"จุรินทร์" ลั่น ปชป.ไม่พอใจคำสั่ง"บื๊กตู่" ส่ง "ธรรมนัส" ยึดพื้นที่ภาคใต้ ปูทางเลือกตั้งในอนาคต คาดสัป ดาห์หน้า "วิษณุ" เสนอทบทวนคำสั่ง หวั่นเกิดปัญหาบานปลาย ด้าน "จิรายุ" แนะจับตา "นายกฯ" เตรียมขอขยายวงเงินกู้ หลังเปิดสภา พ.ค.นี้ โวยทำกับคนไทยได้อย่างไร "ยุทธพงศ์"จี้ "บิ๊กตู่" เอาผิด"บิ๊กขรก.กรมอุตุฯ"ติดโควิด-ปกปิดไทม์ไลน์ ยังเดินสายปฏิบัติงาน
ที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.64 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงคำสั่งนายกรัฐมนตร ที่ 85/2564 เรื่องมอบหมายให้รัฐมนตรี รับผิดชอบแนว คิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ระดับพื้นที่จังหวัด โดยถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการแบ่งงานให้รัฐมนตรี แต่ละคน แต่ละพรรครับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง โดยเฉพาะที่ส่งให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเดิมดูแลพื้นที่จังหวัด พะเยา เชียงราย และหนองบัวลำภู แต่กลับเปลี่ยนมาให้ดูแลพื้นที่จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต ที่เป็นความรับผิดชอบเดิมของ นายนิพนธ์ บุญญามณี ซึ่งทำให้เห็นว่าอาจจะเป็นการเตรียมพื้นที่เลือกตั้งในอนาคตให้กับพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) และในคำสั่งยังได้มอบหมายให้ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน เข้าไปคุมจังหวัดพะเยา เชียงราย และหนองบัวลำภู แทนร.อ.ธรรมนัสด้วย ว่า หลังเห็นคำสั่งดังกล่าว ยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่พอใจและได้หารือกันระหว่างรัฐมนตรีของพรรคทันที โดยตนได้มอบหมายให้ นายจุติ ไกรฤกษ์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี ได้แจ้งให้นายกฯและผู้เกี่ยวข้องทราบแล้ว ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา จากนั้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงเช้าวันรุ่งขึ้นคือวันอังคารที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา นายกวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จึงได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้แจ้งต่อที่ประชุม ครม.รับทราบว่าจะมีการทบทวน คำสั่งดังกล่าว โดยนายกฯได้มอบหมายให้นายวิษณุรับไปเป็นผู้ดำเนินการแก้ไข ซึ่งคาดว่าในสัปดาห์หน้าน่าจะแล้วเสร็จได้เพราะถ้ายุติได้เร็วก็จะเป็นการดีเรื่องจะได้ไม่บานปลายโดยไม่จำเป็น
ด้าน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า หลังการเปิดสมัยประชุมรัฐสภา เดือนพ.ค.- ก.ค.นี้ มีข่าวว่านายกฯ และกระทรวงการคลังจะมาขอรัฐสภา เพื่อขยายวงเงินกู้ของประเทศไทย เนื่องจากสถานะทางการคลังของประเทศไม่สู้ดีนัก ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ บริหารประเทศมา 7 ปี กู้เป็นหนี้จนวงเงินของประเทศไทยใกล้เต็มกู้เพิ่มได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ก็จะเต็มเพดานแล้ว ที่สำคัญหนี้เก่านี้ประชาชนต้องร่วมกันรับผิดชอบเพราะเป็น "หนี้สาธารณะ" และ งบประมาณ 2565 นี้พลเอกประยุทธ์ ก็จะต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งก็มาจาก "ภาษี" ที่พวกเราทุกคนจ่ายไป ตนอยากถามว่า ปีที่แล้ว กู้ไป 1.9 ล้านล้านบาท บอกจะเอาไปแก้โควิด ประมาณ 