สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ ครูบาศรีวิชัย อมตเถราจารย์ชื่อดังอันดับหนึ่งแห่งเมืองล้านนา แม้ว่าท่านจะละสังขารไปนานแล้ว แต่ความเชื่อความศรัทธาในบารมีความศักดิ์สิทธิ์ ยังคงอยู่ในความรู้สึกของพุทธศาสนิกช นและประชาชนทั่วไปไม่เสื่อมคลาย ครูบาเจ้าศรีวิชัย เกิดเมื่อวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2421 ปีขาล ที่บ้านปาง เมืองลี้ ปัจจุบันอยู่ในเขต ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน บิดาชื่อ นายควาย และมารดาชื่อ นางอุสา ต้นตระกูลเป็นหมอคล้องช้าง ของ เจ้าหลวงดาราดิเรกฤทธิ์ไพโรจน์ (เจ้าดาวเรือง) เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 7 เป็นช่วงปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 5 เล่ากันว่า ขณะถือกำเนิดนั้นได้เกิดปาฏิหาริย์ มีฟ้าร้องคำรามจนสะเทือน จึงได้ชื่อว่า ฟ้าร้อง หรือ ฟ้าฮ้อง อายุ 18 ปี ได้บวชเป็นสามเณร ต่อมาอายุครบ 22 ปี จึงอุปสมบท ณ วัดบ้านโฮ่งหลวง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน โดยมี ครูบาสมณะ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายา ‘สิริวิชโยภิกขุ’ หรือ ‘พระสีวิไช’ ศึกษาเล่าเรียนวิชาธรรม แต่ท่านกลับสนใจทางวิชาไสยศาสตร์ คาถาอาคม โหราศาสตร์ แพทย์แผนโบราณ การก่อสร้าง และวิชาป้องกันตัวต่างๆ มากเป็นพิเศษ ต่อเมื่อได้เดินทางสู่สำนักวัดดอยแต ซึ่งเป็นสำนักสงฆ์สายอรัญญวาสี เพื่อศึกษากับ ครูบาอุปละ จึงเป็นจุดพลิกผันต่อวิถีชีวิตของพระศรีวิชัย ให้กลับมามุ่งเน้นความรู้ด้านการปฏิบัติธรรมและการบำเพ็ญสมาธิภาวนา ใต้ร่มเงาแห่งพระบวรพุทธศาสนาอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา หลังจากนั้นจึงกลับสู่บ้านปาง ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส สืบต่อจากครูบาแค่งแคระ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ท่านครูบาได้สร้างวัดและบูรณะวัดต่างๆ ในภาคเหนือมากมาย นับเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ของท่าน ที่พุทธศาสนิกชนต่างเคารพเทิดทูน และศรัทธาเลื่อมใสท่านอย่างกว้างขวาง อีกประการที่ทำให้ท่านเป็นที่รู้จัก และอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือ การเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง 5 เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐเลย ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2481 วัตถุมงคลครูบาศรีวิชัยนั้น จัดสร้างขึ้นหลังจากที่ท่านมรณภาพ แต่ก็ล้วนมีราคาค่านิยมแทบทั้งสิ้น สำหรับ ‘เหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง ปี 2517’ นับเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ณ ปัจจุบัน การจัดสร้าง “เหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง ปี 2517” นี้ มี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล เป็นประธาน คุณนิตย์ พงษ์ลัดดา เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง แกะแม่พิมพ์ โดยช่างฝีมือในยุคนั้น คือ ช่างยิ้ม ยอดเมือง ประกอบพิธีพุทธาภิเษกในวันที่ 24 ตุลาคม 2517 ที่วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน โดยท่านเจ้าคุณพระเทพสารเวที เจ้าคณะภาคเหนือธรรมยุต เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพระเถราจารย์ผู้ร่วมพิธีพุทธาภิเษกล้วนเป็นพระอริยสงฆ์ดังแห่งเมืองเหนือทั้งสิ้น มีอาทิ ครูบาพรหมจักร วัดพระพุทธบาทตากผ้า, ครูบาอินทจักร์ วัดน้ำบ่อหลวง, ครูบาคำแสน คุณาลังกาโร วัดป่าดอนมูล, ครูบาชุ่ม โพธิโก วัดวังมุย, หลวงพ่อสิม พุทธาจาโร วัดสันติธรรม, ครูบาชัยวงศ์ษา วัดพระบาทห้วยต้ม, ครูบาทึม วัดจามเทวี และ ครูบาสิงห์ชัย วัดป่าซางงาม เป็นต้น ตลอดการประกอบพิธีพุทธาภิเษกนั้น ได้เกิดเหตุอัศจรรย์มีเสียงฟ้าร้องคำราม พร้อมปรากฏการณ์พระจันทร์ทรงกลดทั่วบริเวณงานพิธี เหรียญครูบาศรีวิชัย บ้านปาง ปี 2517 เศียรหนาม (พิมพ์นิยม) เนื้อทองแดง เหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง ปี 2517 จัดสร้างเป็นเนื้อทองคำ จำนวน 9 เหรียญ เนื้อเงิน 579 เหรียญ เนื้อนวโลหะ 3,559 เหรียญ และเนื้อทองแดง 5,625 เหรียญ นอกจากนี้ยังมี ล็อกเก็ตลงหิน อีก 227 อัน เหรียญทองคำ ไม่มีหู และไม่มีการตอกโค้ด เหรียญเงินก็ไม่มีหู แต่มีการตอกโค้ตตัว "ศ" และ "ช" เช่นเดียวกับล็อกเก็ต ส่วนเหรียญนวโลหะตอกตัว "ศ" และเหรียญทองแดงตอกตัว "จ" เหรียญรุ่นนี้มี 2 บล็อค คือ พิมพ์เศียรหนามและพิมพ์เศียรโล้น เนื่องจากพอปั๊มเหรียญใกล้ครบ บล็อคแม่พิมพ์เกิดชำรุดจึงได้นำเหรียญพิมพ์เศียรหนามมาถอดพิมพ์และปั๊มขึ้นใหม่ เป็น ‘พิมพ์เศียรโล้น’ จนครบตามจำนวนที่กำหนด ทำให้พิมพ์เศียรหนามจะมีจำนวนการสร้างมากกว่า โดย เหรียญทองคำ และเหรียญเงิน เป็นพิมพ์เศียรหนามทั้งหมด ส่วนเหรียญนวโลหะและทองแดง มี 2 บล็อค สำหรับในวงการ ‘พิมพ์เศียรหนาม’ ได้รับความนิยมมากกว่า ‘พิมพ์เศียรโล้น’ เหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง ปี 2517 แรงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีถึงปลายปี 55 แบบม้วนเดียวจบ เนื้อทองแดงอยู่ที่ 4,000 เนื้อนวโลหะ 25,000 เนื้อเงิน 80,000 แถมช่วงปลายปียังขยับขึ้นอีกเป็นเท่าตัว นับเป็นเหรียญครูบารุ่นหลังที่นิยมสุดๆ และ เชื่อว่าในปี 56 กระแสความนิยมน่าจะยังแรงดีอยู่ครับผม เหรียญครูบาศรีวิชัย บ้านปาง ปี 2517 เหรียญครูบาศรีวิชัย บ้านปาง ปี 2517 เหรียญครูบาศรีวิชัย บ้านปาง ปี 2517