จากกรณีโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายจากการบริโภคปลานิล โดยอ้างว่าในการเพาะเลี้ยงมีการทำลายธรรมชาติ ไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้อง รับประทานแล้วเป็นอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากมีปริมาณไขมันที่ไม่ดีสูง อีกทั้งเต็มไปด้วยยาฆ่าแมลง และยาปฏิชีวนะที่ใช้เพื่อรักษาและป้องกันปลาป่วยซ้ำยังมีสารไดออกซินที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง สารดีบุกไดบิวทิล ทิน (DBT) ซึ่งเป็นสารเคมีจากท่อพลาสติกพีวีซี เมื่อสะสมในร่างกายก่อให้เกิดโรคอ้วน โรคภูมิแพ้ หอบหืด และระบบการเผาพลาญมีปัญหา มีการดัดแปลงตัดแต่งพันธุกรรมกลายเป็นปลานิล GMO สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปลานิลทั้งระบบของประเทศไทย
ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง และ รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐพงษ์ เมฆสัมพันธ์ คณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันยืนยันถึงมาตรฐานการเพาะเลี้ยงปลานิลในประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคถึงกรณีที่มีกระแสข่าว และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคปลานิลว่าดีต่อสุขภาพปราศจากอันตรายแน่นอน ในโอกาสนี้ จึงขอชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง โดยแบ่งเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1.การเพาะเลี้ยงปลานิลเป็นการทำลายธรรมชาติ เนื่องจากไม่มีระบบการจัดการที่ดี รวมถึงมีการใช้ยาและสารเคมี
ปลานิล เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นปลาน้ำจืดที่มีผลผลิตเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย โดยจากข้อมูลในปี 2559 มีปริมาณผลผลิตปลานิลจากการเพาะเลี้ยง 176,463 ตัน มีการส่งออกปลานิลและผลิตภัณฑ์กว่า 7,975.4 ตัน คิดเป็นมูลค่า 598.5 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีศักยภาพในการแข่งขันทั้งด้าน การผลิต การแปรรูป และการส่งออกสูงกว่าผู้ส่งออกรายอื่น ๆ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการผลิตปลานิลของไทยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางด้านอาหาร (Food Safety) เป็นอันดับหนึ่ง โดยที่ผ่านมา กรมประมงได้มีการผลักดันให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงมีการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) มีระบบบริหารจัดการฟาร์มเพื่อยกระดับการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานสากล มีมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 7417-2559 สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำจืด โดยการผลิตปลานิลส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพภายในประเทศ (Local content) เป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับพระราชกำหนดการประมงฉบับใหม่ พ.ศ. 2558 ที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพตามมาตรฐานการเพาะเลี้ยงที่กำหนด ซึ่งจะช่วยให้อาชีพเพาะเลี้ยงปลานิลของเกษตรกรมีความมั่นคงและยั่งยืน ในขณะที่ผู้บริโภคจะได้มีความมั่นใจในความปลอดภัยจากการบริโภคปลานิลเช่นเดียวกัน
ส่วนการใช้ยาและสารเคมีในการรักษาโรคสัตว์น้ำนั้น กรมประมงมีความเข้มงวดในการอนุญาตให้มีใช้ยาและสารเคมีในการเพาะเลี้ยงปลานิลเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภค โดยต้องใช้ยาและสารเคมีตามความจำเป็นและเหมาะสมเท่านั้น รวมทั้งยาที่เลือกใช้จะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนภายใต้การควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และในกรณีที่เกษตรกรพบปลามีอาการผิดปกติสามารถส่งตัวอย่างเข้าตรวจวินิจฉัยสาเหตุในเบื้องต้นกับห้องปฏิบัติการของกรมประมง พร้อมรับคำปรึกษาเพื่อเป็นแนวในทางการเลือกใช้ยาและสารเคมีได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นการลดโอกาสที่จะเกิดเชื้อโรค เกิดการดื้อยา และสารตกค้างในสัตว์น้ำหรือแหล่งน้ำได้ นอกจากนี้ กรมประมง ยังมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำในการเลี้ยง พร้อมสุ่มตรวจสารตกค้างในฟาร์มที่เพาะเลี้ยงอีกด้วย
2.ปลานิลมีปริมาณไขมันไม่ดีสูง
