หลายฝ่ายร่วมชี้แนะรับมือปัญหาผู้หนีภัยจากพม่า นักวิชการเสนอสร้างสวนสันติภาพสาละวิน-ดึงฝ่ายต่างๆเข้าร่วม “พล.อ.นิพัทธ์”เผยเหตุต้องรีบผลักดันกลับ ภาคประชาชนดันตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.64 ได้มีการจัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “ความมั่นคงของชาติและมนุษยธรรม..ความพอดีอยู่ตรงไหน”โดยวิทยากรประกอบด้วย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมและผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.พรสุข เกิดสว่าง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน และนายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน ดำเนินรายการโดย น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters น.ส.ฐปณีย์ กล่าวว่าปฎิบัติการโจมตีของทหารพม่า ไม่ได้สร้างความเสียหายเฉพาะทหารกะเหรี่ยงเคเอ็นยู แต่สร้างความเสียหายให้กับชุมชนและมีชาวบ้านอพยพข้ามพรมแดนแม่น้ำสาละวินมาฝั่งไทย ซึ่งคนไทยได้พยายามส่งความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แต่ทำได้ยากมาก ดังนั้นจึงต้องมาคุยกับว่าความพอดีอยู่ตรงไหนระหว่างความมั่นคงของบ้านเมืองและมนุษยธรรม โดยล่าสุดผู้หนีภัยสงครามถูกผลักดันกลับฝั่งพม่าหมดแล้ว ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้หญิงที่คลอดลูกใหม่ 4 คน ซึ่งคนเหล่านี้ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย และหมู่บ้านเด่ปูโหน่ ยังร้างเพราะยังมีเครื่องบินและโดรนลาดตระเวนของกองทัพพม่า ขณะที่การส่งข้าวของบรรเทาทุกข์นั้น ทหารพม่าได้ยิงเรือจนชาวบ้านไม่กล้าขับเรือไปส่งของ แม้กระทั่งเรือของตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ซึ่งติดธงชาติไทยชัดเจนก็ถูกยิงขู่ เพราะต้องการให้ไปรายงานตัวที่ฐานทหารพม่า อย่างไรก็ตามล่าสุดได้มีการเจรจาทหารพม่ายินยอมให้เรือผ่านโดยไม่ต้องแวะรายงานแล้ว น.ส.พรสุขกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคมชาวบ้านได้อพยพข้ามฝั่งเข้ามาจำนวนนับพันคน ปัญหาคือการปฎิเสธการลี้ภัยโดยกลุ่มใหญ่สุดคือให้มาเพราะเหตุฉุกเฉินแล้วก็ผลักดันกลับในวันที่ 29 ซึ่งยังมีเครื่องบินทิ้งระเบิดซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ยังอันตรายทำให้ชาวบ้านไม่กล้าเดินทางกลับและยังอยู่ฝั่งไทย ทำไมทางการไทยถึงตัดสินใจเร็วขนาดนั้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการส่งความช่วยเหลือซึ่งมีคนไทยระดมความช่วยเหลือจำนวนมากแต่ไม่สามารถส่งได้ปกติทั้งเส้นทางเรือและรถยนต์ มีคนพยายามฝากไว้ที่ทหารพรานแต่ทหารก็ไม่รับ ความช่วยเหลือจึงขึ้นอยู่กับการไปหาช่องทางบริจาคของแต่ละคน ทำให้ต้องเสียงเงินเสียทองกันมากขึ้น หากรัฐไม่ต้องการให้คนเข้าไปถึงตัวผู้ลี้ภัย จริงๆ แล้วไม่ต้องเอาคนเข้าไปก็ได้ แค่เอาสิ่งของความช่วยเหลือไปให้ แต่การช่วยเหลือควรเอาคนมีประสบการณ์พอสมควร เพราะทหารพรานก็คงทำไม่ไหว “ทุกอย่างจำเป็นต้องผลักดันเขากลับแบบนี้ด้วยหรือ จำเป็นต้องบล็อกเส้นทางความช่วยเหลื่อด้วยหรือ” น.ส.พรสุข กล่าวว่า ความช่วยเหลือมนุษยธรรมไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกับความมั่นคงของประเทศ ปัญหาผู้ลี้ภัยไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดแล้วจะปฎิเสธว่าไม่มีใครเดือดร้อนหรือเอาไปซ่อนไว้นั้น แก้ปัญหาไม่ได้ จำเป็นต้องยอมรับว่ามีคนเดือดร้อนเข้ามาและต้องจัดการสารพัด 1.ยอมรับความจริงและรับเข้ามาก่อน ในฐานะที่ทำงานชายแดนมาร่วม 30 ปี เหตุการณ์ที่ผู้ลี้ภัย 9 แคมป์ไม่ได้กลับบ้าน ไม่ใช่เพราะเขาไม่อยากกลับ แต่กลับไม่ได้เพราะพื้นที่ของเขาถูกพม่ายึดไป และเมื่อพม่าเข้ามายึดชายแดนได้ เขาก็ยิ่งกลับไม่ได้ แม้มีการเลือกตั้งและมีสัญญาหยุดยิง กระทรวงมหาดไทยมีประสบการณ์อยู่แล้ว ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกหรือไม่ ฝ่ายความมั่นคงควรถ่ายโอนอำนาจให้ฝ่ายมหาดไทย แม้ช่วงแรกทหารอาจดูแลก่อน แต่เมื่อผ่านไป 1-2 สัปดาห์ควรถ่ายโอนใหมหาดไทย น.ส.พรสุขกล่าวว่า 5 ข้อเสนอของอาเซียน แม้เป็นนิมิตหมายทีดีที่อาเซียนกล้าพูดกับ พล.อ.มิน ออง หลาย แต่ไม่มีกำหนดว่าจะทำเมื่อไหร่ โดยเฉพาะเรื่องความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม หากผ่านกลไกอาเซียนแล้วไปทางไหนต่อ ถ้าไปทางรัฐบาลทหารพม่าคงไม่ถึงชาวบ้านแน่ “เพื่อนบ้านอย่างไทย เราอยู่ติดกับพม่า แต่การวางจุดยืนยังไม่ชัดเจน ปัญหาผู้ลี้ภัยต้นเหตุมาจากต้นทาง เราต้องถามตัวเองด้วยว่าเราไปส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงด้วยหรือไม่ เมื่อเราไม่ต้องการรับผู้ลี้ภัย เราก็ไม่ควรให้เป็นปัจจัยหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดเหตุ อยากให้เรารู้สึกว่า การที่มีผู้ลี้ภัย 20-30 ปีไม่ใช่เรื่องของฝันร้ายอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้ การจะบอกว่าจะไม่รับอีกแล้วนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าคนต้องเข้ามา ก็ต้องเข้า แต่อาจเข้าไปช่องอื่น” น.ส.