เหลือร้าย บานปลายสารพัด
สำหรับ เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่แพร่ระบาดลากยาวมาตั้งแต่ปลายปี 2019 จนถึง ณ ชั่วโมงนี้โจมตีจนได้รับความเสียหายไปทุกภาคส่วนของโลกเรา
ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณสุข ถูกรับผลกระทบกันโดยตรง จนมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมไปแล้วกว่า 147ล้านคน ในพื้นที่การแพร่ระบาด 219 ประเทศ / เขตการปกครอง ทั่วโลก
เชื้อไวรัสโควิดฯ ยังแผลงฤทธิ์ราวกับเป็นพญามัจจุราช พิฆาตชีวิตพลเมืองโลก เพราะในผู้ป่วยติดเชื้อสะสมข้างต้น ปรากฏว่า ในจำนวนนั้นกว่า 3 ล้านคน ได้ถูกไวรัสมรณะชนิดนี้ ปลิดชีวีกันไป
ขณะที่ ผลกระทบด้านอื่นๆ อย่างระบบเศรษฐกิจ เป็นอาทิ ก็แทบจะภินท์พังไปทั่วโลก จากผลพวงของการแพร่ระบาด จนทำให้ทั้งปิดกิจการ ประชาชนถูกเลิกจ้าง กลายคนตกงาน จำนวนหลายสิบล้านคน ซึ่งสถานการณ์ความเลวร้ายเป็นประการต่างๆ ดังกล่าว ไม่รู้ว่าจะจบสิ้นลงเมื่อใด
ใช่แต่เท่านั้น ความร้ายกาจของเชื้อไวรัสโควิดฯ ยังสำแดงพิษ แก่ผู้ที่เคยล้มป่วยติดเชื้อ ซึ่งได้รับการรักษาพยาบาลจนหายป่วยไปแล้วด้วย
โดยผลกระทบจากความเสียหายที่ไวรัสโควิดฯ ส่งพิษร้ายถึงอวัยวะปอดนั้น แทบจะไม่ต้องพูดถึง เพราะถือเป็นอวัยวะร่างกายเป้าหมายที่ไวรัสโควิดฯ พุ่งถล่มโจมตี หลังเชื้อโรคเข้าไปฝังตัวในอวัยวะส่วนนี้
ตามรายงานก็ระบุว่า แม้ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดฯ จะหายจากอาการป่วยแล้ว แต่อวัยวะปอดก็เสียหาย ใช้เวลาฟื้นตัวหลายเพลา และทำหน้าที่ของมันได้ไม่เต็มที่ร้อยเปอร์เซนต์เหมือนเดิมอีก
ล่าสุด ในการศึกษาของคณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ติดตามศึกษาอาการผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสโควิดฯ และได้รับการรักษาพยาบาลจนหาย ในช่วง 6 เดือนแรกหลังจากที่หายป่วย
โดยคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เฝ้าติดตามศึกษาจากอดีตเหยื่อป่วยโควิดฯ จำนวนถึง 236,379 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน ประชากรของประเทศที่ถูกกล่าวขานว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อ และผู้ป่วยเสียชีวิตจากไวรัสโควิดฯ มากที่สุดในโลก คือ ผู้ป่วยติดเชื้อสะสมอยู่ที่กว่า 32 ล้านคน และผู้ป่วยที่เสียชีวิตจำนวนกว่า 5.8 แสนคน
ก่อนที่จะนำผลการศึกษาติดตาม ลงเผยแพร่ในวารสารการแพทย์ชื่อดังอย่าง “เดอะ แลนซิต เฉพะด้านจิตเวชศาสตร์ (The Lancet Psychiatry)”
ผลการติดตามศึกของคณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่า ผู้ที่เคยป่วยโรคโควิดฯ มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคภาวะสมองเสื่อม และโรคภาวะซึมเศร้า ได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยตกเป็นเหยื่อป่วยติดเชื้อจากไวรัสมหาภัยชนิดนั้น
โดยอดีตเหยื่อป่วยติดเชื้อโควิดฯ ในช่วง 6เดือนแรก หลังการรักษาหาย มีอัตราความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34 ที่จะป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบประสาท หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับทางจิตตามมา
นอกจากนี้ ร้อยละ 17 ก็มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับความวิตกกังวล และร้อยละ 14 สำหรับความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคความผิดปกติทางอารมณ์
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่า อาการป่วยทางสมอง ระบบประสาท และความผิดปกติทางจิต ทางอารมณ์ ที่ต่อเนื่องหลังการติดเชื้อไวรัสโควิดฯ มีอัตราความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่หายป่วยจากโรคไข้หวัด และโรคเกี่ยวกับการติดเชื้อทางระบบหายใจอื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ
ภายหลังจากมีรายงานออกไป ทางบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช อย่างนายไซมอน เวสเซลี ผอ.สถาบันจิตเวชแห่งมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เช่นกัน ก็แสดงทรรศนะว่า ผลการศึกษาดังกล่าว ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นข้อพิสูจน์อย่างไร้ข้อกังขาว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบสมองและสภาพทางจิต
เช่นเดียวกับ นายลีอา มิลลิแกน แห่งเอ็มคิวเมนทัลเฮลท์ แสดงทรรศนะว่า รายงานของออกซ์ฟอร์ด สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของโรคโควิดฯ ต่อสุขภาพจิตของผู้ที่เคยติดเชื้อ จากการที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยต่อระบบสมองและภาวะทางจิตตามมา ซึ่งจำเป็นที่จะต้องศึกษวิจัยเพิ่มเติมโดยด่วน เพื่อเตรียมการรับมือในการบำบัดให้แก่อดีตผู้ป่วยโควิดฯ ที่ต้องตกในสภาพเช่นนี้
นอกจากการติดตามศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษแล้ว ทางฝรั่งเศส โดยโรงพยาบาลเด็กในกรุงปารีส ก็ได้เปิดผลการติดตามศึกษาถึงปัญหาการป่วยทางสมอง ระบบประสาท และสภาพจิตใจในหมู่วัยรุ่นในช่วงโควิดฯ ระบาดหนักด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า ไม่ใชแต่เฉพาะเหยื่อที่เคยป่วยเท่านั้น แม้บุคคลที่ไม่เคยป่วย แต่มีชีวิตอยู่ท่ามกลางโรคโควิดฯ โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นฝรั่งเศส มาเข้ารับการรักษาพยาบาลมากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติถึง 2 เท่า สำหรับการบำบัดสภาพจิตใจ หลังจากพยายามฆ่าตัวตาย จากการวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสร้าย ซึ่งนอกจากพยายามฆ่าตัวตายแล้ว ก็ยังมีหลายรายที่เกิดอาการหวาดกลัวโรคโควิดฯ กันเกินขนาด จนส่งผลต่อการรับประทานอาหาร คือ กลัวจนกินไม่ได้ หมกมุ่นอยู่กับความกลัวว่าจะติดเชื้อ การเช็ดถูมือตลอดเวลา การใช้เจลแอลกอฮอล์ทาทั่วร่างกายเพื่อฆ่าเชื้อโรคก็มี และถือเป็นสถานการณ์ที่ทางสาธารณสุขต้องเตรียมการรองรับสำหรับเคสในลักษณะอย่างนี้เอาไว้ด้วย เช่น สถานที่พักฟื้นที่ทำให้เกิดการหย่อนใจ ผ่อนคลายอารมณ์ ตามธรรมชาติต่างๆ เป็นอาทิ