1.0 ล้านล้านบาท เป็นเงินที่ใช้ด้านสาธารณสุขถึง 6 แสนล้าน และ แจกกระจาย อีก 4 แสนล้านบาท ตกลงแล้วเอาไปทำอะไรบ้างไปซื้อวัคซีนแค่ไหน ทั่วโลกก็ประกาศเตือนทุกวัน ว่า จะมีโควิดละลอก 2 ละลอก 3 และใช้เงินเป็นล้านล้านบาท ทำได้แค่นี้ หรือเอาไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรืออย่างไร ทำไม ประเทศไทยถึงตกไปอยู่ในประเทศที่ล้าหลัง แพ้เพื่อนบ้านที่เขาไม่ได้กู้เงินมาแก้ปัญหาโควิด แต่เพื่อนบ้านกลับมีวัคซีนฉีดให้ประชาชน มีเตียงให้ประชาชน มีการดูแลทางการแพทย์ได้มากกว่าประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ปล่อยให้ประเทศไทย และคนไทยรับกรรมเช่นนี้ได้อย่างไร ต้องให้ ประชาชน ด่าลงโซเชียลรัฐถึงจะเข้าไป ดูแล"
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ไม่นึกเลยว่านอกจากจะสร้างหนี้ให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เป็นนักกู้แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา นายกฯ 28คน ยังกู้รวมกันไม่เท่าพลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว วันนี้ประชาชนไม่ได้เจ็บปวดเฉพาะการกู้เงิน และการใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลออก พรก.กู้มาเพื่อใช้เยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 เมื่อกลางปีที่แล้ว. แต่ผลของการกู้คือและการบริหารเงินกู้คือสิ่งที่เห็นในปัจจุบัน คนป่วยไม่มีเตียง ไม่มียา ไม่มีวัคซีนพอ ปล่อยให้ ประชาชนตกอยู่ในความวิตกจริตเสียงกันไปตาม ยถากรรม รับรองได้ว่า หากรัฐบาลเข้ามาขออนุมัติกู้เพิ่มกับรัฐสภา อีกตนจะขอประนาม ความไร้กึ๋นไร้น้ำยาในการบริหาร และฝ่ายค้านจะลับอีโต้อภิปรายชำแหละ นายกฯ และ รัฐบาลให้ประชาชนรู้ว่า เงินเป็น ล้านๆบาทที่กู้ไป แก้โควิดปีที่แล้วหายไปไหนและผลที่ประชาชนต้องรับกรรมวันนี้ เป็นเพราะอะไร
ส่วน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเด็นแรกคือกรณีที่พลเอกประยุทธ์บริหารโควิดล้มเหลว การแถลงเมื่อวันศุกร์ที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา นายกฯบอกให้ประชาชนเชื่อมั่น การ์ดไม่ตก พร้อมประกาศเตรียมฉีดวัคซีนให้ประชาชน 50 ล้านคน แต่สถานการณ์จริงวันนี้คิดเชื้อ 2,000 กว่าคน กราฟตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย.เป็นต้นมาขึ้นมาตลอด ปริมาณคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ผลที่ตามมาคือไม่มีโรงพยาบาล ไม่มีเตียงคนไข้ในการรักษาประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่พอ นายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศบค. บริหารจัดการอะไรไม่ได้เลย
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า วันนี้มีประชาชนเสียชีวิตจากการติดเชื้อ โดยก่อนเสียชีวิตได้ไลฟ์สดด้วย คนที่มีฐานะได้รับการดูแลอย่างดี แต่คนจน รอจนตาย นอกจากนี้ นายกฯปิดท้ายรายการโดยการให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำทุกทางให้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ ประเทศไทยจะต้องชนะโรคร้ายนี้อย่างแน่นอน
