โควิดไทยตายทุบสถิติ 11 ราย สลด!! มีหญิงตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์ ชาวกทม.เสียชีวิตด้วย ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังแรงพบผู้ป่วยเพิ่ม 2,438 ราย มีอาการหนัก 138 ราย ส่วน"ผู้กักตัว 13 ราย"แหกรพ.สนามนราฯ แต่ไปไหน ไม่รอดถูกจนท.ควบคุมตัวได้หมด ด้าน "บิ๊กตู่" สั่งระดมทุกเหล่าทัพจัดกำลังพล-แพทย์-รถ กระจายรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดตามบ้านส่งรักษา รพ.สนาม "บิ๊กป้อม" สั่งตั้งศูนย์ประสานงานโควิด มอบ "ธรรมนัส" ประสานงานภาครัฐ ช่วยปชช.เข้าถึงระบบสาธารณสุข ขณะที่ "กลุ่มหมอ"ไม่ทน! ผุดเคมเปญ" ล่าชื่อ" จี้ "อนุทิน" ลาออก ปมแก้ปัญหาโควิด-19 ล้มเหลว "ดุสิตโพล" เผย ปชช.คาดโควิดระลอก3ใช้เวลามากกว่า3เดือนดีขึ้น เชื่อมีระลอก4เกิดขึ้นแน่ เมิ่อวันที่ 25 เม.ย.64 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2 019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลง ว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,438 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประ เทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,151 ราย จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 282 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประ เทศ 5 ราย รวมผู้ป่วยสะสมจำนวน 55,460 ราย มีผู้ป่วยรักษาหาย 31,113 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 24,207 ราย อาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 138 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 11 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่ม เป็น 1 40 ราย โดย1ใน11รายที่เสียชีวิต เป็นหญิงไทย อายุ 32 ปี อยู่ที่กรุงเทพฯ และตั้งครรภ์ได้ 25 สัปดาห์ มีประวัติเดินทางไปสถานที่เสี่ยง เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงกระแสข่าวจะมีคนในประเทศอินเดียเช่าเหมาลำมายังประเทศไทยว่า กระทรวงต่างประเทศยืนยันว่าไม่เป็นความจริง แต่จะอนุญาตนำคนไทยกลับจากประเทศอินเดียมาในเดือนพ.ค. 4 เที่ยวบิน ซึ่งมีรายชื่อลงทะเบียนของคนไทย สำหรับคนต่างชาติที่อยู่ในอินเดีย จะชะลอการออกใบอนุญาตที่จะเข้ามาในไทยออกไปก่อน ทั้งนี้คนไทยที่ลงทะเบียนที่จะเดินทางกลับไว้แล้วคือวันที่ 1 พ.ค. มี 1 คน วันที่ 8 พ.ค.จำนวน 70 คน วันที่ 15 พ.ค. จำนวน 60 คน ส่วนวันที่ 22 พ.ค.ยังไม่มีใครลงทะเบียน ซึ่งเป็นการ นำคนไทยกลับมาดูแลคนไทย ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวความคืบหน้าหน้า กรณีผู้มีความเสี่ยงสูงที่ถูกกักตัวจำนวน 13 คน อยู่ที่ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพยาเสพติด จ.นราธิวาส ที่ได้ดัดแปลงเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ภายในกองร้อยอาสารักษาดินแดน จ.นราธิวาส ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ได้หลบหนี เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 64 ล่าสุดเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและอาสารักษาดินแดน ได้กระจายกำลังกันค้นหากระทั่งสามารถควบคุมตัวได้หมดทั้ง 13 คน ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ผู้ที่หลบหนี ทั้ง13 คน มีชื่อตรงกับผู้ได้รับปล่อยตัวจำนวน 7 ราย ซึ่งเป็นผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ไม่ใช่นักโทษของเรือนจำจ.นราธิวาสและได้มีหนังสือให้ปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" มีข้อความ ระบุว่า "ผมขอชี้แจงความคืบหน้าการจัดการระบบการบูรณาการโรงพยาบาลสนาม ดังนี้ครับ1.แบ่งการจัดการออกเป็น 3 กลุ่มตามหมายเลขสายด่วน 1) 1668 กรมการแพทย์ เป็นผู้รับผิดชอบ2)1669 กรุงเทพฯ เป็นผู้รับผิดชอบ3)1330 สปสช. เป็นผู้รับผิดชอบ ในส่วนของกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน 2.จัดกลุ่มผู้เข้ารับการรักษาพยาบาล1)ระดับสีเขียว (ผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย) จัดให้เข้าโรงพยาบาลสนาม 2) ระดับสีเหลือง (ผู้ป่วยอาการปานกลาง) จัดให้เข้าโรงพยาบาลทั่วไป3) ระดับสีแดง (ผู้ป่วยอาการรุนแรง) จัดให้เข้าโรงพยาบาลเฉพาะทาง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการติดต่อนัดหมาย และวันนี้ (25 เม.ย.64) จะเร่งนำส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ส่วน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการทุกเหล่าทัพ ประสานการทำงานกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เพื่อจัดกำลังพล ยานพาหนะและบุคลากรทางการแพทย์ทหารให้ เข้าไปช่วยเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการขนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อตามที่พักอาศัยที่มีแจ้ง เพื่อเข้ารับการดูแลรักษาในระบบ ณ สถานพยาบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ขณะที่ น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)กล่าวว่า จากสถานการณ์ แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. จึงได้สั่งการให้ตั้งศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ฝ่ายปฏิบัติการ เป็นผู้ดูแล เพื่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ และประสานงานกับหัวหน้าภาค ทั้ง 10 ภาคของพรรค เพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสาธารณสุข ครอบคลุมทั้งประเทศ วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงาน ได้มีการตั้งเคมเปญล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org โดยเรียกร้องให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากล้มเหลว ในการแก้ปัญหาการระบาด ของโควิด-1 9 ในประเทศไทย โดยมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วจำนวนกว่า 45,000 คน โดยเคมเปญดังกล่าวตั้งขึ้นโดย "หมอไม่ทน" ระบุว่า กว่า 1 ปีเต็มที่ผ่านมาของการระบาด COVID-19 เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า อนุทินไม่มีความสามารถมากพอในการควบคุมดูแลการแพร่ระบาด ของ โควิด-19 ทั้งเรื่องการวางนโยบาย การจัดการทรัพยากร การจัดหาวัคซีน และ การสร้างความเชื่อมั่นให้บุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้หลายครั้งบทสัมภาษณ์จากนายอนุทิน ยังทำให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีวิสัยทัศน์ที่เหมาะสม ในการทำงานควบคุมกระทรวงที่เป็นกระทรวงหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงที่การระบาดไม่สามารถควบคุมได้ ด้าน สวนดุสิตโพล จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "คนไทยกับโควิด-19 ระลอก 3"พบว่า ร้อยละ 67.56 กลัวว่ารัฐบาลจะรับมือไม่ไหว /ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่ารัฐบาลจะรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ได้หรือไม่ พบว่าร้อยละ 35.73 ไม่น่าจะรับมือได้ เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าต้องใช้ระยะเวลาประมาณเท่าใด สถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 จึงจะดีขึ้น พบว่ามากกว่า 3 เดือน ร้อยละ 50.58ส่วน3 เดือนร้อยละ 22.19 จำนวน 2 เดือน ร้อยละ 17.82และ 1 เดือน ร้อยละ 9. 41เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าโควิด-19 จะมีการระบาดระลอก 4 อีกหรือไม่ผลสำรวจพบว่า มี ร้อยละ 58.89 ไม่แน่ใจร้อยละ 37.61ไม่มี ร้อยละ 3.50. ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ในต่างประเทศ ล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เกิดเหตุถังออกซิเจนระเบิด จนทำให้เพลิงไหม้ในโรงพยาบาลไอบีเอ็น อัล-คอติบ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกราว 50 ราย เมื่อช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ผ่านมา รายงานข่าวแจ้งว่า โรงพยาบาลได้รับความเสียหายอย่างหนัก เนื่องจากทีมนักผจญเพลิง ต้องใช้เวลานานกว่าจะควบคุมเพลิงไว้ได้ รายงานข่าวเผยว่า ระหว่างเกิดเหตุมีผู้ป่วยโรคโควิดฯ นอนพักรักษาตัวราว 120 ราย ในจำนวนนี้มีอาการวิกฤติ ต้องอยู่ในห้องไอซียู จำนวนถึง 30 ราย ทางด้าน นายมุสตาฟา อัล-คาดีมี นายกรัฐมนตรีอิรัก กล่าวแสดงความเสียใจ พร้อมระบุว่า เป็นอุบัติเหตุโศกนาฏกรรม แต่อย่างไรก็ตาม ทางการได้เร่งสอบสวนถึงเหตุการณ์ดังกล่าว สำหรับ สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอิรัก พบผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจำนวน 1,025,288 ราย มากเป็นอันดับที่ 25 ของโลก ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวน 15,217 ราย และผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 897,966 ราย ทางด้าน สถานการณ์คืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ขนานต่างๆ ในพื้นที่ประเทศ 207 ประเทศทั่วโลก มีจำนวนมากกว่า 1,000 ล้านโดสแล้ว เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานข่าวแจ้งว่า จำนวนการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดฯ ทั่วโลก ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน จากการเร่งฉีดให้แก่ประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายวัคซีน โดย ปรากฏว่า วัคซีนร้อยละ 47 ได้ถูกฉีดในกลุ่มประเทศร่ำรวย หรือมีรายได้สูง ซึ่งกลุ่มประชากรของประเทศร่ำรวยนี้มีจำนวนร้อยละ 16 ของโลก และมีรายงานด้วยว่า สหภาพยุโรป หรืออียู จะมีวัคซีนฉีดให้ประชากรวัยผู้ใหญ่ถึงร้อยละ 70 ภายในสิ้นเดือน ก.ค. หรือกลางปีนี้ แตกต่างจากกลุ่มประเทศยากจน ที่ส่วนใหญ่รับวัคซีนผ่านโครงการโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ ซึ่งฉีดไปแล้วเพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้น ขณะที่ สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ปรากฏว่า ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ 219 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนสะสมอยู่ที่ 147,083,571 ราย ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวน 3,113,052 ราย และผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 124,723,319 ราย โดยประเทศสหรัฐอเมริกา สถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรที่สุด จากการที่มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมมากที่สุดในโลกจำนวน 32,789,653 ราย และมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากที่สุดในโลกจำนวน 585,880 ราย ส่วนผู้ป่วยที่รักษามีจำนวนสะสม 25,339,874 ราย