การประกวด 2021 GLOBE International Virtual Science Symposium (IVSS 2021) ด้วยงานวิจัย “การศึกษาความหนาแน่นของประชากรปูก้ามดาบกับลักษณะของรูปู” ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการร่วมเป็นสมาชิกโครงการ GLOBE (Global Learning and Observations to Benefit the Environment) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการสร้างความตระหนักทาง ด้านสิ่งแวดล้อมนั้น  ปีนี้สำนักงานใหญ่โครงการ GLOBE ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแล สนับสนุนขององค์การนาซา (NASA) ได้จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติเสมือนจริง ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ในรูปแบบออนไลน์  “การประกวด 2021 GLOBE International Virtual Science Symposium (IVSS 2021)” โดยสนับสนุนให้นักเรียนในโครงการ GLOBE ทั่วโลกส่งผลงานวิจัยเข้ามาประกวด เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการลงมือทำงานวิจัยด้วยกระบวนการสืบเสาะ หาความรู้ ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นไปจนถึงระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งได้เข้าใจสิ่งแวดล้อมที่อยู่บนโลกของเรา จุดประกายความสนใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น โดยนอกจากนักเรียนจะส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมประกวดแล้วพร้อมกันนี้โรงเรียนจะได้รับข้อเสนอแนะจากทีมนักวิชาการด้าน STEM ระดับมืออาชีพและนักวิทยาศาสตร์นานาชาติอีกด้วย ในปีนี้การประกวด 2021 GLOBE International Virtual Science Symposium (IVSS 2021) มีผลงานวิจัยที่ส่งเข้าร่วมประกวดทั้งหมด 242 เรื่อง จาก 20 ประเทศทั่วโลก โดยนักเรียนไทยคว้าแชมป์ได้รับรางวัลจากการประกวดในหัวข้อวิจัยเรื่อง การศึกษาความหนาแน่นของประชากรปูก้ามดาบ (Uca bengali) กับลักษณะของรูปู (Effect of population density on burrow characteristics in the fiddler crab (Uca bengali) จากฝีมือของ   นางสาวศิอร หลีกภัย และ นายชัชรินทร์ จันดี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยตรัง โดยมีครูที่ปรึกษาคือ นางพัชรา พงศ์มานะวุฒิ และนางสาวหนึ่งฤทัย ชัยมณี งานวิจัยชิ้นนี้ทำการศึกษา ณ ป่าชายเลนบริเวณชุมชนหาดมดตะนอย จ.ตรัง แบ่งพื้นที่การศึกษา เป็น 2 บริเวณ คือบริเวณที่มีความหนาแน่นของปูก้ามดาบมาก และบริเวณที่มีความหนาแน่นน้อย สุ่มพื้นที่ศึกษาพื้นที่ละ 5 บริเวณ ศึกษาความหนาแน่น สัดส่วนเพศ ขนาดของปูและลักษณะของรูปูแต่ละตัว ลักษณะและคุณภาพดิน ผลการศึกษาพบว่าบริเวณความหนาแน่นมากและความหนาแน่นน้อยมีจำนวนปูเฉลี่ยเท่ากับ 92.80 ± 8.67 และ 17.60 ± 4.56 ตัว ต่อตารางเมตรตามลำดับ และอัตราส่วนเพศผู้ต่อเพศเมียเท่ากับ 2 : 1 และ 7 : 4 ตามลำดับ ขนาดของปูก้ามดาบบริเวณความหนาแน่นมากใหญ่กว่าบริเวณความหนาแน่นน้อย ทั้งสองบริเวณพบรูปร่างรูปู 2 แบบ ได้แก่ รูปร่าง I และรูปร่าง J โดยมีอัตราส่วนเฉลี่ยรูปูรูปร่าง J มากกว่า I ทั้งสองบริเวณเท่ากับ 0.76 และ 0.54 ตามลำดับ รูปูในบริเวณที่มีความหนาแน่นมากมีความยาวมากกว่าบริเวณที่มีความหนาแน่นน้อย และพบว่าเนื้อดินในบริเวณที่มีความหนาแน่นมากมีลักษณะเป็นดินร่วนปนดินทรายส่วนในบริเวณที่มีความหนาแน่นน้อยมีลักษณะเป็นดินทรายปนดินร่วน ความชื้นภายในดิน ในบริเวณที่มีความหนาแน่นน้อยมีค่ามากกว่าในบริเวณที่มีความหนาแน่นมาก สารอินทรีย์ในดิน ในบริเวณที่มีความหนาแน่นมากมีค่ามากกว่าในบริเวณที่มีความหนาแน่นน้อย ส่วนค่า pH ในดินทั้งสองบริเวณไม่แตกต่างกันทางสถิติ   ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/32Nxf0l  และ https://bit.ly/2Qy05PF