูปพระอาจารย์ทิม ที่ขอบเหรียญด้านบนที่ติดกับคอหูเหรียญ ทั้งด้านซ้ายและขวา จะมีรอยปลิ้นกลับของครีบขอบเหรียญ ซึ่งจะเป็นแทบทุกเหรียญที่เป็นเหรียญแท้ (ยกเว้นเหรียญที่สึกมากๆ อาจปรากฏไม่ชัด หรือไม่ปรากฏเลย) ครับผม