เกษตรกร อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ โวยเสียสละบริจาคที่ดินให้ชลประทาน ก่อสร้างเหมือง แก้ปัญหาภัยแล้ง กว้างกว่า 3 เมตร แต่พอแล้วเสร็จ ไม่ทำสะพานที่แข็งแรงมีมาตรฐาน ให้สัญจรข้ามไปมาตามที่รับปาก ต้องเดินอ้อมไกลกว่า 1 กม. ต้องลงขันซื้อแผ่นปูนพาดเป็นสะพานข้ามกันเอง จี้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบช่วยเหลือ
(26 เม.ย.64) ตัวแทนเกษตรกรหลายหมู่บ้านใน ต.อีสานเขต อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ได้พากันออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบและช่วยเหลือ หลังจากทางชลประทานจังหวัดได้ทำโครงการก่อสร้างเหมืองเพื่อกักเก็บน้ำแก้ไขปัญหาภัยแล้ง บางช่วงตัดผ่านพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรก็ยอมเสียสละบริจาคที่ดินให้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับส่วนรวม แต่ช่วงที่สร้างเหมืองผ่านบริเวณด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านโคกยาง ต.อีสานเขต ซึ่งมีขนาดกว้างประมาณ 3 เมตร กลับไม่มีการทำสะพานที่แข็งแรงได้มาตรการให้ชาวบ้าน เกษตรกรสัญจรข้ามไปไร่ไปนาได้สะดวกเหมือนกับจุดอื่นๆ ตามที่มีการประชาคมรับปากเอาไว้ มีเพียงสะพานไม้ขนาดเล็กไม่แข็งแรง ซึ่งแม้แต่เดินข้ามยังเสี่ยงอันตราย หลายคนต้องลงทุนขับรถจักรยานยนต์หรือรถไถนาอ้อมไปไกลกว่า 1 กิโลเมตร เพื่อไปทำไร่ทำนาของตัวเองจากเดิมที่ยังไม่ได้ทำเหมือง ก็สามารถข้ามได้เลยโดยไม่ต้องอ้อมไกล ทำให้ชาวบ้านต้องลงขันกันซื้อแผ่นปูนมาพาดต่อกันหลายแผ่นเพื่อให้สามารถขับ จยย.และรถไถนาไปทำไร่ทำนาได้ชั่วคราว จากผลกระทบดังกล่าวก็อยากให้ทางชลประทานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาตรวจสอบและช่วยเหลือด้วย
นายพะยม แดงชาติ ตัวแทนชาวบ้าน บอกว่า ก่อนจะสร้างเหมืองเส้นนี้ทางชลประทาน ได้มีการประชาคมชาวบ้านก่อนทำการก่อสร้าง เพราะมีบางช่วงที่ตัดผ่านที่ของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านก็ยอมเสียสละบริจาคที่ให้เพื่อสร้างเหมืองแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับส่วนรวม โดยเจ้าหน้าที่รับปากว่าจะก่อสร้างสะพานข้ามให้ชาวบ้านเกษตรกร สัญจรไปมาได้สะดวกเหมือนเดิม แต่พอก่อสร้างแล้วเสร็จ และส่งมอบงานไปเรียบร้อย กลับไม่มีการสร้างสะพานที่แข็งแรงได้มาตรฐานตามที่รับปากไว้ มีเพียงสะพานไม้เล็กๆ ไม่แข็งแรงเท่านั้น ปกติบริเวณนี้จะมีชาวบ้าน เกษตรกร ในพื้นที่บ้านโสน, บ้านโคกยางพัฒนา และบ้านโคกยาง ที่สัญจรข้ามไปมาเป็นประจำ แต่ตอนนี้ได้รับความเดือดร้อน
จึงอยากให้ทางชลประทานเข้ามาดูและหาแนวทางแก้ไขสร้างสะพานที่ได้มาตรฐานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน เกษตรกรด้วย