“หอการค้าไทย”ชงนายกฯ 28 เม.ย.นี้ เผยคืบหน้าจัดหา-กระจายวัคซีนทางเลือก ใช้กทม.นำร่อง ดึงเชื่อมั่น เตรียมชงนายกฯ 28 เม.ย.นี้ ขณะที่"กรมศุลกากร" เปิดช่องทางด่วน นำเข้ายา-วัคซีนโควิด พร้อมชง ครม.ขยายยกเว้นภาษีเกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 26 เม.ย.64 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 เม.ย.นี้จะรายงานความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ทางเลือกของภาคเอกชน รวมถึงการวางระบบการกระจายวัคซีน ซึ่งจะใช้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่นำร่องที่มีความคืบหน้าไปมากแล้ว พร้อมที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนในอนาคตหลังจากรัฐบาลมีการนำเข้าวัคซีนลอตใหญ่แล้ว และต้องใช้เวลาในการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รับทราบ ทั้งนี้ ยืนยันว่า การทำงานร่วมกันระหว่างหอการค้าไทยกับกรุงเทพมหานคร ถือว่ามีการทำงานที่ใกล้ชิดกัน การพิจารณาออกมาตรการใดๆ ภาคเอกชนจะมีส่วนในการตัดสินใจด้วย เพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจของส่วนกลางไว้ ด้าน นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ได้ประสานงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เตรียมการล่วงหน้าพิธีการทางศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้า วัคซีน ยา รวมถึงอุปกรณ์สำหรับใช้ในการรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด เป็นกรณีพิเศษ โดยเปิดให้หน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทเอกชนที่นำเข้าสินค้าในกลุ่มดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลรายการสินค้า เอกสารนำเข้า รวมถึงใบอนุญาตต่าง มาได้ล่วงหน้า และเมื่อของถูกนำส่งถึงประเทศไทย หากมีความถูกต้องสามารถขนออกไปได้ทันที โดยที่ผ่านมากรมฯ ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขมาตลอด เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้ายา วัคซีน หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ สำหรับใช้ตรวจรักษาโควิดแบบฟาสแทร็ก เพื่อให้นำมาใช้ดูแลรักษาแพร่ระบาดโควิดในประเทศได้รวดเร็วที่สุดตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นหากของนำเข้ามาแล้วเอกสารครบสามารถขนออกได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาทำพิธีการศุลกากรแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน กรมศุลกากรอยู่ระหว่างเสนอให้กระทรวงการคลัง และครม.พิจารณาขยายเวลาการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาใช้ในการรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิดตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งจะทำให้ทำให้ไม่ต้องเสียอากรนำเข้าที่เก็บอยู่ประมาณไม่เกิน 5% แต่ยังคงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวท) 7% อยู่