สนทนากับ ‘ศ.ดร.เกศรา ณ บางช้าง’ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ มือปราบ ‘มาลาเรียดื้อยา’ เภสัชวิทยาไทย ระดับ 2% แรกของโลก วันที่ 25 เมษายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น “วันมาลาเรียโลก” โดยในปีนี้ มีคำขวัญคือ Zero Malaria - Draw the Line Against Malaria หรือ “กำหนดเส้นชัย กำจัดไข้มาลาเรียเป็นศูนย์” ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยามากที่สุดในโลก ระดับความรุนแรงของสถานการณ์ไม่อนุญาตให้สามารถรอคอยการวิจัยหรือผลิตยาใหม่ๆ หนทางเดียวเท่าที่พอทำได้ คือการนำยา-ทรัพยากรที่มีอยู่ตรงหน้า มาพัฒนาและปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ความรู้ทางด้าน “เภสัชวิทยา” จึงถูกนำออกมาเดิมพันชะตากรรมประเทศไทย โดยมี ศ.ดร.เกศรา ณ บางช้าง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยค้นคว้าและพัฒนายา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษา วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มธ. เป็นกำลังหลักในการต่อสู้ เมื่อพูดถึง “เภสัชวิทยา” เชื่อว่าหลายคนคงไม่คุ้นชินเท่าใดนัก เภสัชวิทยาเป็นสาขาวิชาหนึ่งของเภสัชศาสตร์ ที่มุ่งไปยังขบวนการที่ร่างกายจัดการยาและการออกฤทธิ์ของยา การใช้ยาเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดและปลอดภัย ด้วยองค์ความรู้ของเภสัชวิทยานี้เอง ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์จากประเทศที่มักเป็นจุดเริ่มต้น และแพร่กระจายเชื้อมาลาเรียซึ่งดื้อยามากที่สุดในโลก จนอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ศ.ดร.เกศรา ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2564 สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช เล่าว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เภสัชวิทยาได้เข้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพของยาที่มีใช้อยู่เดิม เพื่อใช้แก้ปัญหามาลาเรียดื้อยา “หลายกรณีบ่งชี้ว่าเป็นเชื้อดื้อยา แต่ในความจริงแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่เชื้อดื้อยา แต่เกิดจากตัวผู้ป่วยเองที่อาจดูดซึมยาได้ไม่ดี หรือร่างกายกำจัดยาเร็วเกินไปจนทำให้ระดับยาในเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อไม่เพียงพอฆ่าเชื้อ นักเภสัชวิทยาจึงต้องค้นหาปัจจัยต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ให้ได้ว่าความล้มเหลวจากการรักษานี้เกิดจากอะไร และปรับปรุงวิธีการใช้ยาให้ถูกต้อง ไม่ใช่การเปลี่ยนยาไปเรื่อยๆ โดยไม่ค้นหาสาเหตุ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์การดื้อยารุนแรงขึ้นไปอีก” ศ.ดร.เกศรา ระบุ เธออธิบายว่า เมื่อผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ยาในขนาดที่เท่ากันกับทุกคนได้ จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพร่างกาย อายุ เพศ น้ำหนัก ภาวะการตั้งครรภ์ การมีโรคอื่นๆ หรือการใช้ยาอื่นๆ ร่วมด้วย และพันธุกรรม แม้กระทั่งเชื้อชาติ ซึ่งล้วนแต่มีผลทำให้การออกฤทธิ์ของยาแตกต่างกันไป ดังนั้นในอดีตที่ประเทศไทยยังขาดการนำองค์ความรู้ด้านเภสัชวิทยามาประยุกต์ใช้ในการรักษาโรค จึงมักมีการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม และส่งผลให้เกิดเชื้อโรคดื้อยาที่ตามมา โดยเฉพาะในยาปฏิชีวนะต่างๆ จากการต่อสู้กับปัญหาเชื้อโรคมาลาเรียดื้อยามาเป็นระยะเวลานาน ปัจจุบันสถานการณ์ในประเทศค่อยๆ ดีขึ้น รวมไปถึงผลจากการคิดค้นตัวยาโดยนักวิจัยรางวัลโนเบลชาวจีน ซึ่งใช้พื้นฐานสมุนไพรจีนพัฒนามาเป็นยาซึ่งนับว่าเป็นยาต้านมาลาเรียที่ดีที่สุดในขณะนี้ และสามารถพลิกสถานการณ์โรคมาลาเรียดื้อยาให้อยู่ในสถานะที่ควบคุมได้ ศ.