พรสุข กล่าวว่าสำหรับ UNHCR หากต้องการเข้ามาทำงานชายแดน เขาต้องขออนุญาตจากรัฐบาลไทย เราไม่แน่ใจว่ากรณีที่เกิดขึ้นริมแม่น้ำสาละวินครั้งนี้ ได้เจรจากับรัฐบาลไทยบ้างหรือไม่ แต่เราไม่ค่อยได้ยินเสียง UNHCR เลย พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวว่าตั้งแต่เกิดการยึดอำนาจในพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เห็นว่าสังคมได้ให้ความสนใจกับประเทศพม่ามากขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่ดี การที่เขาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตัวเลขประมาณ 6 ล้านคน เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าสิ่งที่เกิดเป็นปัญหากับประเทศไทย สิ่งที่เกิดขึ้นและข้ามมาฝั่งไทยไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ เกิดขึ้นมา 30-40 ปีเพียงแต่ว่าเปลี่ยนพื้นที่แต่รูปแบบคล้ายๆกัน เมื่อเจอการอพยพทะลักข้ามแดนมา สิ่งที่หน่วยทหารและตำรวจทำคือต้องถามนโยบายว่าควรทำอย่างไร จึงเกิดความล่าช้า มันคือความอิหลักอิเหลื่อ ทำให้ขัดต่อความรู้สึกด้านมนุษยธรรม “ความล่าช้าเป็นเพราะระบบราชการ การเข้าไปส่งข้าวของ หากเป็นผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ก็จะปฎิเสธไว้ก่อน รับคนเข้ามาดูแลตามมีตามเกิด จึงต้องตัดความรุงรังออกไปก่อน เมื่อเกิดความชัดเจนจากผู้บังคับบัญชาจึงจะปฎิบัติได้ สิ่งที่ประสบมา ทุกคนกลัวไปหมดว่าจะทำงานล้ำเส้น หากปล่อยให้ใครก็ไม่รู้มาเต็มพื้นที่เลย เขาจึงต้องเลือกปฏิเสธไว้ก่อน” พล.อ.นิพัทธ์กล่าวถึงเรื่องที่ทหารไทยผลักดันผู้หนีภัยการสู้รบในพม่ากลับว่า คนที่อยู่หน้างานกับคนที่ตัดสินใจใน กทม.จะเห็นภาพเดียวกันช้ามาก แต่เชื่อว่าทุกคนมีจิตใจทีดี แต่ระยะทางและเวลาที่จะสื่อสารมาถึงข้างบน จะเข้าใจแค่ไหน อย่างไร อย่างไรก็ตามเมื่อนายกรัฐมนตรีบอกว่าทำตามหลักสิทธิมนุษย์ซึ่งเป็นสาระสำคัญ และถูกถ่ายทอดออกไป การผลักกลับไป เราต้องให้เกียรติคนที่อยู่หน้างาน เขาอาจรู้ข้อมูลอะไรดี แต่เรื่องที่จะเป็นภาระระยะยาวเราต้องรีบผลักดันกลับไปให้เร็วสุด อะไรที่เป็นปัจจัยดึงดูด เช่น ข้าวของ ยารักษาโรค อีกด้านหนึ่งของเหรียญคือเป็นปัจจัยดึงดูดคนเหล่านี้เข้ามา ตรงนี้ไม่มีสูตรสำเร็จและไม่มีคำตอบขาวกับดำ บางทีเป็นนายทหารเด็กๆ ก็จะฟังนายเขาอีกที “เรื่องการส่งความช่วยเหลือนั้น เราต้องหาเจ้าภาพให้เจอสำหรับงานเฉพาะกิจตรงนี้ กลไกที่เวิร์คสุดคือ TBC ซึ่งพื้นที่นั้นอยู่ในการดูแลของกองกำลังนเรศวร บางทีเราต้องต้องจัดให้เท่าเที่ยมทั่วถึง อยากย้ำว่าเจ้าภาพควรเป็น TBC แต่ควรกำหนดเป็นตารางเวลา” พล.อ.นิพัทธ์กล่าวว่า ปี 2527 กองทัพพม่าปราบหนัก มีผู้หนีภัยมากว่า 2 แสนคน ตั้งแคมป์ 9 แห่งตั้งแต่ จ.แม่ฮ่องสอนถึงราชบุรี ซึ่งทุกวันนี้ยังคาราคาซังอยู่ กรณีใหม่เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยและกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ลองกำหนดดูว่าให้ผู้นำในพื้นที่พูดให้ชัดเจนรับไว้ 72 ชั่วโมง เชื่อว่าทหารไทยเขาพอจะทราบว่าเครื่องบิน (พม่า) จะมาอีกหรือไม่ “เราไม่ได้สยบยอมทุกอย่าง การเจรจาด้านหลังก็ต้องมีกำปั้นเหล็กอยู่ด้วย เช่น คุณทำให้คนอพยพเข้ามาแล้วสร้างภาระให้ เรา จำเป็นต้องปกป้อง” ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่าคำถามแหลมคมคือการสู้รบในพม่าจะเบาบางหรือบานปลายซึ่งขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ตัวแสดงต่างๆในพม่า ตอนนี้เราเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ตัวรากของปัญหาต้องวิเคราะห์โครงสร้างอำนาจของรัฐพม่า โดยขณะนี้เกิดความชะงักงันในกระบวนสันติภาพ รัฐไทยมีประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้หนีภัยในการสู้รบ ขณะที่ภัยคุกคามด้านความมั่นคงชายแดนเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อน ในอดีตความโดดเด่นอยู่ทีแม่ทัพภาคของพม่า แต่เมื่อหลายปีก่อนได้เปลี่ยนไปเพราะมีหลายฝ่ายเข้าร่วมกับข้อตกลง อย่างก็ตามหลังรัฐประหารภาพเหตุการณ์เดิมกลับเข้ามา ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่าขณะนี้นอกจากเกิดรัฐบาลพม่าที่เนปิดอ ยังเกิดรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า NUG ซึ่งสองขั้วอำนาจต้องแย่งชิงกัน เกิดภาวะจลาจลที่เหลี่อมล้ำอาจกลายเป็นวิกฤต พอ พล.อ.หมิ่น ออง หลาย ยึดอำนาจเป็นการเมืองเผด็จการและรวมศูนย์อำนาจ เราต้องเข้าใจสถานการณ์การเมืองในรัฐกะเหรี่ยงด้วย ในเชิงภูมิศาสตร์มีความซับซ้อนอยู่แล้วด้วยขุนเขาและแม่น้ำ มีกะเหรี่ยงหลายกลุ่ม ทำให้เกิดกลุ่มที่เรียกว่ารัฐซ้อนรัฐมากมาย แม้กระทั่งเคเอ็นยูก็มีนักศึกษาที่หนีมาอยู่สมัยนายพลโบเมี๊ยะ ดังนั้นทำให้เคเอ็นยูมีท่าทีที่น่าสนใจคือมีเคเอ็นยูกลุ่มหนึ่งที่ต้องการปกป้องทั้งประชาชนพม่าและประชาชนกะเหรี่ยง และยังมีกะเหรี่ยงอีกจำนวนมากที่มีท่าทีไม่ชัดเจน เพราะโครงสร้างอำนาจที่กระจัดกระจาย แต่มี 2 ค่ายหลักคือ พลเอกมูตู ฐานอำนาจหลักอยู่ด้านกลางและใต้ เช่น กองพล 4,6,7 และอีกกลุ่มหนึ่งคือทางเหนือนำโดย นางซีโพหร่า และพล.อ.บอจ่อแฮ เช่น กองพล 2,3,5 ซึ่งพล.อ.บอจ่อแฮได้รับความนิยมมากในหมู่คนกะเหรี่ยง โดยขั้วอำนาจกลุ่มแรกไปเจรจากับรัฐบาลพม่า แต่กลุ่มหลังไม่เห็นด้วยที่ไปเจรจา ขณะเดียวกันภายในมีเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองเยอะพอสมควร การแก้ไขสถานการณ์ต้องวิเคราะห์ภูมิทัศน์ทางการเมืองในพื้นที่ให้ได้ ผศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า พม่ายังสร้างรัฐไม่เสร็จ รัฐพม่าจึงพยายามสร้างค่ายทหารเพื่อควบคุมอธิปไตยริมแม่น้ำสาละวิน อย่างไรก็ตามการพัฒนาบางจุดเคเอ็นยูทำได้ดี