ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก จึงทำให้แต่ประเทศ ต่างคิดค้นวิธีในการเดินทางข้ามประเทศหลังจากเริ่มมีการฉีดวัคซีนไปในหลายๆ ประเทศ ซึ่งทางศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยว ททท. (TATIC) ได้นำเสนอข้อมูลของวัคซีนพาสปอร์ต เพื่อเป็นทางออกของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มีการถกเถียงในเวทีโลก ถึงความเหมาะสมในขั้นตอนการดำเนินการ ว่าจะออกมาในทิศทางใด จึงจะเหมาะสมสำหรับนักเดินทางทั่วโลก หลักเกณฑ์วัคซีนพาสปอร์ต ซึ่งทางราชสมาคม หรือ The Royal Society แห่งอังกฤษ ได้คิดเกณฑ์สำหรับ การพัฒนาและใช้งานวัคซีนพาสปอร์ตสำหรับโควิด-19 เอาไว้ โดยมีหลักเกณฑ์มากถึง 12 ข้อ ได้แก่ 1. ต้องได้เกณฑ์มาตรฐานของภูมิคุ้มกันโควิด-19 คือวัคซีนที่ว่าต้องป้องกันโรคได้จริง 2. พาสปอร์ตต้องรองรับไวรัสที่ก่อให้เกิดโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ3. ต้องได้มาตรฐานในระดับนานาชาติ 4. ต้องได้รับการพิสูจน์ความน่าเชื่อถือ5. มีรายละเอียดการใช้งานตามที่กำหนด6. ตัวพาสปอร์ตต้องสามารถใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ ได้ 7. มีความปลอดภัยในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล8. มีขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายไปมาได้ 9. ต้องราคาไม่แพง บุคคลและรัฐสามารถซื้อหาได้ 10. ถูกต้องตามกฎหมาย11. ถูกต้องตามมาตรฐานจริยธรรม12. ผู้ถือพาสปอร์ตต้องเข้าใจเงื่อนไขการใช้งานและยอมรับ ทั้งนี้ จะเห็น ได้ว่า หลักเกณฑ์ที่ราชสมาคมแห่งอังกฤษกำหนดขึ้นมานี้ เป็นไปเพื่อให้เกิดความพึงพอใจและเป็นไปได้ที่จะใช้งานวัคซีนพาสปอร์ตที่ว่า และน่าจะไร้ปัญหาใด ๆ แต่เมื่อจะเริ่มนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมกลับมีผู้ลงนามประท้วงการริเริ่มใช้วัคซีนพาสปอร์ตมากกว่า 200,000 ราย ซึ่งการประท้วง ดังกล่าว ผ่านมาทางออนไลน์ที่เรียกว่า Online Petition คือ ส่งคำร้องมาหารัฐบาล โดยบอกว่าการริเริ่มนำพาสปอร์ตนี้มาใช้ อาจจะ ‘จำกัดสิทธิ’ ของคนที่ปฏิเสธไม่ยอมฉีดวัคซีน ขณะที่หลายคนอาจจะบอกว่า ถ้าไม่ยอมฉีดวัคซีน ก็ไม่ควรเดินทางไปไหนมาไหน ต้องอยู่แต่บ้าน หรือถูกจำกัดวงในการเดินทาง แต่เรื่องนี้หลายคนเห็นค้าน เพราะถ้าทำอย่างนั้น ก็เท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิพื้นฐานของคน ทั้งที่คนคนนั้นอาจจะไม่ได้ป่วย หรือไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงใด ๆ เลยก็ได้ ต้องมีความเสมอภาคเท่าเทียม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษ ต้องประกาศทบทวนการออกวัคซีนพาสปอร์ตอีกรอบหนึ่ง โดยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลในรายละเอียด ทั้งนี้เนื่องจากการประท้วงดังกล่าว มาจากหลักการพื้นฐานเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกัน คำประท้วงบอกว่าการแบ่งแยกคนออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วกับยังไม่ (หรือไม่อยาก) ฉีดวัคซีน จะทำให้เกิดสังคมสองระดับชั้น ขึ้นมาในสังคมอังกฤษ โดยข้อเรียกร้องบอกว่า รัฐบาลจะต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้ง