ดร.อรุณี กาสยานนท์ (ดร.หญิง) โฆษกพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 และข้อเสนอการแก้ไขปัญหาไปยังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยระบุว่า  ประยุทธ์ต้องยอมรับความจริง! หญิงคิดว่าในเมื่อรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาและจัดการการระบาดได้ด้วยตัวเอง แม้จะมี ศบค.แต่สุดท้ายยังทำงานเชิงรับแบบนี้ รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่าลำพังตัวเองนั้น 'ทำไม่ได้ ไปไม่รอด' ตอนนี้ต้องคิดได้แล้วว่าปัญหาที่มีอยู่เกิดจากอะไร แล้วหาวิธีปิดจุดบอดนั้น รีบเปิดใจให้คนที่เชี่ยวชาญและเก่งเข้ามาช่วยแม้จะเห็นต่างในทางการเมือง เพราะนี้เป็นภาวะวิกฤต สิ่งที่ต้องทำตั้งแต่วันนี้ คือแก้ปัญหาเหล่านี้ 1. แพทย์ พยาบาล ไม่พอ 2. โรงพยาบาลรัฐรับผู้ป่วยหนักไม่พอ 3. การได้มาซึ่งวัคซีน และวัคซีน SINOVAC กำลังมีผลกระทบข้างเคียงหรือไม่ หญิงขอเสนอทางออกในฐานะที่เป็นทั้งโฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และในฐานะของประชาชนคนหนึ่งที่อยากจะช่วยคิดแก้ปัญหาในตอนนี้ “แพทย์ พยาบาล ไม่พอ ทางออกที่คิดไม่สุดทาง” หญิงเห็นด้วยกับแนวคิดของพลเอกประยุทธ์ที่ขอความร่วมมือให้แพทย์และพยาบาลที่เกษียณอายุ มาช่วยกันทำงานในช่วงที่เกิดการระบาดนี้ ซึ่งหญิงไม่แน่ใจว่าตั้งแต่ที่พลเอกประยุทธ์ประกาศออกไป มีแพทย์ พยาบาล เข้ามาร่วมมือมากน้อยแค่ไหนแล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าเหล่าแพทย์ พยาบาล ที่เกษียณอายุไปแล้วนั้น มีความมั่นใจที่จะมาร่วมด้วยช่วยกันแค่ไหน เพราะคนที่เกษียณอายุไปแล้วหมายถึงผู้ที่สูงอายุ ซึ่งเมื่อมาร่วมรับมือโรคระบาดอย่างโควิด ก็สมควรต้องได้รับวัคซีนก่อนที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้หรือไม่ “โรงพยาบาลรับผู้ป่วยหนักไม่พอ” เรามีสายด่วน 1668 กรมการแพทย์ หรือ 1646 ศูนย์เอราวัณ หรือ 1330 สายด่วน สปสช. หาเตียงให้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่พบว่ามีผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรงจำนวนมากโทรติดต่อเบอร์เหล่านี้ยากลำบาก แต่เมื่อโทรติดเจ้าหน้าที่แนะนำให้รอคิว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก จนต้องออกมาร้องเรียนผ่านสื่อหลายครั้ง กลายเป็นว่าสื่อคือที่พึ่งของผู้ป่วยแทนที่จะเป็นรัฐบาลไปแล้ว จากข้อมูลล่าสุด (18 เม.ย.64) มีผู้ป่วยโควิดติดต่อขอเตียงผ่านสายด่วน 1668 จำนวน 1,204 คน รับเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแล้ว 627 คน และรอเตียงอยู่ 509 คน แม้ในจำนวนนี้จะเป็นผู้ป่วยที่ไม่ค่อยมีอาการ 362 คน และข้อมูลสายด่วนที่โทรเข้า 1330 (22เม.ย.64) มีผู้ติดเชื้อกว่า 1000 ราย ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. เป็นต้นมา มีเคสค้างที่รอเตียงกว่า 500 ราย และยังมีผู้ติดเชื้อโทรมาแจ้งกว่าวันละ 100 ราย ทางโรงพยาบาลก็พยายามเร่งจัดหาเตียง และเบื้องต้นใช้การโทรสอบถามอาการในเคสที่ไม่รุนแรงและให้กักตัวอยู่บ้าน รักษาตัวตามอาการ แต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่าอาการป่วยจะรุนแรงขึ้นเมื่อไหร่ หรือ Hospitel ตอนนี้ หญิงก็คิดว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่คิดไปไม่สุดทาง เพราะ Hospitel มีศักยภาพแค่รับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการเท่านั้น ซึ่งเราก็มีโรงพยาบาลสนามที่มีกระจายอยู่ทุกพื้นที่ จากรายงานจำนวนเตียงโรงพยาบาลสนามในสังกัดของกระทรวงอุดมศึกษาฯ ยังมีเตียงรองรับผู้ป่วยได้กว่า 7,193 เตียง และมีอีกหลายแห่งที่จะเปิดเพิ่มได้ทั้งในส่วนของสถานศึกษาและฝ่ายความมั่นคง แต่ในอนาคต หากมีจำนวนผู้ป่วยโควิดมากขึ้น เตียงในโรงพยาบาลสนามก็อาจจะไม่เพียงพอรองรับได้ แม้กระทั่งเตียงโรงพยาบาลเอกชนเองก็ยังอาจจะไม่พอเลยค่ะตอนนี้ หญิงจึงเสนอว่า รัฐควรไปจับมือกับเอกชนที่ทำ Budget Hotel หรือ Service Apartment ที่ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์แล็บของเอกชน ซึ่งมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ทันสมัย และมีบุคลากรทางการแพทย์อยู่ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดที่แสดงอาการและต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน แทนโรงพยาบาลของรัฐที่เตียงไม่พอ หรือสำหรับคนที่ไม่สามารถหาเตียงของโรงพยาบาลเอกชนได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาเตียงไม่พอและยังช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการได้ในอีกทางด้วย “การได้มาซึ่งวัคซีนมีปัญหาทุกด้าน” หญิงขอไม่ลงถึงปัญหาที่เกิดจากการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล ที่ทั้งช้าและน้อย (เพราะได้พูดมาหลายครั้งและเสนอทางออกมาหลายวิธีเช่นกัน) แต่หญิงอยากจะให้รัฐทบทวนการจัดลำดับความสำคัญของการฉีดวัคซีนใหม่ รัฐบอกเองว่า 'ในช่วงที่วัคซีนมีจำกัด' จะต้องฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก่อนเป็นอันดับแรก รองลงมาให้ฉีดผู้สูงอายุ หญิงคิดว่า เมื่อเกิดการระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรายวันหลักพันคนแบบนี้ รัฐต้องปรับแผนการฉีดวัคซีน เมื่อฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์กลุ่มแรก แต่ในกลุ่มที่สองควรเปลี่ยนการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ มาฉีดให้กลุ่มที่สร้างรายได้เข้าประเทศในสัดส่วนที่มากขึ้นแทนจะดีกว่าหรือไม่ เพื่อกระตุ้นการสร้างรายได้เข้าประเทศ และเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายของผู้สูงอายุที่เกิดจากผลข้างเคียงของวัคซีน อย่างที่ได้เกิดขึ้นในต่างประเทศทั้งเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในบางราย หรือในไทยเองก็เกิดภาวะ (คล้าย) อัมพฤกษ์อย่างที่ ศบค.บอก สำหรับกรณีที่มีผู้รับการฉีดวัคซีนของ SINOVAC แล้วพบอาการอัมพฤกษ์จำนวน 6 ราย ที่จังหวัดระยองนั้น และล่าสุด จากข่าวโรงพยาบาลที่ลำปาง วันนี้ 22 เม.ย.64 บุคลากรทางการแพทย์ก็มีอาการอัมพฤกษ์ เป็นผลข้างเคียงอีกจากการฉีด วัคซีน SINOVAC กว่า 40 ราย หญิงเสนอว่า 1. ควรเร่งตรวจสอบหาสาเหตุ หลังเกิดการฉีดวัคซีนของ SINOVAC มีปัญหารัฐบาลควรระงับการฉีดไว้ก่อนได้หรือไม่ ? แล้วทดสอบวัคซีนอย่างละเอียดอีกรอบ จะดีกว่าหรือไม่ ? 2. ควรนำผลการฉีดวัคซีนทั้ง 7 แสนโดส ทั้งในรายที่ฉีดไปแล้ว 1 เข็ม หรือ 2 เข็ม มาวิเคราะห์และประเมินว่าควรจะฉีดต่อหรือระงับใช้วัคซีนของ SINOVAC หรือไม่ ? เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แม้จะมีผู้พบอาการไม่พึงประสงค์ไม่รุนแรง จากการฉีดวัคซีนของ SINOVAC 72 ราย และพบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง 6 ราย ดังนั้นรัฐจึงควรเร่งสอบสวนและแถลงกับพี่น้องประชาชนให้ชัดเจน ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่เล่นคำให้เร็วที่สุด วิธีคิดของหญิงในการทำงานตลอดมาคือ ทุกครั้งที่หญิงมีปัญหา จะเริ่มต้นด้วยการยอมรับความจริงให้ได้ก่อน ว่าตัวเองมีจุดอ่อนตรงไหน และเก่งด้านไหน ถ้ารู้แล้วก็แก้ไข ถามตัวเอง ถามคนรอบข้างให้ช่วยเตือนช่วยบอก ซึ่งที่ผ่านมาก็ช่วยหญิงหลุดพ้นจากวังวนของการติดบ่วงความหลงผิดในตัวเองได้ ซึ่งหญิงเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้สึกเหล่านี้ ในยามนี้เราต้องยอมรับว่า ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤต การจะสู้กับวิกฤต จะคิดหรือทำแบบเก่า ๆ แบบดั้งเดิม จะสู้ไม่ได้ ความร่วมมือจากทุกฝ่าย การเริ่มต้นที่เปิดใจ ฟังให้มากกว่าพูด และ 'พูด' ให้น้อยกว่า 'ทำ' เป็นสิ่งสำคัญ และจะช่วยพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตไปได้