ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต [email protected] “หากเป็นไปได้ ชีวิตของมนุษย์เราก็ย่อมต้องการการดำรงอยู่อย่างเป็นเสรี โลดแล่นไปตามมิติแห่งโลกกว้างของจินตนาการ ใฝ่ฝันถึงห้วงเวลาที่เป็นหนึ่งกับหัวใจตนเองโดยไม่มีสิ่งใดมาปิดกั้นและบังคับให้ท่าทีของความรู้สึกหยุดเคลื่อนไหว ทุกอย่างควรจะสามารถดำเนินต่อไปเบื้องหน้าด้วยเหตุผลที่เป็นการตามใจตนเองได้บ้าง เพื่อนัยของความเป็นอิสระที่จะทำให้ชีวิตบรรลุถึงแก่นสารของความมีชีวิตชีวาได้อย่างง่ายงาม ภาวการณ์ดังกล่าวนี้เปรียบดั่งบทนำในชีวิตของมนุษย์ทุกคน ที่จะต้องร้องขอแก่ตัวเอง ให้โอกาสและเวลาอันเป็นสุขแก่ชีวิตตนเองอย่างจริงจังแท้จริงบ้าง เพื่อจิตวิญญาณจะได้ขยายทิศทางของการอยู่ร่วมกันระหว่างโลกกับชีวิตได้อย่างมีสัมพันธภาพและสีสันอันงดงามซึ่งจะต่อเนื่องเป็นความทรงจำที่ฝังจำตลอดไป” นี่คือบทเริ่มต้นที่ถือเป็นดั่ง “ฉันทะแห่งชีวิต” ในหนังสือเล่มใหม่ของ ‘กวีซีไรต์’ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ที่สื่อรูปลักษณ์ออกมาด้วยสีสันขาวดำสำหรับรูปเล่ม พร้อมรูปวาดลายเส้นที่ถูกวาดแต่งออกมาด้วยอารมณ์ที่เคลื่อนไหว เบิกบานเป็นส่วนประกอบสำคัญ ‘ฉันกับแมว’ เป็นความเรียงในอารมณ์ร่วมแห่งกวีนิพนธ์ ที่ห่มคลุมด้วยสาระเนื้อหาด้วยลีลาของปรัชญาแห่งสัจจะอันเรียบง่ายและแฝงเร้นอยู่ในมิติคิดของสัญชาตญาณ เรื่องราวทั้งหมดดำเนินไปผ่านการโลดแล่นของแมวน้อยผู้พลัดหลงจากครอบครัวของตัวเองและได้มาอยู่ร่วมภายใต้การเลี้ยงดูของมนุษย์ที่มีภูมิหลังอยู่กับการพลัดห่างจากครอบครัว ต่างฝ่ายต่างมาพบกัน ณ จุดจุดหนึ่ง อันอาจเป็นได้ทั้งจุดเริ่มต้นของความผูกพัน และจุดศูนย์รวมอันเป็นที่แห่งทางของการโอบกอดเพื่อความอบอุ่นในเบื้องลึกของชีวิต ไม่ว่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิ่งใดก็ตาม ว่ากันว่าแมวเป็นสัตว์โลกที่รักความเป็นสันโดษและเสรี เยี่ยงดั่งกวีที่เป็นมนุษย์ ผู้มีทั้งความคิด จิตใจ และอารมณ์ แมวเป็นสัตว์ที่มนุษย์จะเอาใจมันได้ยากที่สุด ขณะที่มันเคล้าเคลียอย่างอ่อนโยนและชิดใกล้ ก็ไม่ได้หมายถึงว่าหัวใจของมันจะสยบอยู่กับที่ จนลืมนึกถึงอิสรภาพที่จะเหยาะย่างไปบนทางสายเล็กๆ ด้วยฝีเท้ารอยเล็กๆ และด้วยความปราดเปรียวที่เหนือความคาดหมาย การได้มีชีวิตร่วมอยู่กับแมวอย่างลึกซึ้ง จะทำให้มนุษย์ได้ค้นพบว่า คุณค่าของชีวิตอยู่ที่การเฝ้าสังเกต เหยาะย่างและก้าวไปให้พ้นจากความเคยชินอย่างมั่นใจ เพื่อที่จะกลับมาตั้งต้นใหม่ดุจความฝันที่มักจะหวนคืนกลับมาสู่การรังสรรค์ใหม่ ในห้วงแห่งมโนสำนึกเสมอ ณ ที่นี้ เรวัตร์ ได้ถ่ายทอดวิถีทางทัศนคติที่มีต่อโลกทัศน์และชีวทัศน์ดังกล่าวนี้ ผ่านบทสนทนากับแมวน้อยที่ชื่อว่า ‘ดอกไร่’ ร้อยเรียงความคิดแห่งปฏิกิริยา ทั้งประสบการณ์ภายนอกและภายในที่เต็มไปด้วยความหมายแห่งสำนึกคิดและความรู้สึก ที่กลับกลายเป็นปรัชญาที่เต็มไปด้วยเจตจำนงของการ ‘รู้ตัวทั่วพร้อมแห่งมโนสำนึก’ ‘ฉันฝันว่าฉันกลายเป็นแมว แมวสีเทาพเนจรเงียบเหงา ลอบติดตามฝูงผีเสื้อสีขาวไปสุดขอบฟ้า ด้วยหวังว่าจะได้พบกับแม่น้ำที่สาบสูญ ในท่ามกลางอารยธรรมล่มสลาย’ บริบทแห่งสังคมอันเป็นภาพแสดงถึงบรรยากาศของความเปลี่ยวร้างและน่าผิดหวังดังกล่าว ถือเป็นแรงผลักดัน ให้มุมมองของมนุษย์ที่ดำรงอยู่ในแก่นแท้ของความเป็นชีวิตได้ประจักษ์ถึงบางสิ่งบางอย่างที่ล้ำลึกแห่งศรัทธาของโลก ที่บ่งชี้ถึงว่าหลายๆ ขณะตัวตนของตนเองกำลังดิ้นรนอยู่กับความขื่นขมแห่งโชคชะตาอันผุกร่อน...และถูกกัดกินอยู่อย่างโหยกระหายซ้ำแล้วซ้ำเล่า “ฉันอาศัยหลับฝันอยู่ในตักของพระพุทธรูปเก่ากร่อน โลกมีเพียงเสียงกระแสลมทะเลทราย ร้องร่ำคร่ำครวญ คนสวนตายจากไปสิ้นแล้ว ฉันกลายเป็นแมวหินบนกองซากปรักหักพังของยุคสมัย ส่งเสียงร้องเปลี่ยวเหงาเศร้าใจ หลงทางอยู่ในเขาวงกตความใฝ่ฝัน...ไม่รู้จบ” แน่นอนว่า...ไม่ใครก็ใคร ณ ยามนี้อาจมีทั้งตัวตนและจิตวิญญาณหลงทางอยู่ในวังวนของโชคชะตาที่ไม่รู้จบ วังวนแห่งความมืดมิดที่ยากจะหาทางหลุดพ้นทั้งด้วยความเข้าใจและไม่เข้าใจ “ดอกไร่...เป็นลูกแมวไทยพื้นถิ่น เพศผู้ ตัวลายสีส้มสลับขาว มันพลัดหลงมาสู่กระท่อมสวนในยามค่ำคืน ขณะผองกวีนั่งดื่มกินกันอยู่ที่ชานกระท่อม เสียงร้องของมันช่างหวาดสะทก ราวกับเด็กน้อยผู้กำลังหลงทางอยู่ในโลกไพศาลอันมืดมิด...กวีเพื่อนร่วมวงผู้หนึ่งตั้งชื่อให้เจ้าลูกปีศาจว่า ‘ดอกไร่’ คืนนั้นผองกวีต่างหวนรำลึกไปยังชีวิตในหนหลังของแต่ละคน เสียงลูกแมวร่ำร้องอยู่ในจิตวิญญาณ น้ำค้างหยาดชุ่มชานกระท่อมและดาวน้อยดวงนั้นเคลื่อนโคจรไปกระซิบที่ปลายฟ้า ดอกไร่นอนหลับใหลอยู่ในกองผ้านุ่มนวลอบอุ่นแทนอ้อมอกของแม่” การปรากฏตัวของแมวน้อย สร้างฐานของความเป็นเครื่องเตือนใจ สร้างสถานะของการเดินย้อนลึกลงไปในเงื่อนปมของอดีต มันคือสิ่งที่เป็นพันธนาการที่ซ่อนเร้นอยู่กับมนุษย์ทุกคน สุดแต่ว่าจะมีสิ่งใดมาสะกิดแผลที่เก็บซ่อนอยู่ในหัวใจเหล่านั้น ให้ปะทุขึ้นมาสู่สำนึกรับรู้ในเชิงประสบการณ์ที่ควรมีควรเป็นอีกครั้ง เรวัตร์ ใช้ ‘ดอกไร่’ เป็นสื่อกลางของการตั้งคำถามในเชิงที่ใคร่ครวญ ‘ดอกไร่’ เป็นเสมือนเพื่อนร่วมชีวิตที่แม้จะแตกต่างแต่ก็ย่อมมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นปรากฏการณ์ของการตีความ อะไรจะเป็นอะไรนั้นมันเป็นเรื่องที่ยากจะอธิบาย แม้สิ่งที่เห็นจะเป็นรอยยิ้มที่เปิดกว้างและจริงใจสักเพียงใดก็ตาม ในเดือนห้าของทุกปี ชายชราที่อาศัยอยู่บนภูเขาทางทิศเหนือโน้นจะมาปรากฏกายที่ลานกระท่อมแห่งนี้พร้อมกับขวดบรรจุน้ำผึ้งป่า เขาบรรจุขวดเหล่านั้นลงในกล่องกระดาษสองกล่อง พร้อมผูกเชือกแน่นหนาสำหรับสอดคานหาบ เขานั่งยองอยู่กับพื้น ยิ้มอย่างคนอยู่เบื้องสูง ครั้งหนึ่งฉันเคย เอ่ยถามชายชราว่าเขาเคยถูกฝูงผึ้งป่ารุมต่อยเอาบ้างไหม ขณะปีนป่ายขึ้นไปตามลูกทอยแต่ละลูก มุ่งสู่รวงรังที่ห้อยอยู่บนยอดไม้สูงลิบ ชายชราหัวเราะดังลั่นราวกับอีกาใจดี เขายิ่งถูกผึ้งต่อยมากเท่าไหร่ น้ำผึ้งก็ยิ่งหวานหอมขึ้นมากเท่านั้น...นี่คือการตอกย้ำในวิถีแห่งการเรียนรู้ ชีวิตแท้จริงมีอะไรให้ต้องใคร่ครวญและเรียนรู้จากผัสสะของโอกาสไปเรื่อยๆ... “ดอกไร่ แกรู้ไหมว่าน้ำผึ้งของชายชราเมื่อใช้ชงกับกาแฟ...มันทำให้โมงยามขณะนั้นช่างแสนวิเศษ” บทสนทนาแห่งชีวิตที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากห้วงคิดของมนุษย์ผู้หนึ่ง ต่อสัตว์เลี้ยงที่อยู่เคียงข้างประหนึ่งคำรำพันที่สื่อสัมพันธ์กันด้วยหัวใจต่อหัวใจ ในที่ที่เปล่าเปลี่ยวและลึกเร้น ใช่ว่าจะหนีภาพแสดงอันเป็นบริบทแห่งคำถามของโลกไปได้พ้น...เพียงขอให้เราใส่ใจด้วยปฏิกิริยาของการรับรู้ เรียนรู้ และรู้สึก คำถามจากนัยภายในก็จะมีผลต่อความเป็นไปภายนอกได้อย่างเข้มข้นและเป็นอัศจรรย์... ‘เรวัตร์’ ยังคงใช้สวนแห่งชีวิตเป็นฉากของภาพแสดงทางความรู้สึก นับวันสวนของเขาก็นับจะมีพืชพันธุ์ทางจิตวิญญาณเติบโตขึ้นจนยากจะควบคุมและแยกแยะ แต่ในฐานะคนสวนที่ดูแล ‘ฉากแห่งชีวิต’ ดังกล่าวนี้ เขาเหมือนจะได้พบว่า พืชพันธุ์ในความแตกต่างนั้น ก็เป็นเสมือนดอกไร่ที่บ้างก็งดงามสดชื่น บ้างก็หม่นหมองมืดดำดุจภูตผี แต่ทั้งหมดก็ขยายกล้าพันธุ์ของตัวเองให้เติบใหญ่ขึ้นมาบนโลกนี้ท่ามกลางความเป็นอิสระที่ไร้การควบคุม….ในฐานะของมนุษย์ บนวิถีแห่งการแสวงหาหลักแท้ของการดำเนินชีวิต ตลอดจนประกายตาของการเฝ้าสังเกตภาวะรอบข้าง จะทำให้เราได้เห็นผลรวมแห่งผลลัพธ์ของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นด้วยดวงตาที่ซ่อนอยู่ในหลืบลึกของหัวใจ และถูกถ่ายทอดออกมาด้วยสายตาอันบริสุทธิ์ เป็นผลกระทบแห่งอารมณ์ร่วมที่ไม่สามารถจะมองข้ามผ่านไปได้... “ทุกค่ำคืนฉันได้ยินเสียงร่ำร้องของภูตผี เหล่าผีพลัดถิ่นจากประเทศสงคราม หลบเร้นข้ามพรมแดนเข้ามายังประเทศของเพื่อนบ้าน กลายเป็นพลเมืองชั้นสามชั้นสี่ ดอกไร่...