ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
หน้าที่สำคัญของผู้สื่อข่าวคือการค้นหาและรักษาแหล่งข่าว
ในช่วงที่มีม็อบต่อต้านระบอบทักษิณ ใน พ.ศ. 2549 สุณิศาได้แนะนำให้ผมได้รู้จักกับเพื่อนรุ่นพี่ของสุณิศาคนหนึ่ง เขาทำงานอยู่ในสื่อดาวเทียมช่องดังช่องหนึ่ง เขาได้ชวนผมให้ไปออกรายการเป็นคอมเมนเตเตอร์ในรายการวิเคราะห์ข่าวที่ออกอากาศเป็นประจำสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งตอนแรกผมก็อึกอักเพราะไม่แน่ใจว่าจะทำได้ดีหรือไม่ เพราะเคยแต่สอนหนังสือออกโทรทัศน์ ยังไม่เคยออกสื่อที่มีคนคอยจ้องจับผิด โดยเฉพาะกับคนที่เราต้องไปวิจารณ์ ว่าจะรู้สึกโกรธแค้นเราหรือไม่ เมื่อเราต้องไปวิพากษ์วิจารณ์เขาแรง ๆ แต่พอได้ยินประโยคที่สุณิศากระตุ้นว่า “คอมเมนเตเตอร์ไม่ต้องเก่งมากหรอก ขอแค่มีความกล้าหาญและซื่อสัตย์ก็พอ” ผมก็ตอบตกลง เพราะสุณิศาเคยชมผมว่าเป็นนักวิชาการที่มีความกล้าหาญและมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ
รายการแรกที่ผมไปออกเป็นการวิจารณ์ข่าวเรื่อง ดร.ทักษิณ ขายหุ้นในบริษัทชินคอร์ปให้กับบริษัทเทมาเสกของสิงคโปร์ หลังจากที่คุยกันถึงสาเหตุที่นักวิชาการออกมาต่อต้านและโจมตีการกระทำดังกล่าวไปพอสมควรแล้ว พิธีกรก็ถามผมในตอนหนึ่งว่า “ในความคิดส่วนตัวของอาจารย์(ตัวผม)คิดว่า คุณทักษิณชั่วมากจริง ๆ หรือ” ซึ่งผมได้ตอบไปว่า “คุณทักษิณนั้นชั่วก็เพราะคิดเอาแต่ได้ เอาแต่ประโยชน์เข้าตัว เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีว่า ใคร ๆ เขาก็ทำกัน(หลีกเลี่ยงไม่จ่ายภาษี)อย่างนี้ ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมของอภิสิทธิ์ชน ทำให้คนเอาเปรียบกันและกัน แต่ที่ชั่วร้ายไปกว่านั้นก็คือ การสร้างระบบที่ชั่ว เพราะเรื่องนี้ไม่ได้ชั่วแต่ตัวคุณทักษิณ แต่ยังได้ชั่วไปถึงลิ่วล้อบริวารรวมถึงคนที่สนับสนุนคุณทักษิณ ไม่เว้นแต่คนในครอบครัวที่อยู่ในความชั่วร้ายนั้นไปด้วย” (ตอนนั้นเริ่มมีการใช้คำว่า “ทุนสามานย์” และ “ระบอบทักษิณ” กันบ้างแล้ว ซึ่งบ้างก็เรียกรวมกันว่า “ระบอบทุนสามานย์ทักษิณ” ซึ่งสะท้อนความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จากการกระทำต่าง ๆ ของอดีตนายกรัฐมนตรี “อาชญากรหนีคดี” คนนั้น)
สุณิศาได้ดูรายการนั้นด้วย เธอโทรศัพท์มาคุยกับผมในวันรุ่งขึ้นว่า “อาจารย์กล้ามาก พูดได้ตรงใจหลาย ๆ คนมาก” ซึ่งผมก็ออกตัวว่า “กลัวแทบแย่” แต่พอเห็นกล้องแล้วก็ “ของขึ้น” แล้วบอกว่าคงจะต้องเก็บตัวไม่ไปในที่สาธารณะยกเว้นไปที่ทำงานสักระยะ ซึ่งสุณิศาบอกว่า “ไม่ดีหรอก ไม่มีใครทำร้ายอาจารย์ได้หรอก ไม่งั้นผู้สื่อข่าวและคอลัมนิสต์ต่าง ๆ คงต้องตายกันวันละหลาย ๆคน เพราะเขาด่าคนชั่ว ๆ ทุกวัน” ทำให้ผมนึกถึงสุภาษิตในโคลงพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 ที่เคยเรียนมาว่า “สุจริตคือเกราะบัง ศาสตร์พ้อง” (และผมได้นำมาใช้เป็นโปรไฟล์ในไลน์ที่ผมใช้อยู่เป็นประจำในทุกวันนี้ด้วย) เหมือนจะคอยเตือนตัวเองไว้เสมอว่า ถ้าเราทำอะไรด้วยความซื่อสัตย์และจริงใจแล้ว ความซื่อสัตย์จริงใจนั้นก็จะปกป้องคุ้มครองเราเสมอ เหมือนเป็นเกราะที่คอยปัดป้องศัสตราวุธต่าง ๆ ไม่ให้มาทำร้ายเราได้กระนั้น