ปลานิล เป็นปลาที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีโปรตีนสูง และคุณภาพดีเหมือนเนื้อสัตว์ มีกรดอะมิโน รวมทั้งกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของกรมประมง พบว่า ในเนื้อปลานิลปริมาณ 100 กรัม จะมี โอเมก้า 3 หรือ อีพีเอ และดีเอชเอ จำนวน 42.86 มิลลิกรัม มีโอเมก้า 6 หรือ กรดไลโนลินิค จำนวน 321.41 มิลลิกรัม ซึ่งโอเมก้า 3 และ โอเมก้า 6 เป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายและร่างกายยังไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ ต้องบริโภคอาหารซึ่งมีสารอาหารเหล่านี้
ส่วนกรดโอเมก้า 6 ที่มีการกล่าวถึงนั้น… ในความเป็นจริงแล้ว นับเป็นกรดไขมันที่มีผลดีต่อสุขภาพ เช่น ลดการทำงานของเกล็ดเลือด ลดการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด ลดระดับคอเรสเตอรอล ลดอาการปวดและอาการอักเสบต่าง ๆ รวมทั้งช่วยเพิ่มความชุ่มชี่นให้ผิวหนัง และมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ อีกด้วยแต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด ดังนั้น ในการบริโภคต้องรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม
3.การปริโภคปลานิลเป็นอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากมีสารตกค้าง
จากรายงานข่าวได้มีการอ้างว่ามีสารดีบุกไดบิวทิล ทิน (DBT) ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก หรือ PVC ซึ่งก่อให้เกิดโรคอ้วน โรคภูมิแพ้ หอบหืด และระบบการเผาพลาญปนเปื้อนในปลานิล ซึ่งจากการที่กรมประมงได้ทำการตรวจสอบข้อมูล พบว่า สาร DBT ที่อ้างถึง เป็นสารที่สามารถพบได้ในธรรมชาติทั่วไป และมีการปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่จากรายงานการศึกษาวิจัย พบว่าสารนี้สามารถย่อยสลายและค่อย ๆ ลดปริมาณลง แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ
มีการตระหนักถึงอันตรายของสารนี้ โดยมีการกำหนดระดับสูงสุดของการตรวจพบ (Maximum limit) และได้มีการเฝ้าระวังการปนเปื้อนอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยกรมควบคุมมลพิษ ทั้งนี้ จากการสำรวจพบปริมาณสารนี้ในแหล่งน้ำจืด พบการปนเปื้อนในแหล่งน้ำและตะกอนดินในเขตอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่หนาแน่น ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ในการเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารนี้ในอนาคต แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยที่สนับสนุนการตรวจพบสาร DBT ในปลานิลตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
นอกจากนี้… ยังมีการกล่าวถึงสารไดท็อกซิน (Dioxins) ซึ่งเป็นสารที่สามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ในเวลานาน และมนุษย์สามารถรับสารนี้ได้หลากหลายทาง ทั้งจากการสัมผัสด้วยผิวหนัง การสูดดม และการบริโภค ซึ่งมีงานวิจัยหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ มีการศึกษาการปนเปื้อนของสารไดท็อกซินในสิ่งแวดล้อม โดยมีการเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารดังกล่าว ซึ่งในประเทศไทยเองไม่อนุญาตให้มีการใช้ และยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยที่สนับสนุนการตรวจพบสารไดท็อกซินในปลานิลตามที่เป็นข่าวเช่นเดียวกัน
4.ปลานิลมีการตัดแต่งพันธุกรรม
ปลานิล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tilapia nilotica Linn . ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ทรงจัดส่งมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 50 ตัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 และได้พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้เป็นภาษาไทยว่า “ปลานิล” จากนั้นทรงให้กรมประมงนำไปขยายพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์ จนเป็นปลานิลจิตลดา รุ่นที่ 1 เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรที่สนใจนำไปเพาะเลี้ยง ซึ่งต่อมา กรมประมงได้นำปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาไปดำเนินการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ปลามีคุณภาพที่ดีขึ้น ตอบสนองความต้องการของตลาด และได้ทำการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันสามารถผลิต ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 4 ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ การปรับปรุงพันธุ์ดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตัดแต่งพันธุกรรม หรือ GMOs แต่อย่างใด จึงขอให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าปลานิลในประเทศไทยมีมาตรฐานและความปลอดภัย สามารถบริโภคได้ตามปกติ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลที่ผิดๆ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ กรมประมง โทรศัพท์ 0 2562 0569