เมื่อวันที่ 23 เม.ย.64 ที่โรงเรียนศึกษา พิเศษเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต.บุดี อ.เมือง จ.ยะลา นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย นายสงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา นายเกษมสุข พสุนธราธรรม ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ จ.ยะลา เข้าตรวจดูความพร้อมของสถานที่ เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งภายหลังจากที่ จ.ยะลา ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งได้มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 แบ่งการระบาดออกเป็น 3 ระลอกด้วยกัน โดยระลอกใหม่ (เดือนมกราคม - มีนาคม 2564) เป็นการระบาดที่มีสาเหตุสำคัญจากแรงงานต่างด้าว จังหวัดยะลาจึงได้มีการสำรวจและคัดกรองกลุ่มแรงงานต่างด้าว และเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของ ศบค. และในระลอกเมษายน 2564 เป็นการระบาดที่เกิดขึ้นภายในประเทศ โดยปัจจุบัน (23 เมษายน 2564) จังหวัดยะลามีผู้ป่วยยืนยัน 23 คน ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลภายในจังหวัดยะลา มาตรการสำคัญในระลอกนี้ จึงเป็นการเฝ้าระวัง และคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยง (ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 18 จังหวัด ตามประกาศ ศบค. และผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จังหวัดยะลาขึ้น ณ โรงเรียนศึกษาพิเศษ เขตพัฒนาพิเศษเขตเฉพาะกิจ จังหวัดยะลา โดยความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง (ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 จังหวัดยะลา ที่ 16/2564 ลงวันที่ 19 เมษายน 2564) เพื่อรองรับการดูแลรักษา และเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมาก เกินศักยภาพของโรงพยาบาล ตลอดจนลดผลกระทบของผู้ป่วยอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการในโรงพยาบาล
ทั้งนี้ ศักยภาพโรงพยาบาลสนามโรงพยาบาลสนาม ณ โรงเรียนศึกษาพิเศษ เขตพัฒนาพิเศษเขตเฉพาะกิจ จังหวัดยะลาจังหวัดยะลา เป็น 1 ใน 2 แห่ง (โรงพยาบาลสนามอำเภอเบตง) โดยใช้อาคารของโรงเรียนศึกษาพิเศษ ที่เป็นอาคาร 3 ชั้น โดยชั้นที่ 1 (ผู้ป่วยชาย) และ 2 (ผู้ป่วยหญิง) รองรับผู้ป่วยได้ ชั้นละ 62 เตียง (รวม 124 เตียง) และชั้นที่ 3 เป็นสำนักงาน และที่พักของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย ในระยะแรกการให้เปิดให้บริการจะเปิดให้บริการ 1 อาคาร และสามารถเปิดเพิ่มได้สูงสุด 3 อาคาร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 372 เตียง การให้บริการของโรงพยาบาลสนามจะให้บริการในผู้ป่วยติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีอาการไม่รุนแรง ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีอาการรุนแรงจะได้รับการดูแลในโรงพยาบาลยะลา ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้ 32 เตียง
ด้าน นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์ สสจ.ยะลา กล่าวว่า ในส่วนของภารกิจการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของโรงพยาบาลสนาม ได้มีทีมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจิตอาสา จำนวน 7 ทีม จากแต่ละโรงพยาบาลมาปฏิบัติงานผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดูแลผู้ป่วย ในขณะที่การรักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาลสนามได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้การดูแลความปลอดภัยในโรงพยาบาลดังกล่าว/.
วีระยุทธ/ยะลา/23/4/64