จากนั้นผมก็ได้ออกรายการของช่องสถานีต่าง ๆ อีกหลายช่อง บางทีกลับบ้านดึก ๆ ดื่น ๆ ก็ต้องขับรถผ่านหน้าบ้านไปก่อน เพื่อดูลาดเลาก่อนเข้าบ้าน พอจอดรถจะเปิดประตูรั้วก็ต้องดูรอบ ๆ ว่ามีอะไรมาแขวนไว้หรือเปล่า เพราะกลัวจะเป็นระเบิดหรือสายไฟฟ้าที่ทำให้ไฟดูด รวมทั้งต้องคอยตรวจรถตัวเองให้นานขึ้นเมื่อเวลาที่ไปจอดในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย แต่พอหลาย ๆ ครั้งเข้าก็เลิกทำ ด้วยกลัวเองว่าจะเป็นโรคจิตหรือวิตกกังวลจนเกินเหตุ ทั้งยังไม่กล้าจะบอกให้ใครรู้ แม้แต่คนในบ้าน เพราะกลัวเขาจะหาว่าเราบ้า กระนั้นในบางครั้งก็อดที่จะสะดุ้งโหยงไม่ได้ เมื่อได้ยินเสียงแปลก ๆ เกิดขึ้นใกล้ ๆ
ผมได้ถามสุณิศาว่า มีวิธีปกป้องแหล่งข่าวอย่างไร ที่จะให้แหล่งข่าวนั้นปลอดภัยและเชื่อใจให้ข่าวกับเราอยู่ตลอดไป ซึ่งสุณิศาบอกว่าก็ขึ้นอยู่กับแหล่งข่าวคนนั้น ๆ เป็นคนร้องขอ เช่น ไม่ให้เปิดเผยชื่อหรือที่อยู่ แต่ที่ยอมให้เปิดเผยก็ต้องให้ความมั่นใจเกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวสารนั้น ๆ ว่าทางตัวเรา(ผู้สื่อข่าวและสื่อ)จะรับผิดชอบเรื่องต่าง ๆ เอง เช่น ถ้าถูกฟ้องร้อง หรือมีการคุกคาม แต่ที่ดีที่สุดและสุณิศาใช้มาตลอดคือ “ความสม่ำเสมอ” คือต้องทำตัวเหมือนเป็น “เพื่อนแท้” ที่มีความห่วงใยกันโดยตลอด ต้องมีการไถ่ถามทุกข์สุขกันอย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่มีข่าวสารอะไรที่ต้องการสอบถาม เช่น ทักทายและระลึกถึงกันในวันสำคัญต่าง ๆ ไม่ทำตัวแบบเอาแต่ได้เพียงฝ่ายเดียว หรือมุ่งแต่จะขุดคุ้ยหาข่าวตลอดเวลา
สุณิศายังแนะนำว่า เวลาที่ออกสื่ออย่าใส่แอ็คชั่นเยอะ ให้ทำตัวเป็นปกติ เพราะผู้ชมเขาไม่ชอบดราม่าหรือการแสดงออกเว่อร์ ๆ อีกอย่างหนึ่งที่น่ารังเกียจมาก ๆ โดยเฉพาะในหมู่นักการเมือง ก็คือการทำตัวเป็น “วอลเปเปอร์” ชอบแย่งกันออกสื่อ ด้วยการเสนอหน้าไปอยู่ข้างหลังคนที่กำลังให้ข่าว สุณิศาบอกว่าคนที่ทำอย่างนั้นนอกจากจะน่าเกลียดแล้ว ยังไม่เคยเห็นคน ๆ นั้นได้ดิบได้ดีหรือเจริญเติบโตขึ้นสักคน นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้รู้จากคนที่ทำงานสื่อมวลชน เพราะนึกมาตลอดว่าการทำแบบนั้นน่าจะเป็นสิ่งปกติทางการเมือง รวมถึงในทางสังคมอื่น ๆ ที่มีคนเสนอหน้าแย่งกันออกสื่อ โดยที่คนเหล่านั้นไม่คิดว่าคนอื่น ๆ เขาจะ “รังเกียจ” จนกระทั่งสุณิศาได้พูดออกมาตรง ๆ ดังกล่าว
สุณิศาบอกว่านักการเมืองไทยไม่ค่อยทำการบ้าน เวลาที่ไปขอสัมภาษณ์มักจะได้แต่ข้อมูลที่เป็นการแสดงอารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มีน้อยมาก จะบอกว่านักการเมืองเหล่านั่นไม่มีความรู้ก็ไม่เชิง เพราะหลายคนก็เรียนกันมาสูง ๆ โดยเฉพาะนักการเมืองในยุคนี้ที่เป็นลูกท่านหลานเธอ หรือลูกหลานของนักการเมืองในรุ่นก่อน ๆ เสียส่วนมาก จึงมีการศึกษาค่อนข้างดี แต่ที่ยังแย่อยู่ก็คือเรื่องของ “ทัศนคติ” ที่ยังมองสื่อมวลชนในด้านลบ คือนักการเมืองจำนวนมากยังคิดว่า หน้าที่ของสื่อมวลชนคือการทำให้คนทะเลาะกัน หรือพยายามสร้างแต่เรื่องร้าย ๆ เพื่อที่จะขายข่าว นักการเมืองจึงพยายามแสดงออกแต่ในเรื่องที่แย่ ๆ เพื่อทำตัวให้เป็นข่าว เพียงคิดว่าเป็นการสร้างความสนใจ แต่ความจริงนั้นสร้างความอิดหนาระอาใจให้กับคนทั้งหลายนั้นมากกว่า ทั้งที่ในความเป็นแล้วนักการเมืองก็คือ “ชนชั้นนำ” ของประเทศ ที่ควรจะเป็นผู้นำในแบบอย่างที่ดี และเป็น “หน้าตาที่ดี” ให้กับประชาชน
สุณิศาบอกว่าไม่อยากได้ยินคำว่า “ประชาชนเป็นอย่างไร นักการเมืองก็เป็นอย่างนั้น”