ดร.เกศรา บอกว่า แม้ว่าเภสัชวิทยาจะสามารถลงมือทำงานวิจัยได้ทุกๆ โรค แต่ถ้าเราไปมุ่งในโรคที่เป็นปัญหาหลักของโลกก็อาจไม่สามารถแข่งขันกับงานวิจัยจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีความพร้อมมากกว่าได้ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เธอตั้งเป้าหมายงานวิจัยไปที่โรคที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของไทย และภูมิภาค เขตร้อน อย่างเช่น โรคมาลาเรีย และมะเร็งท่อน้ำดี จึงเป็นช่องให้เราสามารถทำงานเพื่อให้เกิดผลลัพธ์จากงานวิจัยซึ่งไม่ใช่เฉพาะบทความตีพิมพ์ทางวิชาการเพียงเท่านั้น หรือที่เรียกงานวิจัยขึ้นหิ้ง แต่สามารถนำไปใช้ได้จริงในผู้ป่วย “ความสำคัญของการเลือกเส้นทางงานวิจัย เราต้องเลือกอะไรที่สามารถแข่งขันได้ บนศักยภาพที่เรามี ยกตัวอย่างโควิด-19 ซึ่งในส่วนตัวแล้วกลุ่มวิจัยของตนเองคงสู้ไม่ทันเขา สถานการณ์หนักมากทั่วโลก นักวิทยาศาสร์ทั่วโลกจึงให้ความสนใจอย่างมาก ในทางกลับกันโรคเขตร้อนไม่ได้เป็นปัญหาในประเทศที่มีกำลังการวิจัย ทั้งนักวิจัยและบริษัทยาจึงอาจไม่ได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากไม่สามารถสร้างผลกำไรได้คุ้มค่ากับการลงทุน” ศ.ดร.เกศรา ระบุ สำหรับสถานการณ์เภสัชวิทยาในประเทศไทย “ศ.ดร.เกศรา” บอกว่า ในหลายประเทศ อาทิเช่นอังกฤษ เภสัชวิทยาได้รับความสำคัญนับเป็นหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิตหลักสูตรหนึ่ง แต่ในเมืองไทยเภสัชวิทยาจะเป็นเพียงวิชาหนึ่งที่มีแทรกอยู่ในการเรียนในหลักสูตรเภสัชศาสตร์ หรือแพทยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาอื่น ๆ เท่านั้น ปัจจุบันสาขาวิชาเภสัชวิทยาในประเทศไทยจึงยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แม้ว่าจะดีขึ้นกว่าเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว แต่การรักษาผู้ป่วยในเมืองไทยบทบาทสำคัญยังอยู่ที่แพทย์เป็นหลัก บทบาทของบุคคลากรอื่นในสาขาที่เกี่ยวข้องยังไม่ชัดเจน “ส่วนตัวในฐานะอดีตนายกและกรรมการที่ปรึกษาในปัจจุบันของสมาคมเภสัชวิทยาแห่งประเทศไทย จึงพยายามผลักดันบทบาทเหล่านี้มากขึ้น เพราะหากนักเภสัชวิทยาได้มีโอกาสทำงานร่วมกับแพทย์มากขึ้น จะทำให้การใช้ยาในการรักษาโรคหนึ่งมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น แก้ไขปัญหาได้ถูกจุด เช่น การประยุกต์ใช้เภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพันธุศาสตร์ เพื่อการจัดขนาดยาให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายหรือแต่ละกลุ่ม รวมไปถึงการบูรณาการร่วมกับศาสตร์อื่น ๆ” ศ.ดร.เกศรา ระบุ สำหรับ ศ.ดร.เกศรา เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกจัดอันดับอยู่ใน “Top 2% World’s Scientists” จากการจัดลำดับนักวิจัยสาขาต่างๆ ปี 2020 โดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ซึ่งพิจารณาจากผลงานและการตีพิมพ์และการอ้างอิงผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