"ธณิกานต์" เสนอตั้ง 3 ศูนย์ แยกผู้ติดเชื้อโควิด 3 กลุ่ม มั่นใจแก้ปัญหาการแพร่เชื้อกลุ่มเปราะบาง-ชุมชนแออัด กทม. พร้อมดันบางซื่อ-ดุสิตเป็นโมเดลเริ่มต้น
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.เขตบางซื่อ-ดุสิต พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ประสานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในเขตพื้นที่บางซื่อ-ดุสิต ต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า สถานการณ์โควิดในกรุงเทพมหานคร น่าเป็นห่วงมากกว่าทุกจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 วันที่ผ่านมานี้ ยอดทะลุ 1,000 รายไปแล้ว เกิดปัญหาการขาดแคลนเตียง ขาดรถพยาบาลรับคนป่วย ขาดชุด PPE ศูนย์ Hotline โทรไปไม่มีคนรับ ระบบสาธารณสุขที่รองรับวิกฤตขณะนี้ขาดประสิทธิภาพ
ในฐานะผู้แทนประชาชน ส.ส.กทม. ได้รับเรื่องร้องเรียนและขอความช่วยเหลือเร่งด่วนอย่างต่อเนื่อง มีหลายเคสที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ยังคงรอรถมารับ บางเคสรอมาแล้ว 5 วัน อีกทั้งหลายเคสอยู่ในพื้นที่ชุมชน สภาพทางกายภาพไม่เอื้ออำนวยต่อการแยกกักตัวได้
ในขณะนี้ เคสที่สามารถช่วยประสานงานให้เข้ารับการรักษาตามสิทธิประกันตน คือ ผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้ประกันตน ที่มีท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำกับดูแลและปฏิบัติหน้าที่เกือบ 24 ชั่วโมง ซึ่งให้คำแนะนำและการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้ประกันตนตามระบบอย่างเร่งด่วนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ให้ได้เข้ารับการรักษาครบทุกเคสที่ได้แจ้งประสานไป
น.ส.ธณิกานต์ กล่าวด้วยว่า จากการหารือกับเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) เครือข่ายมูลนิธิผู้นำรุ่นใหม่ (Future Leaders Foundation) และกลุ่มเยาวชนอาสาในพื้นที่บางซื่อ-ดุสิต (Bangsue-Dusit Next GEN) จึงขอเรียกร้องให้มีศูนย์บัญชาการร่วม สำหรับแก้วิกฤตการแพร่ระบาดในกรุงเทพมหานครอย่างจริงจัง ให้มีการทำงานร่วมกันระหว่าง ส.ส. หรือ ผู้แทนประชาชนในพื้นที่ กับ กทม. กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เกิดการบริหารจัดการการดูแลรักษาส่งต่อผู้ป่วยร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยมีมาตรการที่เข้าถึงและครอบคลุมมากขึ้น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม (ตามระดับความรุนแรง) ได้แก่ กลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการตรวจ กลุ่มผู้ติดเชื้อที่อาการไม่หนัก และกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง ด้วยการ
1.การตั้งศูนย์ตรวจกลาง (หน่วยย่อย) เพื่อผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือเริ่มมีอาการสามารถเข้าถึงการตรวจเชื้อให้ได้มากที่สุดและทันเวลา
2.การตั้งศูนย์กักแยก ประจำแต่ละเขต กระจายทั่ว กทม. สำหรับผู้ติดเชื้อกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชุมชนแออัด โดยใช้พื้นที่วัดหรือโรงเรียน เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่อาการน้อย ไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ไม่มีสถานที่กักตัว เพื่อลดการแพร่เชื้อ
3.การตั้งศูนย์โรงพยาบาลเฉพาะโควิด คัดเลือกจากโรงพยาบาลที่มีอยู่ในระยะเร่งด่วนนี้ สำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง เตรียมพร้อมหากเตียงในทุกโรงพยาบาลเต็ม เพื่อรักษาชีวิตได้ทันท่วงที
ในฐานะตัวแทนประชาชน จึงขอเป็นกระบอกเสียงแทนพี่น้องประชาขนในพื้นที่ เสนอให้ฝ่ายบริหารจัดสรรทุกทรัพยากรและทุกสรรพกำลัง ช่วยสนับสนุนและร่วมมือกันอย่างเต็มที่ กฎระเบียบใดที่เป็นอุปสรรคในการทำงานให้เกิดการปรับเปลี่ยนพัฒนา และเร่งตัดสินใจในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ สร้างความเชื่อมั่นไว้ใจอย่างเป็นรูปธรรม
น.ส.ธณิกานต์ กล่าวอีกว่า ขอขอบคุณและขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขทุกๆท่าน ฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติการทุกท่านที่ทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ และขอให้ท่านที่ป่วยเข้าถึงการดูแลรักษาและหายจากอาการทุกท่าน