วันที่ 27 เม.ย.64 นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า ในฐานะกูรูด้านเอสเอ็มอี เรียกร้องให้รัฐบาลตั้งสภาเอสเอ็มอี เพื่อรวบรวมคนตัวเล็ก ซึ่งมีเกือบ 4 ล้านรายหรือราว 20 ล้านคน ถือเป็นฐานที่มั่นหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแบบตรงคนตรงจุด ดีกว่าโปรยเงินจากฟ้าแล้วปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข เขากล่าวว่า การช่วยเหลือเอสเอ็มอี เป็นปัญหามาเกือบ 30 ปี จนถึงวันนี้ความช่วยเหลือก็ยังลงไม่ถึงตัวจริง หากไม่ตั้งสภาเอสเอ็มอีขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ อย่างไรก็ตามแม้เวลานี้ เอสเอ็มอีจะไปแฝงอยู่กับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หลายหน่วยงานทำหน้าที่ช่วยเหลือ แต่เอสเอ็มอี ก็ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร วิกฤตโรคระบาดรอบนี้ เอสเอ็มอีตัวจริงได้เงินช่วยเหลือมาตรการเยียวยาผ่านแอพเป๋าตังก์เหมือนประชาชนทั่วไป แต่มาตรการเงินกู้เพื่อเอสเอ็มอีกลับไปตกอยู่กับเอสเอ็มอีขนาดกลาง ซึ่งพอมีเงินอยู่แล้ว และธนาคารเองก็เรียกให้เขาไปกู้เงินตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือเอสเอ็มอี แต่ไม่กล้าให้รายเล็กเพราะกลัวเกิดเอ็นพีแอล นั่นคือปัญหาที่ผู้ที่กู้ไม่ใช่ผู้เดือดร้อนจริง “ถึงเวลาแล้วที่เราจะมีสภาเอสเอ็มอี จริงๆ จัง ๆ เทียบเท่ากับ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สภาดิจิทัล ทุกวันนี้ถูกแบ่งอยู่ในกลุ่มของทั้งสองสภาก็จริง แต่ถ้าไปดูในรายละเอียดจะรู้ว่าการช่วยเหลือไม่ค่อยถึง อย่างไรก็ตามยอมรับว่ามีการรวมตัวกันเป็นสภาเอสเอ็มอีอยู่แล้วแต่ยังเป็นรูปแบบที่ยังไม่ได้รับการยกระดับมีกฎหมายรองรับ และยังไม่รวมศูนย์ การดำเนินการจึงเป็นเหมือนเบี้ยหัวแตก เราควรทำให้มันเป็นองค์กรเดียว ไม่กระจัดกระจาย ปัญหาของประเทศไทยตอนนี้คือ มีกระทรวงและหน่วยงานมากมาย เหมือนจะพร้อมให้การช่วยเหลือ แต่การประสานงานทำได้อย่างยากเย็น โครงสร้างในองค์กรภาครัฐไม่เอื้อต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ภาคเอกชนต่อสู้มาตลอดว่าควรปฏิรูประบบราชการ และแม้จะมีความพยายามทำมาหลายครั้ง แต่ก็กลับไปเพิ่มความยิ่งใหญ่ให้กับภาครัฐ จนเป็นรัฐราชการ” นายวรวุฒิ กล่าวด้วยว่า วันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวนไม่น้อยที่ต้องหยุดกิจการ เนื่องจากคนไม่กล้าเดินทางไปจับจ่าย เมื่อเอสเอ็มอีซึ่งมีจำนวนถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั่วประเทศ (ราว 20 ล้านคน) เป็นผู้เดือดร้อนด่านแรก มันก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ ยกตัวอย่างถ้าร้านก๋วยเตี๋ยวปิด ก็กระทบเกษตรกรผู้ปลูกผัก โรงงานลูกชิ้น โรงงานเส้นก๋วยเตี๋ยว ชาวประมง พนักงาน รวมไปถึงระบบขนส่งโลจิสติกส์ต่าง ๆ ก็จะได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า คนตัวเล็กไป คนตัวใหญ่ก็อยู่ยาก และอาจจะลามไปถึงระบบสังคม โจรผู้ร้ายชุกชุม ข้าวยากหมากแพง และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมหลายรัฐบาลถึงยอมใช้เงินอุ้มผู้ประกอบการรายย่อย อย่างที่ประเทศอังกฤษเขาประกาศล็อคดาวน์ เอสเอ็มอีไม่มีการปลดพนักงาน เพราะรัฐจ่ายเงินเดือนแทนให้ 