ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุ... โควิด-19 ไวรัสกลายพันธ์สายพันธุ์อินเดีย และ เบงกอล นักข่าวพยายามจะสอบถามเรื่องสายพันธุ์อินเดียบ้าง สายพันธุ์เบงกอล บ้าง คงเป็นเพราะมีการระบาดอย่างมากของโควิด-19 ในอินเดีย เมื่อมีการระบาดมาก ไวรัสก็จะแพร่ลูกหลานได้มาก ก็จะมีโอกาส มีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นเป็นไปตามหลักวิวัฒนาการ ถ้าดูตามสายพันธุ์อินเดียแล้ว ไม่เหมือนสายพันธุ์อังกฤษ ที่แพร่กระจายง่าย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนบนหนามแหลม ที่ตำแหน่ง 501 เป็น tyrosine (Y) จากสายพันธุ์เดิมคือ asparagine (E) สายพันธุ์อินเดียยังเป็นชนิด asparagine อยู่ แต่สายพันธุ์อินเดียมีจุดที่น่าสนใจในตำแหน่งการตัดแบ่งส่วน spike โปรตีนให้เป็น S1 และ S2 ด้วยเอนไซม์ furin ของมนุษย์ การเปลี่ยนกรดอะมิโนเป็น basic โดยเฉพาะ arginine (R) ทำให้หลุดเข้าเซลมนุษย์ได้ง่ายขึ้น จะติดเชื้อได้ง่ายขึ้นได้เช่นกัน ส่วนสายพันธุ์เบงกอลที่กล่าวถึงกัน จะเป็นการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง 484 เป็น Lysine ที่ทำให้หลบหนีภูมิต้านทานจากวัคซีน เช่นเดียวกับสายพันธุ์อัฟริกาใต้ และบราซิล จึงทำให้มีการกล่าวถึงกันมาก สายพันธุ์นี้ก็ไม่ได้มีอะไรแปลกไปกว่าบราซิล และอัฟริกาใต้ ถ้าดูแล้วสายพันธุ์อัฟริกาใต้ยังน่ากลัวกว่า จากการตรวจสายพันธุ์โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ กว่า 500 ตัวอย่างที่มีการระบาดอยู่ ณ.ขณะนี้มากกว่า 98% ของเราเป็นสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ยังไม่พบสายพันธุ์ อินเดีย เบงกอล อัฟริกาใต้ บราซิล ในประเทศไทย #หมอยง