ปัจจุบัน ข้าวเป็นพืชสำคัญแก่การดำรงชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย ในอดีตคันไถเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมดินก่อนปลูกข้าว โดยใช้แรงงานสัตว์ในการขับเคลื่อน ซึ่งถูกนำมาใช้ประกอบพิธีไถหว่านในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีฯ มีมาแต่โบราณตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจนกระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้มีพิธีสงฆ์ จึงมีพิธีพืชมงคลรวมกับพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระราชพิธีดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรในการทำนา ชักนำให้มีความมั่นใจความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญในแก่เกษตรกร กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี วันที่ตามฤกษ์ยามที่เหมาะสมตามประเพณี ซึ่งเป็นระยะเวลาเหมาะสมแก่การเริ่มต้นการทำนาของทุกปี
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร จัดเก็บ ดูแลรักษา ซ่อมแซมปรับปรุงคันไถ ตลอดจน จัดเตรียมคันไถเพื่อเข้าร่วมวันซ้อมย่อย วันซ้อมใหญ่และวันงานพระราชพิธีฯ ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และในช่วงเดือนเมษายนก่อนพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของทุกปี กรมส่งเสริมการเกษตร จะดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงคันไถให้มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน และจัดงานไหว้คันไถเพื่อความเป็นสิริมงคล สร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งปี 2564 ได้กำหนดจัดงานไหว้คันไถ ในวันพุธที่ 28 เมษายน 2564 ณ บริเวณปะรำพิธีอาคารเก็บรักษาคันไถ กรมส่งเสริมการเกษตร ถนนพหลโยธิน กรุงเทฯ โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงาน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมงานไหว้คันไถในครั้งนี้ด้วย
สำหรับชุดองค์ประกอบคันไถนี้ ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2539 โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสร้างถวายพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งมีชุดองค์ประกอบ ดังนี้
1.คันไถ ขนาดความสูงวัดจากพื้นถึงเศียรนาค 2.26 เมตร และยาวจากเศียรนาคถึงปลายไถ 6.59 เมตร ทาสีแดงชาดตลาดคันไถ หัวคันไถทำเป็นเศียรพญานาคลงรักปิดทอง ลวดลายประดับคันไถเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทองตลอดคัน ปลายไถหุ้มผ้าขาวขลิบทองสำหรับมือจับ
2.แอกเทียมพระโค ยาว 1.55 เมตร ตรงกลางแอกประดับด้วยรูปครุฑยุดนาคหล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทองอยู่บนฐานบัว ปลายแอกทั้งสองด้านแกะสลักเป็นรูปเศียรพญานาคลงรักปิดทอง ลวดลายประดับเป็นลาย กระจังตาอ้อยลงรักปิดทองตลอดคัน ปลายแอกแต่ละด้านมีลูกแอกทั้งสองด้านสำหรับเทียมพระโคพร้อมเชือกกระทาม
3.ฐานรอง เป็นที่สำหรับรองรับคันไถพร้อมแอก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งทาด้วยสีแดงชาด มีลวดลายประดับเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทองทั้งด้านหัวไถและปลายไถ
4.ธงสามชาย เป็นธงประดับคันไถติดตั้งอยู่บนเศียรนาคทำด้วยกระดาษและผ้าสักหลาด เขียนลวดลายลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกแวว มีพู่สีขาวประดับเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่งเพื่อประดับพระเกียรติ ธงสามชายมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ฐานยาว 41 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร และเสาธงยาว 72 เซนติเมตร
ซึ่งปีนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้นไม่สามารถดำเนินการจัดได้ตามปกติ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมหากรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 และพิธีหว่านข้าวในแปลงนาทดลอง สวนจิตรลดา โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้หว่านข้าว ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2564