วันที่ 23 เม.ย.64 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ร่วมเวทีเสวนา "The Return of the Red Shirts and its meaning for Thai politics" จัดโดยสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำประเทศไทย (FCCT) เมื่อช่วงค่ำวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ช่วงหนึ่งผู้ร่วมฟังเสาวนาตั้งคำถามถึงประเด็นที่  นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน และ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง  แกนนำกลุ่มราษฎร อดอาหารประท้วงภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลาง นายณัฐวุฒิ  กล่าวว่า ตนได้แสดงความหวังต่อเรื่องนี้ไปแล้วผ่านแม่ของเพนกวิน และอยากให้เขาทบทวนแนวทางการอดอาหารในเรือนจำ แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาก็คือเพนกวิน ยืนยันที่จะตัดสินใจเช่นเดิม เป็นเรื่องที่ตนต้องเคารพการตัดสินใจ "ในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่า การอดอาหารของเพนกวินและรุ้ง และเพื่อนๆวันนี้ ไม่ได้ส่งผลกดดัน ต่อรัฐบาลหรือต่อผู้มีอำนาจกลุ่มใด และด้วยระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป ด้วยสุขภาพร่างกายของพวกเขา ซึ่งผมทราบมาว่ามีโรคประจำตัว ไม่ได้แข็งแรงนัก ความรักความผูกพันของพ่อแม่ ของประชาชนเพื่อนมิตรผู้ร่วมอุดมการณ์ สิ่งเหล่านี้ กำลังเป็นแรงเสียดทานในความรู้สึกของทุกคนที่รักและห่วงใยพวกเขามากกว่า" นายณัฐวุฒิ กล่าว นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่าไป อย่างไรก็ตามเราต้องอยู่กับความจริง เมื่อเขาตัดสินใจเช่นนี้ ก็ได้แต่ภาวนาว่าขอให้พวกเขา ยังคงปลอดภัยอยู่จนถึงวันที่เขาจะเปลี่ยนการตัดสินใจหรือวันที่เขาได้รับอิสรภาพ ดังนั้นต้องเรียกร้องกันทั้งสองฝ่าย เมื่อตนเสนอให้ แกนนำเลิกอดอาหารไม่ได้ ตนก็จะลองเสนอให้ฝ่ายรัฐ ฝ่ายผู้มีอำนาจลองอดอาฆาตดูบ้าง "ผมเข้าใจดี และก็ยอมรับว่าอำนาจในการพิจารณาให้ประกันตัวเป็นอำนาจอิสระของศาล แต่จากประสบการณ์ตรงของผม ซึ่งติดคุกมาแล้วถึง 3 ครั้งจากการต่อสู้ทางการเมือง ผมพบว่าท่าทีของรัฐบาล ก็มีความสำคัญไม่น้อยเหมือนกันต่อการพิจารณาคำร้องขอประกันตัว" นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า จากประสบการณ์ตรงเมื่อปี 2553 ตนถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันแรกที่ยุติการชุมนุม หลังจากนั้นถูกส่งเข้าเรือนจำ ตนและพรรคพวกยื่นประกัน รวม 20 ครั้งและก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว  จำนวนครั้งอาจจะคลาดเคลื่อน แต่จำได้ว่ามันมากมากจน ครอบครัวที่อยู่ข้างนอกแทบจะไม่เหลือความหวัง นอกจากนั้นในระหว่างทางยังมีกรณีเฉพาะซึ่ง ส่วนตัวพวกเราในเรือนจำก็อธิบายยาก แต่มีรูปธรรมที่พอจะเล่าให้กันฟังได้ ว่านายวีระ มุสิกพงศ์ ซึ่งเป็นประธานนปช. เวลานั้น ได้รับการประกันตัวออกไปก่อน ตั้งแต่ช่วงเข้าเดือนที่ 2 ของการถูกจองจำ เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น โดยมีการไต่สวนคำร้องขอประกันตัวของนายวีระ ซึ่งถ้าตนจำไม่ผิดมี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเวลานั้น ขึ้นให้การในการไต่สวนด้วย "แน่นอนว่าคำให้การของคุณกอร์ปศักดิ์ ย่อมเป็นประโยชน์ ในที่สุด คุณวีระได้รับการประกันตัว พวกผมก็เกิดคำถามกันขึ้นมาว่า เมื่อคุณวีระซึ่งเป็นประธาน หมายความว่าเป็นเบอร์ 1 ในเวลานั้น พวกผมซึ่งเป็นแกนนำลำดับถัดๆกันมา ทำไมถึงไม่ได้รับการประกันตัว" นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า หลังจากนั้นประมาณ 6-7 เดือน เรายื่นคำร้องขอประกันตัวเป็นระยะๆจนในที่สุด ศาลก็มีคำสั่งเบิกตัว ตนในฐานะตัวแทนจำเลยทั้งหมดขึ้นไต่สวนคำร้องขอประกันตัว ในเวลานั้นมีพยานปากสำคัญ เช่น พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ศาสตราจารย์พิเศษ คณิต ณ นคร ประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป) ซึ่งแต่งโตั้งโดยรัฐบาลขณะนั้น ขึ้นให้การด้วย "ยืนยันว่าสิ่งที่ผมกำลังพูด ไม่ได้พาดพิงบุคคลอื่นให้เสียหาย มันจะเป็นโอกาสและเป็นประโยชน์กับน้องๆที่อยู่ภายในเรือนจำ" นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ในที่สุดพวกเรา 8 คน ได้รับการประกันตัวพร้อมกันจากการไต่สวนคำร้องคำนั้น ตนจึงเรียนว่าตนเคารพในเขตอำนาจ เคารพในดุลพินิจของศาล แต่ประสบการณ์บอกตนว่าท่าทีของรัฐ ของผู้มีอำนาจ ตนเข้าใจว่ามีผล และมีนัยยะสำคัญสำหรับการพิจารณาคำร้องขอประกันตัว ดังนั้นก็ฝากผู้มีอำนาจได้พิจารณาสิ่งเหล่านี้ด้วย