"แต่วันนี้มีบิ๊กข้าราชการติดโควิด แต่ไม่แจ้งผู้บังคับบัญชา และไม่แจ้งไทม์ไลน์ ตนสามารถเปิดชื่อเปิดตำแหน่งได้เลย คือนายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ถ้าไม่จริงฟ้องตนได้เลย ตนรับผิดชอบ โดยนายณัฐพล พร้อมรองอธิบดีกรมอุตุ และผู้บริหารกรมอุตุฯ ได้ทำสัญญาเอ็มโอยูกับกรมอุทกศาสตร์ โดยอธิบดีกรมอุตุฯ และพล.ร.ต.จักรกฤช มะลิขาว เจ้ากรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ ไม่ได้ใส่หน้ากาก นั่งด้วยกันในระยะประชิด เจอกันวันที่ 7 เม.ย. แต่พอวันที่ 9 เม.ย. นายณัฐพลไปตรวจพบว่าตัวเองเป็นโควิด แล้ววันที่ 26 เม.ย.ยังจะกลับมาทำงานอีก"
นายยุทธพงศ์ ระบุอีกว่า ขอถามว่า สิ่งที่นายณัฐพลทำนี้ผิดกฎหมายตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อหรือไม่ แล้วพลเอกประยุทธ์จะกล้าจัดการหรือไม่ อย่างไร วันนี้มีผู้บริหารกรมอุตุฯ และกรมอุทกศาสตร์หลายคนไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย วันนี้เชื้อโควิดไม่แพร่กระจายไปทั้งกรมแล้วหรือ นอกจากนี้ นายณัฐพลยังไม่ได้แจ้งน.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีเอส ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนของการสื่อสารโทรคมนาคมและสื่อสังคมออนไลน์ใน ศบค. วันนี้ปลัดกระทรวงดีเอสยังไม่ทราบเลยว่า อธิบดีกรมอุตุฯเป็นโควิด ดังนั้นขอเรียกร้องให้ 1.พล.ร.ต.จักรกฤชและคณะรีบไปตรวจเชื้อโควิด ก่อนที่จะแพร่ไปทั้งกองทัพเรือ 2.ข้าราชการกรมอุตุฯ ต้องหยุดไปทำงาน และไปตรวจเชื้อโดยด่วนก่อนเชื้อจะแพร่ไปทั้งกรมอุตุฯ และทั้งกระทรวง 3.ท่านอธิบดีกรมอุตุฯต้องรับผิดชอบสังคมโดยต้องออกมาเปิดเผยไทม์ไลน์
"ในวันพรุ่งนี้ (26 เม.ย.) จะไปยื่นหนังสือพลเอกประยุทธ์ ในฐานะผอ.ศบค. ตรวจสอบนายณัฐพล โดยตนอยากสะกิดเตือน พลเอกประยุทธ์ว่า ตอนที่ท่านรัฐประหารใหม่ๆ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ปี 57 พลเอกประยุทธ์เคยมีคำสั่งมาตรา 44 ที่ 9/2557 เด้งนายณัฐพลคนนี้จากตำแหน่งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ไปเป็นผู้ตรวจกรมโรงงานและอุตสาหกรรม โดยที่เด้งไปเพราะมีข่าวกรณีความไม่โปร่งใสเรื่องใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมที่ดังๆสมัยนั้น แล้วยังเอากลับมาทำงาน และสร้างปัญหาอีก และตนจะยื่นหนังสือถึงนางอัจฉรินทร์ สอบนายณัฐพล ซึ่งมีคนกระซิบบอกตนว่า ที่นายณัฐพลไม่แจ้งไทม์ไลน์เพราะมีเรื่องพัวพันกับคริสตัลผับ"
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า เรื่องที่สองคือเรื่องงบประมาณในการเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจจำนวน 3.8 แสนล้านบาท โดยนายกฯบอกว่ามีงบฯเพียงพอ วันนี้พี่น้องประชาชนคนยากคนจนที่เดือดร้อนฝากมาทวงว่าปีที่แล้วโควิดระบาดหนักน้อยกว่านี้รัฐบาลให้ 5,000 บาท 3 เดือน วันนี้หนักกว่า ได้แค่ 3,500 เพียง 2 เดือน พลเอกประยุทธ์ท่านบอกบอกท่านมีงบ 3.8 แสนล้านบาท ซึ่งบอกว่ามีงบฯเพียงพอ ขอให้พล.อ.ประยุทธ์รีบนำเงินออกมาเยียวยาช่วยเหลือประชาชน อย่างน้อยก็ขอให้ได้เท่าปีที่แล้วคือ 15,000 บาทก็ยังดี
"วันนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องทำโดยด่วนที่สุดคือการเยียวยาประชาชน ถ้าคุณจะล็อกดาวน์ คุณต้องเอาเงินให้ประชาชนก่อน ไม่อย่างนั้นเขาจะเอาเงินที่ไหนซื้อของกินของใช้ ส่วนเรื่องวัคซีนที่คุณบอกว่าไปเจรจากับที่โน่นที่นี่มาได้ ก็อยากให้ประกาศออกมาเลยว่าประชาชนจะได้ฉีดวัคซีนเมื่อใด แล้วประชาชนจะสามารถไปฉีดได้ที่ไหน บอกไทม์ไลน์มาเลย อย่ามาบอกว่าสิ้นปี เพราะประชาชนรอไม่ได้"