ถึงที่สุดแล้วมนุษย์ก็ยังแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา หมู่เหล่า พวกเขาคือแรงงานราคาถูก กรรมกรก่อสร้าง คนงานในไร่ในสวน แออัดยัดทะนานอยู่บนรถบรรทุกคันแล้วคันเล่า ราวกับการขนย้ายวัวควายเข้าสู่โรงฆ่า นับครั้งไม่ถ้วนที่ฉันมักได้ยินข่าวคราวความตาย รถบรรทุกเหล่าคนงานแหกโค้งบนแนวภูเขา เจ็บตายจำนวนมาก... ดอกไร่...ทุกๆค่ำคืนฉันได้ยินเสียงร่ำร้องของเหล่าภูตผี ในขณะที่แกติดตามแสงจันทร์หายเข้าไปในสวน ความรู้สึกหวาดไหวทำให้ฉันนอนไม่หลับ ทำได้เพียงนั่งสูบยาอยู่ที่โต๊ะเขียนหนังสือ เสียงร่ำไห้เหล่านั้นยิ่งดังมากขึ้นทุกคืน ดอกไร่...ในโลกของพวกแก พรมแดนคืออะไรกันนะ” เรวัตร์ใช้วิธีการตั้งคำถามอันแยบยลนี้ ผ่านนัยแห่งการนำเสนอประเด็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคมได้อย่างแยบยล มันเป็นวิธีเขียนที่ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยปอกเปลือกแห่งความเป็นจริงของความรู้สึกจริงเพื่อให้ผู้อ่านได้ค่อยๆ ซึมลึกเข้าสู่กระบวนการของการหยั่งคิด ตัวละครสำคัญอันเป็นตัวกลางแห่งการเชื่อมโยงเปลี่ยนผ่านอย่างเจ้าแมวน้อย ‘ดอกไร่’ จึงคล้ายดั่งเพื่อนร่วมโลกในประเภทของผู้ชอบเฝ้าสังเกตการณ์ที่เงียบงันและยากจะคาดเดาถึงการตีความ ชีวิต ณ วันนี้ก็เป็นเช่นกัน แต่ละส่วนล้วนประสานกันด้วยข้อแตกต่าง ซึ่งนี่คือโจทย์ข้อสำคัญในการให้ความหมายของภาวะแห่งการสำรวจโลกให้ค้นพบนิยามแห่งการเป็นคำตอบที่แท้ คำตอบที่จะแผ่พลังออกไปสู่ภาพแสดงที่แท้จริงมากขึ้นเรื่อยๆ “ดอกไร่เป็นเด็กน้อยซุกซนขี้สงสัย มันเที่ยวสำรวจตรวจตราไปในสวนที่รายล้อมกระท่อม แผ่พลังของชีวิตกว้างออกไปเรื่อยๆ เสียงร้องของมันนั้นสดใสราวกับหยาดน้ำค้างยามเช้า มันเที่ยวปีนป่ายต้นไม้ สูดดมพุ่มหญ้าทุกพุ่มกอ หมอบจ้องมองเหล่านก หางอันปัดส่ายของมันกำลังส่งภาษาบางอย่างที่ฉันไม่เข้าใจ มีหลายสิ่งหลายประการเหลือเกินที่ฉันไม่เข้าใจและไม่อาจเข้าใจ...” ท่าทีของแมวน้อย ‘ดอกไร่’นับเป็นลักษณะของผู้เรียนรู้ที่พร้อมจะเผชิญกับโจทย์ปัญหาที่อยู่เบื้องหน้า โจทย์ปัญหาที่ทั้งสดับและมองเห็น บางทีการที่มนุษย์ได้มีโอกาสติดตามและใคร่ครวญอยู่กับพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็นของสัตว์ที่เป็นเสรี อย่างใกล้ชิด จะทำให้เราปลดปล่อยความคิดของเราออกมาอย่างเป็นเสรีและเข้าใจได้ว่า มนุษย์ไม่ควรเป็นสัตว์โลกที่ควรหยุดนิ่งอยู่กับที่ ขณะที่โลกต่างเคลื่อนไหว ไปบนวิถีแห่งความมีความเป็นอันไม่หยุดยั้ง “ในยามบ่ายวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม ยังไม่ทันที่ฉันจะสำเหนียกถึงสรรพสิ่ง จู่ๆ ลมพายุก็โหมกระหน่ำผ่านสวนท่ามกลางเสียงหวีดร้องของมวลหมู่ไม้ ต้นหญ้า ฝูงนก เหล่าใบไม้ที่ถูกปลิดปลิวว่อนในท้องฟ้า ดูราวกับฝูงผีเสื้อนับหมื่นนับแสนกำลังจะกระพือปีกโบกบินพร้อมๆ กัน...