ว่าจะไม่ใช้วัคซีนพาสปอร์ตในการกีดกันคนบางกลุ่ม ทำให้คนบางกลุ่มสามารถเข้าถึงการสนับสนุน บริการ และเสรีภาพบางอย่างได้ ในขณะที่อีกบางกลุ่มถูกกีดกันออกไปจนกลายเป็นคนชายขอบ ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าคนกลุ่มนี้จะไม่เห็นด้วยกับการฉีดวัคซีน เพียงแต่พวกเขาต้องการให้รัฐบาลออกแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้นมาประกอบกับการฉีดวัคซีนด้วย ว่า สำหรับคนที่ไม่อยากฉีดวัคซีน รัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไรกับคนเหล่านี้ ดังนั้น การใช้วัคซีนพาสปอร์ตจึงเป็นเรื่องที่ต้องละเอียดถี่ถ้วนกับมันมาก ๆอย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศเริ่มพัฒนาการใช้วัคซีนพาสปอร์ตแล้ว เช่นในอิสราเอลเริ่มใช้ Green Pass ในประเทศมาตั้งแต่ต้นปี เพราะมีแผนจะฟื้นฟูอีเวนต์ทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการดูคอนเสิร์ตร่วมกันของผู้คนจนำนวนมาก ๆ แต่ก็จำกัดเฉพาะคนที่ได้รับวัคซีนแล้วเท่านั้น ขณะที่ หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพิงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น กรีซ พยายามกดดันให้สหภาพยุโรปนำวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้อย่างเข้มข้นและรวดเร็วที่สุด ทว่าก็ก่อให้เกิดคำถามว่า วัคซีนพาสปอร์ตนั้น ควรนำมาใช้เฉพาะการเดินทาง หรือต้องนับรวมไปถึงการหางานทำ (บริษัทอาจไม่รับถ้ายังไม่มีวัคซีนพาสปอร์ต) หรือการซื้อของต่าง ๆ และกระทั่งการเข้าร่วมอีเวนต์ต่าง ๆ แบบในอิสราเอล สำหรับปัญหาของวัคซีนที่ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่ก็คือ วัคซีนอาจป้องกันการเกิดโรคได้ แต่มันป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้จริงหรือ ถ้าเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์เกิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา วัคซีนที่ใช้อยู่จะสามารถป้องกันได้หรือไม่ ซึ่งน่าจะเป็นเพียงปัญหาพื้นฐานทางเทคนิคเท่านั้น ยังมีปัญหาทางปรัชญา ปัญหาจริยธรรม และปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้คนที่ต้องพิจารณาอีก ซึ่งจากรายงานของ Financial Times บอกว่า วัคซีนพาสปอร์ตอาจถูกนำมาใช้เพื่อกีดกันผู้คนจากการเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นอีกก็ได้ นอกจากนี้ การนำวัคซีนพาสปอร์ตเข้าสู่ระบบออนไลน์ ก็ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัว หลายบริษัทอาจสามารถเข้าถึงระบบภูมิคุ้มกันของคนแต่ละคนได้ เพื่อนำข้อมูลขนาดใหญ่ไปวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะข้อมูลเหล่านี้ที่อยู่บนโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นถึงแม้ว่า วัคซีนพาสปอร์ตจะจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพียงใด สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้น คือ นอกเหนือจากการจัดสรรวัคซีนให้ครบถ้วนแล้ว ทางรัฐบาลไทยน่าจะมีโจทย์ใหญ่รออยู่ข้างหน้าที่หนักหนาไม่แพ้กัน คือ การรีบผลักดันวัคซีนพาสปอร์ต ให้เกิดเป็นรูปธรรม อย่างมีมิติที่ชัดเจน ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่ถูกกีดกัน เลือกปฏิบัติอย่างโดยเร็วที่สุด