80% ทำให้พวกเขาอยู่ได้ แต่บ้านเรามันไม่ใช่เวลาที่รัฐบาลจะมาอุ้มแบบนั้น เพราะได้ใช้เงินไปมากมายสำหรับการเยียวยาในการแพร่ระบาดในรอบแรก และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อไปนานแค่ไหน ใครมาเป็นรัฐบาลในช่วงนี้ก็ต้องเหนื่อย เพราะหากว่าสถานการณ์วิกฤตกว่านี้ จะเอาเงินที่ไหนมาเยียวยา สิ่งที่ทำได้เวลานี้คือประทังเพื่อให้อยู่ได้เท่านั้น “ผมเสียดายเวลาหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาเท่าที่ควร เช่น ควรสอนให้เกษตรกรตัวเล็กทำธุรกิจผ่านออนไลน์ แม้จะพอมีทำอยู่บ้าง แต่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก รัฐควรตั้งศูนย์เทคโนโลยีชุมชน สอนให้ชาวบ้านใช้เทคโนโลยีให้เป็น ที่ผ่านมารัฐมักจะมาสอนผลิต พัฒนาสินค้า แต่ไม่ช่วยหาตลาด ถึงเวลาก็ตายทั้งระบบ ถ้ามีสภาเอสเอ็มอีมันจะช่วยได้ หลักการคือให้ยึดต้นแบบ อสม.ของกระทรวงสาธารณสุข ซี่งผู้ประกอบการรายย่อยก็กระจายอยู่ทุกหมู่บ้านเช่นเดียวกัน ให้เขาเป็นจิตอาสา สำรวจ ประสาน คัดกรอง ผู้ประกอบการตัวเล็กซึ่งเขารู้จักดี จะทำให้ระบบมันมีประสิทธิภาพ การช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนตัวจริง มาตรการเยียวยาก็ไม่ต้องเหวี่ยงแห ไม่ต้องโปรยเงินจากฟ้าผ่านโครงการต่าง ๆ แต่กลับแก้ปัญหาไม่ได้” ต่อข้อถามที่ว่า การมีคนกลางเข้ามาจัดการจะทำให้เกิดการรั่วไหล นายวรวุฒิ กล่าวว่า โอกาสการรั่วไหลมีอยู่แล้ว เพียงแต่มันก็รั่วไหลอยู่ในกระเป๋าของชาวบ้าน เหมือนระบบเงินผัน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ในอนาคตมันก็จะมีระบบตรวจสอบที่รัดกุมขึ้นไปเรื่อย ๆ ประเทศจีนสมัยก่อนเอสเอ็มอีเขาแย่กว่าเรา เพราะมีประชากรมาก แต่หลังจากที่ใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วย ด้วยการดึงผู้ประกอบการเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอไอคำนวณ อนุมัติได้ในไม่กี่นาที มีระบบตรวจสอบที่รัดกุม ทำให้เกิดหนี้เสียน้อยมาก นี่คือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ประเทศไทยยังไม่ได้ทำ ทุกวันนี้คนตัวเล็กบ้านเรากู้นอกระบบดอกร้อยละ 20 ต้องจ่ายดอกเบี้ยรายวัน เงินต้นไม่ขยับ หนี้สินล้นพ้นตัว ตนเคยเสนอให้รัฐบาลทำแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นของไทยเอง แต่ก็ไม่มีการดำเนินการอาจจะไม่เข้าใจ สุดท้ายทุกวันนี้เราทำธุรกรรมและซื้อขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มของต่างชาติส่วนใหญ่จะเป็นของประเทศจีน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามท่ามกลางวิกฤต ก็มักจะมีภาพความร่วมมือที่งดงามเสมอ ซึ่งนายวรวุฒิ บอกว่า อยากให้รัฐบาล ยึดแนวที่ 45 ซีอีโอ เสนอเพื่อแก้ปัญหาการฉีดวัคซีนล่าช้า และอยากให้ใช้โอกาสนี้ ทะลุทะลวง กติกา กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา ในภาวะวิกฤต รัฐบาลมีเป้าหมาย ฉีดวัคซีน 50 ล้านโดสครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งหมายถึงต้องฉีดให้ได้ราว 300,000 คนต่อวันนับตั้งแต่เข็มแรกที่ฉีดคือเดือนมิถุนายน จนถึงสิ้นปี เวลานี้ยังไม่เห็นการจัดระเบียบ วางระบบการฉีดวัคซีน ว่าจะฉีดที่ไหน การขนส่งวัคซีนที่ต้องควบคุมอุณหภูมิจะต้องทำอย่างไร ถ้าไม่จัดระบบให้ดีจะเกิดความโกลาหลอย่างแน่นอน