นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค.64 อยู่ที่ระดับ 107.73 ขยายตัว 4.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 29 เดือน แต่หากเทียบกับเดือน ก.พ.64 หดตัว -1.35% ขณะที่ดัชนี MPI ไตรมาส 1/64 ขยายตัว 0.25%
ทั้งนี้ดัชนี MPI เดือน มี.ค.64 กลับมาขยายตัวเป็นบวก เนื่องจากฐานเปรียบเทียบในเดือน มี.ค.63 อยู่ในระดับต่ำในช่วงที่เริ่มได้รับผลกระทบจากการระบาดในรอบแรก, เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นจากความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ และผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยโดยเฉลี่ยปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อนแม้จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน มี.ค.64 อยู่ที่ 69.59% เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.64 ที่ระดับ 65.08% และในช่วงไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 67.09%
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่มีดัชนีผลผลิตขยายตัวในเดือนมีนาคม 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.53% จากรถบรรทุกปิคอัพรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เนื่องจากความต้องการในประเทศที่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 มีการจัดงานมอเตอร์โชว์ และการส่งออกที่ขยายตัวในกลุ่มประเทศเอเชีย โอเชียเนีย และยุโรป
ขณะที่เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.19% จากเหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กเคลือบสังกะสี เหล็กลวด เหล็กรูปพรรณรีดร้อน และเหล็กเส้นกลม เป็นหลัก โดยได้รับอานิสงส์จากปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลง ทำให้ราคาเหล็กโลกปรับตัวสูงขึ้น ผู้ผลิตจึงมีการเร่งผลิต
เพื่อทำกำไรในช่วงที่ยังมีภาวะขาดแคลนสินค้า
ส่วนน้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.89% เนื่องจากปีนี้โรงงานปิดหีบช้ากว่าปีก่อน และผลผลิตอ้อยสดมีคุณภาพสามารถหีบสกัดเป็นน้ำตาลได้สูงกว่าปีก่อน เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 42.76% จากเครื่องเรือนทำด้วยไม้เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.48% จากการขยายตลาดของกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง และสุกร โดยเฉพาะคำสั่งซื้ออาหารแมวจากสหรัฐอเมริกาที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้ผลิตยังได้ขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตตามวิถีใหม่
ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตในเดือน เม.ย.64 ได้แก่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศระลอกที่สาม ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง แต่ดัชนี MPI ในเดือน เม.ย.64 ยังคงขยายตัวเนื่องจากฐานที่ต่ำในปี 63 ส่วนทิศทางการส่งออกยังมีแนวโน้มที่ดี เพราะไม่ได้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงาน ทำให้การผลิตสินค้ายังเดินหน้าต่อไปได้ ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลงชัดเจนจากระดับ 29.90 บาท/ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 4 ม.ค.64 มาอยู่ที่ 31.40 บาท/ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.64 จะเป็นแต้มต่อให้ผู้ส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวตามเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้น รวมถึงรัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ และกลุ่มแพร่ระบาดไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรงงาน โรงงาน ดังนั้น ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลยังคงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการเราชนะ เรารักกัน คนละครึ่งเฟส 3 เป็นต้น และประเทศไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนและมีแผนบริหารจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2564 ทำให้ความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิตและการบริโภคดีขึ้น