ฝีมือเด็กช่าง ประดิษฐ์รถเข็นขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ช่วย รพ.ขนาดใหญ่ประจำตัวจังหวัดฉะเชิงเทรา ส่งอาหารไปถึงมือผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น ลดภาระการใช้แรงงานท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19 ที่ยังระบาดอย่างรุนแรงในพื้นที่ พร้อมเตรียมพัฒนาปรับปรุงจากเครื่องต้นแบบให้มีการใช้งาน ขยายออกไปใช้ได้อย่างครอบคลุมทั่วทุกตึกผู้ป่วยในกว่า 50 คัน วันที่ 28 เม.ย.64 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมพุทธโสธร ภายในวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา พญ.สมบัติ ชุติมานุกูล ผอ. รพ.พุทธโสธร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัด พร้อมคณะได้เดินทางมารับมอบรถเข็นอาหารผู้ป่วยขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักศึกษาแผนกช่างเทคนิคการผลิต จาก ว่าที่ พ.ต.วัชระพล ลักษณลม้าย ผอ.วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา หลังจากทาง รพ.พุทธโสธร ได้ทำหนังสือร้องขอความร่วมมือให้ทางวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ได้ช่วยทำการประดิษฐ์รถเข็นขนส่งอาหารให้แก่ผู้ป่วยใน แบบขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าให้แก่ทางโรงพยาบาล เพื่อลดการใช้แรงงาน และบุคลากรทางโภชนาการภายใน รพ. ให้สามารถทำการเคลื่อนย้ายอาหารผู้ป่วยไปส่งจนถึงยังเตียงผู้ป่วยได้โดยง่าย และมีความรวดเร็วมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ โดย พญ.สมบัติ กล่าวว่า ปัจจุบันทาง รพ.พุทธโสธร มีรถเข็นอาหารทางโภชนาการไปส่งยังภายในตึกผู้ป่วยจำนวน 50 คันที่ยังต้องใช้แรงคนในการเข็น จึงส่งผลเสียต่อสุขภาพของนักโภชนาการ ที่ต้องใช้แรงงานทำงานอย่างหนักทุกวัน เนื่องจากในแต่ละวันจะต้องมีการขนส่งอาหารไปยังตึกผู้ป่วยมากถึง 3-4 เที่ยวต่อคัน และแต่ละเที่ยวยังมีการบรรจุอาหารไปส่งให้แก่ผู้ป่วยจนเต็มคันรถ นอกจากนี้ยังต้องมีการเข็นรถขึ้นที่สูง หรือทางลาดชันไปยังตึกต่างๆ จึงทำให้ผู้เข็นรถแต่ละคันจะต้องหยุดรอเพื่อช่วยเหลือกันและกันอย่างน้อย 2-3 คน จึงทำให้ไม่ได้รับความสะดวก ก่อนที่จะทำหนังสือร้องขอมายังทางวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา เพื่อขอให้ช่วยทำการพัฒนาประดิษฐ์รถเข็นดังกล่าวนี้ขึ้น เนื่องจากทางวิทยาลัยแห่งนี้ได้เคยช่วยทำการประดิษฐ์เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติแบบราคาประหยัด และห้องความดันลบ ในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 มาส่งมอบให้แก่ทางโรงพยาบาล เมื่อครั้งที่เริ่มมีการระบาดของโรคโควิด 19 ในครั้งแรกๆ ซึ่งในวันนี้ได้เดินทางมารับรถเข็นที่ได้มีการประดิษฐ์ขึ้นมาจนเสร็จแล้วจำนวน 1 คัน และหากสามารถใช้งานได้ดีตรงตามความต้องการ จะนำมาพัฒนาใหม่ทั้งหมด 50 คันต่อไป พญ.สมบัติ กล่าว ด้านนายนิวัตร ศรีคำสุข ครูประจำแผนกช่วงเทคนิคการผลิต วท.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ทางวิทยาลัย ได้ใช้เงินทุนในการพัฒนารถเข็นขนส่งอาหารภายในโรงพยาบาลขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า เป็นเงินจำนวน 2 หมื่นบาท และหลังจากนี้หากทาง รพ.ยังมีความต้องการที่จะนำรถเข็นด้วยมือที่ยังใช้งานอยู่ภายใน รพ.อีกจำนวนกว่า 50 คันมาทำการพัฒนาให้เป็นรถเข็นขนส่งอาหารผู้ป่วยขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งหมดนั้น อาจจะต้องจัดหางบประมาณเข้ามาดำเนินการสนับสนุนในขั้นต่อไป ซึ่งในการประดิษฐ์หรือพัฒนารถเข็นส่งอาหารด้วยระบบไฟฟ้านี้ เป็นผลงานของนักศึกษาแผนกช่างเทคนิคการผลิต ประกอบด้วย นายสิติพงษ์ ระพันธ์ นักศึกษาระดับชั้น ปวส.1 น.ส.อทิติยา นฤภัย นักศึกษา ปวช.1 และ นายกฤตเมธ เศษจันทร์ นักศึกษา ปวช.1 ที่ได้ร่วมกันพัฒนาประดิษฐ์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา จากการให้คำแนะนำปรึกษาจากครูผู้สอน ซึ่งตัวรถเข็นไฟฟ้านี้ จะทำงานขับเคลื่อนด้วยระบบมอเตอร์เกียร์ ขนาด 24 โวลต์ มีแหล่งพลังงานจากแบตเตอรี่ขนาด 80 แอมป์ 2 ลูก สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ 12 ชม. ต่อการชาร์ตประจุไฟ 1 ครั้ง หากการใช้งานภายใน รพ.ในการขนส่งอาหารวันละ 3 ชม. จะสามารถใช้งานได้ประมาณ 4 วันต่อการชาร์ตไฟฟ้า 1 ครั้ง โดยการใช้งานเวลาขับเคลื่อนนั้นสามารถใช้คันเร่งบิดแบบการขับรถจักรยานยนต์เพื่อให้รถเคลื่อนไปข้างหน้า และหากต้องการชะลอหรือหยุดรถให้ผ่อนคันเร่งลง ตัวรถก็จะหยุดนิ่งได้ โดยที่ไม่ต้องใช้เบรก เนื่องจากเป็นระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์เกียร์ที่มีความหนืดและสามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้โดยไม่ลื่นไหล นอกจากนี้ยังมีระบบล็อกห้ามล้อ ที่สามารถกดล็อกล้อด้วยเท้าได้ ในขณะที่ต้องการจอดอยู่กับที่เป็นเวลานานอีก 1 ระบบ โดยที่ตัวควบคุมการขับเคลื่อนยังมีคันบังคับให้ตัวรถเดินหน้า ถอยหลัง หรือเข้าตำแหน่งเกียร์ว่างได้ด้วย นายนิวัตร กล่าว -จบ-