เจ้าดอกไร่มีท่าทีตื่นตระหนกและฉงนฉงาย ขนของมันฟูฟ่องไปทั้งตัว หูตั้งและหางตกลู่ เตรียมพร้อมที่จะกระโจนหายไปสู่ซอกมุมต่างๆในกระท่อม ในท่ามกลางกระแสลมอันรุนแรงเชี่ยวกราก ฉันได้ยินเสียงหวีดร้องของเหล่าต้นไม้ใบหญ้า ฉันได้เห็นต้นไม้โอบกอดกันและกัน อย่างหวาดสะทก ระเนน ... เช่นกัน ดอกไร่...เหล่ามนุษย์มักจะรอให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นเสียก่อน เมื่อนั้นพวกเขาจึงจะโอบกอดกันและกัน” ‘ฉันกับแมว’ ดำเนินเรื่องราวด้วยความเรียงในลักษณะที่เป็นข้อสังเกตอันเป็นปริศนาที่ชวนขบคิดเช่นนี้ต่อเนื่องไปจำนวน 52 บท สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ สัญญะแห่งการเป็นชีวิต ด้วยลีลาของความเป็นกวีนิพนธ์ในตัวตนที่หยั่งลึก (Poetical Life) หลายๆ ขณะ หลายๆ บทตอน คือข้อสงสัยอันไม่มีคำตอบในตัวเอง (Mystic) แต่ในอีกบางส่วนกลับเป็นวิถีแห่งความอับตันในการหาข้อเฉลย เพื่อความเข้าใจ (Enigma) แต่เรวัตร์ นำเสนอความหมายผ่านโจทย์ในแง่มุมต่างๆ เหล่านี้ด้วยท่าทีที่ระมัดระวัง ด้วยสายตา ที่เพ่งมองในรายละเอียด ด้วยน้ำคำที่เกิดจากความประจักษ์แจ้ง บางทีหัวใจของมนุษย์ก็ปิดบังอำพรางตัวตนจนเกินไป ไม่กล้าขยายขอบเขตของการรับรู้และยอมพลัดหลงอยู่กับความมืดบอดในโชคชะตาของตัวเอง ซึ่งนัยเปรียบเทียบตรงส่วนนี้ ถูกเชื่อมโยงให้ได้ตระหนัก ผ่านแมวตัวน้อย ผู้พลัดหลงแต่กลับหลุดพ้นจากสัญชาตญาณที่อ่อนแอไปด้วยจิตวิญญาณเสรีแห่งตน...เรวัตร์ ได้ตอกย้ำสำนึกของผู้อ่านด้วยการบอกกล่าวถึงความขยายกว้างทางทัศนคติ ไม่ว่าชีวิตจะตกอยู่ในห้วงเหวแห่งชะตากรรมใดก็ตาม “ผืนแผ่นดินไม่ใช่ของใคร และไม่มีใครมีสิทธิ์ครอบครอง นอกจากความรักอันแผ่ไพศาลของแสงแดด ความชุ่มเย็นของกระแสธารหลากไหล เสียงขับขานบทเพลงของเหล่าสกุณา การกลับคืนอ้อมอกแม่ของเหล่าใบไม้ร่วง และต้นไม้ชรา” การครอบคลุมวิถีแห่งธรรมชาติให้บังเกิดเป็นสาระโดยองค์รวมทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้ ก่อเกิดเป็นวิถีอันอ่อนโยนที่เรียบง่าย แต่แฝงเร้นในบริบทที่งดงามของการเรียนรู้ ดูเหมือนว่า ‘เรวัตร์’ จะปล่อยให้การรังสรรค์หนังสือเล่มนี้ เป็นไปในหนทางแห่งการปล่อยวางแต่ก็เต็มไปด้วยความหมาย ภาพลายเส้นที่ตวัดออกมาเป็นภาพวาดด้วยความรู้สึกแห่งอาการที่เป็นไปของแมว ‘ดอกไร่’ ดูมีพลังต่อการสัมผัสที่โปร่งโล่งสงบสงัดในลีลาเคลื่อนไหว แต่ก็เข้าใจได้ถึงพลังแห่งอารมณ์ในทุกสิ่งที่แสดงออกมา การเล่นแสงเงา ‘ขาวกับดำ’ เป็นแกนหลักของหนังสือเล่มนี้ สื่อแสดงถึงรูปลักษณ์ที่ชวนคิดคำนึงถึง ‘วิถีแห่งเต๋า’ และ ‘ท่วงท่าแห่งเซ็น’…เราต่างอยู่บนพื้นฐานของความมืดและความสว่าง การจัดวางชีวิตของเราแต่ละคนขึ้นอยู่กับด้านสองด้านนี้ ในความเข้าใจอันจริงแท้ของเราเป็นสำคัญ สำหรับความเป็นศิลปะนี่คืองานทางความคิด ที่สื่อผ่านออกมาด้วยจิตใจและอารมณ์ของผู้สร้างสรรค์ที่เลือกสรร... “ดอกไร่ ฉันไม่รู้หรอกว่าประเทศของเรามีนายกรัฐมนตรีมาแล้วกี่คน และฉันก็คงฝันหวานเกินไปเพราะนายกรัฐมนตรีผู้นี้ (หรือผู้ไหน) ได้ตราหน้าประชาชนที่คิดต่างไปจากเขาว่าคนเหล่านั้นล้วนเป็นศัตรู ดูสิ...ดูเงาร่างของนายกรัฐมนตรีผู้กำลังอุ้มแมว ดูราวกับคนผู้ถูกแขวนคอไว้กับกิ่งไม้ ดอกไร่...แกควรจะดีใจหรือเสียใจกันแน่นะ” ‘เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์’ ยังคงสร้างผลงานของเขาด้วยความตั้งใจ เพียงแต่ว่าการเล่นกับท่าทีของความคิดได้อย่างจับใจนั้นเป็นเรื่องยากของการตกผลึก เป็นเรื่องลำบากที่มันจะแทรกลึกลงไปในผลึกแก้วแห่งกระจกเงา (Crystal Mirror) อันงดงามในชีวิตแต่ละชีวิต ภาษาแห่งความคิดใน ‘นกชีวิต’ ผลงานรวมเล่มก่อนหน้านี้ของเขาดูจะหยั่งรากลึกในความเข้าใจและจับใจในผัสสะที่เป็นผัสสะได้มากกว่า...บางขณะอาจรู้สึกได้ว่า ‘แมวน้อย...ดอกไร่’ คืออุปสรรคในเชิงตัวละครที่เป็นสื่อกลางทางความคิดที่ทำผู้เขียนในฐานะมนุษย์ต้องพะวักพะวงทั้งโครงสร้างทางศิลปะและแนวทางในการเขียนที่คลี่คลายและลงตัวอย่างถึงที่สุดในมิติของการรับรู้และรู้สึก บทตอนแห่ง ‘สนธยาในรุ่งอรุณ’… ‘มาตุคาม’… ‘ปีนดาดฟ้า’… ‘ความเศร้าแสนงาม’ ตลอดจน ‘บางสิ่งบางอย่างในความหลงลืม’ คือนัยตัวอย่างแห่งสิ่งที่มีค่าที่น่าจดจำในหนังสือเล่มนี้ เป็นความงามที่งดงามได้ ด้วยภาพสะท้อนแห่งหัวใจที่ไหลหลั่งออกมาจากแรงกระทบภายในที่จริงใจและจริงจังเพียงเท่านั้น “หลายๆ ครั้งเมื่อตื่นขึ้นมาในซ่องสกปรก ฉันพบตนเองกำลังโอบกอดหญิงสาวแปลกหน้า แต่โอบกอดนั้นกลับอบอุ่นและปลอบประโลมชีวิตที่เด็ดเดี่ยวและสับสนของกันและกันและแม่ลูกพลัดถิ่นคู่นั้น...ทำให้ฉันปรารถนาอยากโอบกอดใครสักคนและถูกโอบกอดจากใครสักคน ให้หัวใจสองดวงได้แนบชิดกัน ได้กระซิบจำนรรจาต่อกัน ... เหมือนที่ฉันกอดแกอยู่นี่ไงล่ะ...ดอกไร่”