กรมชลประทาน ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้ากำจัดผักตบชวาในแม่น้ำสายหลักอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐบาล โดยรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งกำจัดวัชพืช ผักตบชวา และสิ่งกีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนจะมา เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน และลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท หลังจากพบว่ามีผักตบชวาไหลลงมาสะสมบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยากว่า 40,000 ตัน และคาดว่าจะไหลลงมาเพิ่มอีกอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ได้ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ ลงไปเสริมเพิ่มเติมจากเดิม อาทิ รถขุดไฮดรอลิคแบบแขนยาว 3 ชุด รถขุดไฮดรอลิคแบบลงโป๊ะ 6 ชุด เรือดันวัชพืช 2 ลำ และรถบรรทุกเทท้าย 2 คัน เร่งเข้าไปกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ปัจจุบันกำจัดวัชพืชไปได้แล้วกว่า 3,700 ตัน ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานชลประทานที่ 12 ได้กำหนดแผนงานกำจัดวัชพืชปี 2564 (ม.ค.–เม.ย.64) จำนวน 4 โครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานกำจัดวัชพืชปี 2564 (นอกแผน) อีก 9 โครงการ รวมระยะทางกว่า 120 กิโลเมตร ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่า 110 กิโลเมตร และคาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้
นอกจากนี้ในแม่น้ำสายหลักบริเวณภาคกลาง กรมชลประทาน ได้เข้าดำเนินการจัดเก็บกำจัดวัชพืชและผักตบชวาอย่างเร่งด่วน อาทิ ที่ อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี พบวัชพืชสะสมกว่า 5,000 ตัน บริเวณแม่น้ำน้อยช่วงสะพานท่าช้าง ได้ส่งรถแบ๊คโฮลงโป๊ะเข้ากำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ดังกล่าวไปแล้วกว่า 4,000 ตัน ที่ ต.บางน้ำเปรี้ยว อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ได้ส่งส่งรถแบ๊คโฮลงโป๊ะเข้ากำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณคลองขวาง คลองเปร็ง และคลองชวดพร้าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ อีกทั้งช่วยให้ประชาชนในพื้นที่สามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน เมษายน 2564
ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล และสำนักงานชลประทานทุกแห่ง ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าในพื้นที่พร้อมทั้งกำชับให้เร่งดำเนินการเก็บวัชพืชโดยเฉพาะผักตบชวาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน และสนับสนุนเพื่อการผลิตน้ำประปาให้กับประชาชน อีกทั้งยังช่วยระบายน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มที่กำลังรุกขึ้นสูงในขณะนี้อีกด้วย