รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...
สถานการณ์ทั่วโลก 25 เมษายน 2564...
ทะลุ 147 ล้านไปแล้ว ส่วนอินเดียยังทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดติดเพิ่มเกือบสามแสนห้าหมื่นคน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดยังเป็นเหมือนเมื่อวานคือ อินเดีย บราซิล อเมริกา ตุรกี และฝรั่งเศส
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มถึง 834,255 คน รวมแล้วตอนนี้ 147,027,154 คน ตายเพิ่มอีก 13,522 คน ยอดตายรวม 3,111,697 คน
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 50,587 คน รวม 32,786,960 คน ตายเพิ่ม 735 คน ยอดเสียชีวิตรวม 585,873 คน อัตราตาย 1.8%
อินเดีย ติดเพิ่มมากถึง 349,165 คน รวม 16,951,621 คน ตายเพิ่ม 2,760 คน ยอดเสียชีวิตรวม 192,309 คน อัตราตาย 1.1%
บราซิล ติดเพิ่ม 70,105 คน รวม 14,308,215 คน ตายเพิ่มถึง 2,869 คน ยอดเสียชีวิตรวม 389,492 คน อัตราตาย 2.7%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 32,633 คน ยอดรวม 5,473,579 คน ตายเพิ่ม 217 คน ยอดเสียชีวิตรวม 102,713 คน อัตราตาย 1.9%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 8,828 คน รวม 4,753,789 คน ตายเพิ่ม 399 คน ยอดเสียชีวิตรวม 107,900 คน อัตราตาย 2.3%
อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่นต่อวัน
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
ล่าสุดโคลอมเบียแซงโปแลนด์ขึ้นมาเป็นอันดับ 12 ของโลก ติดเพิ่มวันละกว่า 16,000 คน
ฟิลิปปินส์นั้นติดวันละเกือบหมื่นคน อีกสองวันจะมียอดรวมเกินล้านคน
ญี่ปุ่นติดเพิ่มเกินห้าพันคนต่อวันมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าช่วงพีคของเค้าน่าจะราวสัปดาห์ที่ 1-2 ของพฤษภาคม
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง
เกาหลีใต้ และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง จีน เวียดนาม และนิวซีแลนด์ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
...ดูแล้วเกาหลีใต้กำลังอยู่ในช่วงไต่ระดับของระลอกที่สี่ โดยเริ่มตั้งแต่ต้นเมษายนที่ผ่านมา แต่หวังใจว่ายังสามารถจัดการได้ทันเวลา
หลายประเทศควบคุมโรคได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นนิวซีแลนด์ ไต้หวัน ออสเตรเลีย ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ และเวียดนาม
ถามว่าหลักการสำคัญของเค้าที่ทำให้เราได้เรียนรู้คืออะไร?
มาตรการที่เข้มข้น ชัดเจน ทันเวลา ระบบการตรวจที่มีศักยภาพ การเคร่งครัดมาตรการป้องกันตัว และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและกล้าหาญที่จะแสดงความรับผิดชอบ
ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกลับมาฟื้นฟูได้เร็วนั้น มักไม่ลังเลที่จะประกาศล็อคดาวน์ในยามที่มีการระบาดเกิดขึ้น มองว่าล็อคดาวน์เป็นเรื่องปกติ เป็นวิธีที่ได้ผลยามวิกฤติที่เป็นโรคระบาดที่แพร่เร็วอย่างโควิด-19
...หวานเป็นลม ขมเป็นยา...