ขณะที่บางพื้นที่รัฐบาลพม่าก็ไม่ได้จริงใจช่วยเหลือเพราะยังมีขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องชาตินิยม ดังนั้นทหารพม่าจึงไม่ยอม และเฝ้ารอให้กองกำลังวางอาวุธและสลายกองกำลัง ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่าสำหรับข้อเสนออาเซียนนั้น เราต้องมองในเรื่องกระบวนการสันติภาพ คือให้การปะทะทางทหารลดลง ส่วนขั้นสองในการจัดประชุมวงการเมือง และวงต่อมาคือการจัดการรากเหง้าของปัญหา เราต้องพูดถึงการเอาสันติภาพกลับมาในรัฐพม่าก่อน คือเอาข้อตกลงที่เคยคุยกันไว้กลับมาก่อน คือข้อตกลงหยุดยิง NCA สำหรับเขตชายแดน คือการทำสวนสันติภาพสาละวินในบางจุดน่าช่วยได้ การตั้งคณะกรรมการสาละวิน มีตัวแทนช่วยเหลือมนุษยธรรม อาจจะเป็นตัวแทนชาวบ้าน ผู้นำพื้นที่ อาจจะมีผู้นำศาสนาต่างๆ ช่วยกันเป็นคณะกรรมการ แต่อีกระยะก็ต้องมีตัวแทนทหารไทย มหาดไทย ตัวแทนทหารพม่า ทหารกะเหรี่ยง หารือหยุดยิง นายพงษ์พิพัฒน์ กล่าวว่าการส่งข้าวของไปช่วยเหลือ ยังไม่ได้ขนไปได้ทุกวันโดยต้องให้ทหารเช็คเสบียงและไม่ได้อำนวยความสะดวกให้เข้าถึงผู้ได้รับผลกระทบ กรณีที่ทหารพม่ายิงเรือชาวบ้านไทย ทำให้ชาวบ้านยังไม่เชื่อมั่นว่าทหารพม่าจะทำตามที่พูดหรือไม่ คือไม่ทำร้ายชาวบ้าน แม้จะเป็นการข่มขู่แต่ชาวบ้านก็กลัว เพราะแม้แต่เรือตชด.ทหารพม่ายังกล้าข่มขู่จนต้องจอดเรือเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง ทำให้เกิดความไม่ไว้ใจ ตอนนี้มีข้าวของบริจาคเยอะมาก แต่ปัญหาคือเรื่องของการขนส่งในเมื่อทางการไทยไม่เปิดให้มีการขนส่งทั่วถึงแม้เวลาล่วงเลยมาเกือบ 1 เดือน ยังไม่มีการออกแบบกลไกหาทางออกร่วมกัน ทำให้ข้าวของบริจาคตกค้างอยู่ทั้งที่ กทม. เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และ อ.แม่สะเรียง “แต่ตอนนี้ของยังไปไม่ถึงข้างในคือประชาชนที่หลบอยู่ในป่า แม้ทางรัฐไทยจะบอกว่าเจรจาให้เขาได้กลับไป แต่เป็นการกลับไปทั้งน้ำตาและต้องหลบอยู่ในป่าเพราะไม่กล้ากลับเข้าหมู่บ้าน ตอนนี้เข้าหน้าฝนทำให้เด็กและผู้หญิงท้องที่ยังต้องหลบตามห้วยตามป่าอยู่อย่างลำบาก ข้อเสนอแนะนั้น เราควรมีการผ่อนปรนให้เข้าไปบริจาคได้มากขึ้น ไม่ใช่ผลักดันเขาโดยที่ยังไม่ปลอดภัย ชาวบ้านเองก็ไม่ได้อยากมาอยู่ฝั่งไทยเพราะต้องอยู่อย่างลำบากเพียงแต่ปลอดภัยกว่าอยู่ที่บ้านเขา ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่ทำศูนย์เฉพาะกิจให้หลายฝ่ายเข้าร่วมเพื่อนำข้าวของบริจาคเข้าไปให้ถึงชาวบ้านมากที่สุด อาจให้จังหวัดเป็นหัวแล้วเอาหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนเข้าร่วม ตอนนี้ความมั่นคงเราคิดแต่เรื่องทหารอย่างเดียวหรือเปล่า เราไม่คิดถึงความมั่นคงของชาวบ้าน”