วันที่ 28 เม.ย.64 ศูนย์ญี่ปุ่นเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Japan Center for a Sustainable Environment and Society (JACSES)), Friend of Earth Japan และ 48 องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานทั่วโลก ได้ส่งแถลงการณ์เพื่อคัดการให้เงินกู้ของไจก้า (องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น-Japan International Cooperation Agency)และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(Asian Development Bankหรือ ADB)ต่อโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหินกอง จ.ราชบุรี ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นโครงการนี้จะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขัดขวางการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมไปสู่พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อแก้ไขวิกฤติสภาวะภูมิอากาศ
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 ไจก้า เปิดเผยในต่อที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการพิจารณาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมถึงแผนการที่จะให้ทุนสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหินกอง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ประเทศไทย ร่วมกับเอดีบี โดยโครงการนี้จะตั้งอยู่บนที่ดินติดกับโรงไฟฟ้าเดิมที่หยุดดำเนินการแล้ว ไจก้าให้เหตุผลว่า โครงการนี้มุ่งก่อสร้างโรงกังหันก๊าซขนาด 700 เมกะวัตต์ 2 แห่ง (รวมกัน 1,400 เมกะวัตต์) และโรงควบคุมการจ่ายไฟฟ้าให้กับสายส่งไฟฟ้า เพื่อประกันเสถียรภาพของพลังงานไฟฟ้า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศไทย โดยจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ
แถลงการณ์ระบุว่า ข้อชี้แจงของไจก้า(JICA )ดังกล่าวยังไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีพลังงานล้นเกินกว่าความต้องการ ส่งผลให้ต้นทุนไฟฟ้าสูงขึ้น กล่าวกันว่าระดับที่เหมาะสมมากสุดของปริมาณสำรองไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 15-17% ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงของไทยถึง 50% เมื่อปี 2563 และยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า ไทยจำเป็นต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขึ้นมาทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน แม้จากเอกสารระบุว่า แผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า PDP2018 กำหนดแผนที่จะนำการผลิตพลังงานหมุนเวียนมาใช้มากขึ้น เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในประเทศไทย สืบเนื่องจากความเห็นที่ต่อต้านของประชาชน โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีแผนจัดสร้างในภาคใต้ของประเทศ ได้ถูกคัดค้านอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มพลังมวลชนในพื้นที่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ยูกะ คิกูชิ ตัวแทนองค์กร Mekong Watch กล่าวว่า ไจก้าและเอดีบีไม่ควรที่จะให้การสนับสนุนเงินกู้แก่โครงการนี้ เนื่องจะเป็นการสร้างภาระด้านค่าไฟฟ้าระยะยาวให้กับผู้บริโภคของไทย และยังเป็นการปิดกั้นโอกาสของการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมทั่วโลก ทางกลุ่มจึงขอเรียกร้องให้ไจก้า และเอดีบี ยกเลิกแผนให้ทุนสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหินกอง และให้เปลี่ยนไปลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศไทยและการปกป้องสภาะอากาศของโลกอย่างแท้จริง
อนึ่ง โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหินกอง เป็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่ตำบลหินกอง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ของบริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งถือหุ้น 100% โดยบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด ที่เป็นบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจร่วมกันระหว่างบริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัดของประเทศไทย (มหาชน) (51%) กับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (49%) โดยมีกลุ่มบริษัทสามแห่งประกอบด้วยบริษัท เอ็มเอชไอ พาวเวอร์ โปรเจกต์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ Mitsubishi Power Limited ซึ่งจะพัฒนาโรงผลิตไฟฟ้าตามสัญญาแบบการจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ และได้ลงนามในความตกลงบริการโครงการระยะยาว 25 ปี