ยานั้นมีความขม...แต่การใช้ยาอย่างถูกต้อง ในระยะเวลาอันสั้น ก็จะจัดการการระบาดได้ดี และทำให้สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว
ในขณะที่บางประเทศที่เลือกกินขนมหวาน...มองโลกสดใส วาดฝันว่าจะหากินกันได้ชิลๆ ทั้งที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ในความเป็นจริงนั้นจะทำให้เกิดความเสี่ยงสูง และยากที่จะไล่ตามโรคระบาดได้ทัน และนำไปสู่วิกฤติคนติดเชื้อจำนวนมาก เสียชีวิตมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ในระบบก็ทำงานอย่างหนักจนยากที่จะรับไหว ดังที่เห็นในแถบยุโรปมาแล้ว
ดังนั้น ความเชื่อว่าล็อคดาวน์แล้วเสียหายเยอะ เลยไม่ทำ จนสุดท้ายแล้วไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ก็จะมีโอกาสเห็นความเสียหายมหาศาลตามมาและมากกว่าการล็อคดาวน์ระยะสั้น มีทั้งสูญเสียชีวิต ผลิตภาพโดยรวม รวมถึงการกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและความสามารถในการฟื้นตัวของประเทศในระยะยาว นี่เข้ากับสิ่งที่เรารู้กันมาคือ เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย...
สำหรับสถานการณ์ในไทยเรา...หนักขึ้นเรื่อยๆ ระบาดกระจายไปทั่ว
สิ่งที่อยากเรียนเน้นย้ำประชาชนในช่วงถัดจากนี้คือ
หนึ่ง "ขอให้สวมหัวใจสิงห์ ปกป้องตัวเองและสมาชิกในครอบครัวอย่างเต็มที่ ให้อยู่รอดปลอดภัย ไม่ติดเชื้อ"
สอง หัวใจหลักที่ใช้เพื่อให้อยู่รอดคือ "ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างคนอื่น ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นจริงๆ เลี่ยงการกินดื่มในร้านหรือโรงอาหาร ไม่นัดพบปะคนอื่นโดยไม่จำเป็น ควรใช้โทรศัพท์หรือออนไลน์แทน"
สาม "การใส่หน้ากาก" ควรใส่ 2 ชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย และชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า การใส่เช่นนี้จะช่วยให้ฟิตกับใบหน้ามากขึ้น ลดช่องว่างระหว่างหน้ากากกับผิวหน้า จะช่วยป้องกันได้ดีขึ้น
สี่ "เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมอุปกรณ์ป้องกัน เตรียมงาน เตรียมแผนการใช้จ่าย และเตรียมสถานที่พักอาศัย" ให้พร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ
และห้า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการระบาดระลอกสามนี้จะมีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนจำนวนมาก หากพอช่วยเหลือแบ่งปันให้กับคนที่ทุกข์ยากกว่าเรา ในละแวกพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำ อุปกรณ์ป้องกันต่างๆ คำปรึกษาช่วยเหลือ รวมถึงงานเล็กๆ น้อยๆ ก็จะช่วยให้ประเทศเราประคับประคองทุกคนให้อยู่รอดปลอดภัยไปด้วยกันได้
ส่วนธุรกิจอุตสาหกรรม และสถานประกอบกิจการเล็กกลางใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าขาย บริการ รวมถึงท่องเที่ยว เดินทาง และที่พักรูปแบบต่างๆ นั้น อยากจะขอให้คิดวางแผนสำหรับอนาคตว่า จะมีการระบาดต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องหาทางปรับรูปแบบกิจการของเรา ให้เน้นความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรของเราและลูกค้าอย่างถาวร ทั้งนี้เราได้เรียนรู้แล้วว่า พอระบาดปะทุขึ้นมา ผลกระทบมันมีมากเกินกว่าจะรับไหว ดังนั้นหากปรับรูปแบบการประกอบกิจการได้โดยเน้นจำนวนคนลดลง จำนวนครั้งที่พบปะกันลดลง เวลาที่มีปฏิสัมพันธ์กันลดลง ก็จะทำให้มีโอกาสประคับประคองกิจการไปได้ในระยะยาวครับ
เราสู้และอยู่รอดไปด้วยกัน
ด้วยรักและห่วงใย
สวัสดีวันอาทิตย์ครับ