วันที่ 25 เมษายน 2564 นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลควรจะต้องออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้นอย่างเคอร์ฟิวหรือล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 หรือไม่ ว่า โดยส่วนตัวคิดว่าควรจะออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งระดับความเข้มข้นนั้นมีหลายแง่มุม ได้แก่ 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ สาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม คือจะต้องเป็นมาตรการที่ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่คำนึงถึงแค่ในมุมของสาธารณสุขอย่างเดียว เราจะเอาด้านใดด้านหนึ่งอย่างสุดโต่งไม่ได้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลพยายามประกาศสงครามกับโควิด-19 ที่เทน้ำหนักไปที่แนวทางสาธารณสุขค่อนข้างเยอะ โดยไม่สนใจเรื่องเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลสามารถใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นได้ แต่ก็ต้องตอบโจทย์และสอดคล้องกับความเป็นจริง การประกาศเคอร์ฟิวในตอนกลางคืนช่วยลดการติดเชื้อจริงหรือไม่ ยกตัวอย่าง หากรัฐบาลต้องการช่วยภาคธุรกิจกลางคืนจะออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างไรโดยที่ธุรกิจเหล่านี้ยังสามารถเดินไปได้ ซึ่งไม่เห็นว่ารัฐบาลจะมีกลยุทธ์อะไรใหม่ขึ้นมา คือ คุณไม่สามารถชนะสิ่งที่คุณแพ้มาแล้วด้วยรูปแบบเดิมๆ ได้ มันมีแต่คนโง่เท่านั้นที่จะแก้ปัญหาซ้ำๆ ด้วยวิธีการเดิมๆ
ทั้งนี้ นพ.วาโย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้ออกมาเตือนแล้วว่า การพยายามให้ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อมารวมอยู่ในที่สถานกักกัน ทั้งในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และฮอสปิเทล ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการหรือสร้างสถานที่รูปแบบนี้ได้ทัน จำนวนผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะสถิติในแต่ละวันมีนิวไฮตลอด อย่างวันที่ 24 เมษายน มียอดติดเชื้อ 2,839 ราย ซึ่งนักวิชาการหลายคนก็มีความกังวล เพราะอาจจะมีจำนวนเพิ่มถึงวันละ 10,000 ราย การที่นำคนไปรวมอยู่ในสถานที่กักกันของรัฐคือวิธีที่ควรจะทำจริงหรือไม่ แพทย์ของกรมการแพทย์และอาจารย์แพทย์ที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย ที่อยู่ใน ศบค. ได้เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. แต่ท่านกลับไม่รับฟังคำแนะนำ โดย พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ไม่ให้ทำ home isolation เพราะว่าคนไทยไม่มีวินัย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 เมษายน ทางกรมการแพทย์ได้ประกาศแนวทาง home isolation ออกมาเรียบร้อยแล้ว แต่กลับได้รับการบอกว่าห้ามเผยแพร่
ซึ่งนพ.วาโยกล่าวว่า หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งล่าสุดก็เกิดกรณีที่มีผู้ติดเชื้อโพสต์ว่า ตัวเองติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการหนัก แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่มารับไปรักษา จนสุดท้ายต้องเสียชีวิตลงในบ้านของตัวเอง ขณะที่ผู้ติดเชื้อที่มีอาการเบากลับได้ไปอยู่ภายใต้การรักษาในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม กรณีนี้เกิดขึ้นเพราะไม่มีการคัดเลือกที่เป็นระบบ พยายามจะตีขลุมนำคนทั้งหมดไปกักกัน แต่ไม่สามารถดูแลคนเหล่านี้ทั้งหมดได้
อีกทั้ง นพ.วาโย กล่าวว่า ล่าสุดนายณัฐพล เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรค ก.ก. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่ปกติจะต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาแบบผ่าตัด แต่ไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้ เพราะทางโรงพยาบาลติดเคสผู้ป่วยโควิด-19 นี่คือ สัญญาณของการล่มสลายของระบบสาธารณสุข ในอนาคตอาจจะไม่ใช่แค่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ตายที่บ้าน แต่อาจจะเป็นผู้ป่วยโรคอื่นที่มีอาการรุนแรงก็ได้